วันนี้ (15 มิถุนายน) จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (รองผู้ว่าฯ กทม.) ให้สัมภาษณ์รายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ดำเนินรายการโดย ดนัย เอกมหาสวัสดิ์ และ อมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ เผยแพร่ทางช่อง 9 MCOT HD
กรณีความคืบหน้าการจัดทำร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ก่อนนำเสนอร่างงบรายจ่ายประจำปีต่อสภากรุงเทพมหานคร ซึ่งตั้งไว้ 79,000 ล้านบาท โดยงบส่วนใหญ่ถูกผูกพันไว้กับโครงการเก่าๆ ที่เซ็นสัญญาไว้แล้วในยุค พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. คนที่แล้ว เหลืองบให้ผู้ว่าฯ ปัจจุบันใช้ลงทุนเพียง 1,600 ล้านบาท
ผู้ดำเนินรายการถามถึงงบประมาณรายจ่ายปี 2566 ของ กทม. งบลงทุนส่วนใหญ่เป็นงบผูกพันกับโครงการเก่าๆ โครงการเหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นโครงการด้านไหน
จักกพันธุ์กล่าวว่า ยกตัวอย่างเช่น โครงการเกี่ยวกับเรื่องการกำจัดขยะซึ่งมีประมาณ 6-7 โครงการ ความจริงผูกพันมานานเกือบ 10 ปี เนื่องจากแต่ละโครงการ 20-30 ปีเป็นต้นไป
ขณะเดียวกันงบประมาณที่เอาไปใช้แต่ละปีมีเป็นจำนวนมาก เพราะขยะแต่ละวันประมาณ 9,000 ตัน แต่อย่างไรก็ดีเนื่องจากเข้ามาแล้ว ข้อบัญญัตินี้อาจดำเนินการจบไปแล้วจนกระทั่งถึงขั้นตอนที่จะนำเสนอสภากรุงเทพมหานคร ข้อเท็จจริงหลังจากที่มีการพิจารณาวาระแรกไปแล้ว เมื่อถึงวาระ 2-3 ตั้งกรรมการวิสามัญ จะมีการแปรญัตติ เราก็สามารถที่จะไปพูดคุยในขั้นกรรมการวิสามัญต่อได้
นอกจากโครงการกำจัดขยะ ก็มีโครงการผูกพันงบด้านการก่อสร้างถนนสายยาวๆ หรือการก่อสร้างเขื่อน อุโมงค์ ซึ่งโครงการเหล่านี้เป็นโครงการที่ต้องใช้เวลานาน งบประมาณเยอะ บางโครงการมีสัดส่วนเงินอุดหนุน บางโครงการพอก่อสร้างไปแล้วอาจจะติดปัญหาอุปสรรค ทำให้ต้องมีการยืดระยะเวลาการก่อสร้างออกไป
ผู้ดำเนินรายการถามว่า งบที่ใช้ลงทุนได้ในปีงบประมาณ 2566 เหลือแค่ 1,695 ล้านบาทเท่านั้นใช่หรือไม่
จักกพันธ์ุกล่าวว่า งบลงทุนที่จะทำโครงการใหม่ๆ ตอนนี้มีไม่เยอะ ประมาณไม่เกิน 10% แต่อย่างที่เรียนแล้วว่า การพิจารณาต่อไปในอนาคตในวาระ 2-3 ก็อาจจะมีการพิจารณาว่า รายการไหนหรือโครงการไหนที่เราสามารถตัดงบมาได้ เพื่อจะมาลงโครงการใหม่ ก็สามารถเป็นไปได้ ต้องคุยในขั้นตอนคณะกรรมการวิสามัญ
ผู้ดำเนินรายการถามว่า จะได้แค่ไหน ในเมื่อเป็นงบผูกพันที่ต้องจ่ายตามสัญญาที่ทำก่อนหน้านี้
จักกพันธุ์กล่าวว่า งบผูกพันบางรายการหรือบางโครงการ ถ้าประเมินแล้วอาจจะใช้เงินไม่เป็นไปตามเป้า เช่น กรณีโครงการนั้นก่อสร้างไปแล้ว ปรากฏว่าอาจเกิดปัญหาทำให้งานไม่เสร็จตามระยะเวลาปี 2566 ก็อาจจะตัดเงินส่วนหนึ่งออกมาได้ สามารถนำมาใช้ในงบลงทุนหรือโครงการใหม่ได้
ผู้ดำเนินรายการถามว่า การโยกเงินจากการแปรญัตติวาระ 2-3 คาดว่าจะได้เงินถึงหมื่นล้านบาทหรือไม่
จักกพันธุ์กล่าวว่า ไม่แน่ใจ แต่อาจจะเป็นไปได้ เพราะเนื่องจากว่าโครงการต่อเนื่องบางโครงการ อาจจะประเมินแล้วในปีนี้ขอตั้งงบมา 5,000 อาจจะใช้จริง 1,000 เพราะฉะนั้นอีก 4,000 เราก็สามารถแปรมาหรือโยกมาได้ มีโครงการเป็นร้อยโครงการ
“จริงๆ โครงการหรือนโยบายของท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ หลายๆ โครงการอาจไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณ แล้วบางโครงการที่ผ่านมาก็จะมีภาคเอกชนเข้ามาช่วยดำเนินการ และในขณะเดียวกัน ปีงบประมาณ 2565 เราก็ยังมีงบกลางบางส่วนซึ่งพอจะใช้ได้อยู่เพื่อให้โครงการสามารถขับเคลื่อนไปได้ เพราะฉะนั้นมั่นใจว่าถึงแม้งบประมาณจะมีไม่มากนัก แต่ความพยายามของท่านผู้ว่าฯ หรือความตั้งใจของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ความตั้งใจของบุคลากรกรุงเทพมหานคร ก็มั่นใจว่าสามารถดำเนินการให้โครงการหรือนโยบายเคลื่อนไปได้” จักกพันธุ์กล่าว
ผู้ดำเนินรายการถามต่อไปว่า มีบางโครงการไม่ค่อยตอบโจทย์ เช่น อุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำ มีโอกาสที่จะไปเบรกหรือชะลอบางโครงการหรือไม่
จักกพันธุ์กล่าวว่า ถ้าโครงการไหนก่อหนี้ผูกพันก่อสร้างไปแล้วก็ต้องเป็นไปตามนั้น เนื่องจากสัญญาเกิดขึ้นแล้ว เซ็นสัญญาไปแล้วทำอะไรไม่ได้ แต่ที่อยู่ระหว่างประมูลพอจะดึงได้ เช่น โครงการจัดซื้อรถน้ำหลายร้อยหรือหลายพันล้านบาท ซื้อหลายคัน กำลังดูความจำเป็นว่ามีความจำเป็นมากน้อยขนาดไหน อาจจะซื้อจำนวนน้อยลง เพื่อให้เราสามารถกระจายการใช้เงินให้ครอบคลุมได้มากที่สุด ส่วนอุโมงค์ยักษ์เป็นโครงการที่มีสัดส่วนเงินอุดหนุนกับสัดส่วนของ กทม. เป็นโครงการที่เซ็นสัญญาไปแล้ว