งานล้อธรรม นิทรรศการศิลปะการ์ตูน 72 ปี อรุณ วัชระสวัสดิ์ ที่สวนโมกข์กรุงเทพ สวนรถไฟ จตุจักร ในช่วงครึ่งเช้า มีการเปิดวงสนทนาในหัวข้อ ‘คำถามร่วมสมัยกับพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล’ โดยมี หนุ่มเมืองจันท์-สรกล อดุลยานนท์, ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา และเคน-นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าว THE STANDARD ร่วมพูดคุย
พระอาจารย์ไพศาล ฝากธรรมถึงประยุทธ์-ธนาธร
หนุ่มเมืองจันท์เริ่มต้นคำถามในการพูดคุยด้วยเรื่องการเมือง โดยตั้งคำถามกับพระอาจารย์ไพศาลว่า ถ้าพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มานั่งที่นี่ แล้วอยากจะขอธรรมะจากพระอาจารย์สักเรื่องหนึ่ง อยากจะให้อะไรบ้าง
พระอาจารย์ไพศาลออกตัวว่าไม่ค่อยได้คุยกับผู้มีอำนาจและไม่มีความสามารถพอ แต่หากได้สนทนากับพลเอก ประยุทธ์ อาตมาอยากให้ท่านมีโอกาสรับฟังความเห็นที่หลากหลายและเปิดใจให้กว้าง เพราะทุกวันนี้ผู้คนมีความอดทนอดกลั้นต่อความเห็นที่แตกต่างกันน้อยลง รวมทั้งอดทนต่อความต่างในมิติต่างๆ กันน้อยลง ทำให้เรามองไม่เห็นและไม่รู้จักคนที่เห็นต่างจากเรา อาจจะเริ่มจากพูดให้น้อยลง ฟังให้มากขึ้น ปัจจุบันอย่าว่าแต่พลเอก ประยุทธ์ เลย แต่ทุกคนฟังแต่สิ่งที่ตรงใจเรา ตรงกับความคิดเราเท่านั้น โซเชียลมีเดียนี่ล่ะมีผลสำคัญ เพราะเราเลือกแต่สิ่งที่ตรงกับอคติของเรา เราจึงไม่สามารถรับฟังความเห็นที่ต่าง เราอยู่กับการโฆษณาชวนเชื่อตนเอง เราไม่ได้ฟังเสียงที่แตกต่างจากเสียงเรา
“ขนาดคนธรรมดายังอยากได้เห็นได้ยินแต่สิ่งที่สอดคล้องกับตนเอง นับประสาอะไรกับผู้มีอำนาจ แต่ถ้าผู้มีอำนาจได้รับฟังคนที่เห็นต่างจากตัวเองก็จะทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของสังคมการเมืองที่มีความแตกต่างหลากหลายที่มากขึ้น
“มันควรจะมีกลไกที่ทำให้เราต้องฟังในสิ่งที่เราไม่ต้องการได้ยิน กระบวนการประชาธิปไตยมีกลไกเหล่านี้ หากมันเวิร์กก็จะทำให้ผู้มีอำนาจได้รับฟังเสียงที่แตกต่าง แม้จะมีสิ่งที่แฝงเร้น แต่อย่างน้อยมันคือการเปิดให้ได้รับฟัง สื่อมวลชนก็ควรทำหน้าที่เหล่านี้เพื่อเป็นเสียงต่างให้ผู้มีอำนาจได้ยิน”
เคน นครินทร์ บรรณาธิการบริหาร THE STANDARD ตั้งข้อสังเกตว่าเด็กรุ่นใหม่มักจะหัวร้อนและรุนแรงในการคอมเมนต์ โดยเฉพาะแฟนคลับพรรคอนาคตใหม่ที่มักจะมาคอมเมนต์ในเพจของ THE STANDARD มีอะไรอยากบอกธนาธรหรือแฟนคลับพรรคอนาคตใหม่หรือไม่
พระอาจารย์ไพศาลกล่าวว่าคนรุ่นใหม่เองก็ตกอยู่ใต้สภาพเดียวกับคนรุ่นเก่า คือมองเห็นโลกด้านเดียวหรือรับฟังด้านเดียว และเอาสิ่งที่ฟังไปยืนยันความถูกต้องของตัวเองด้านเดียว แล้วนำไปดิสเครดิตอีกฝ่ายว่าแย่ เป็นปีศาจ เป็นตัวร้าย ปฏิกิริยาที่รุนแรงไม่ได้แสดงออกเฉพาะคนที่เห็นต่างทางการเมือง มันมีอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกีฬาหรือสิ่งแวดล้อม
การเปิดใจรับฟังความเห็นที่แตกต่าง การรับฟังแหล่งข้อมูลที่ไม่คุ้นเคย ไม่ตรงกับใจตัวเป็นสิ่งจำเป็น ไม่ใช่รับเฉพาะสื่อที่ถูกใจเราอย่างเดียว แต่ต้องมีความกล้าที่จะรับฟังแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่ไม่ตรงใจเราหรือที่เรารู้สึกลบ ไม่เช่นนั้นเราก็จะตกอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่าการโฆษณาฝังหัวตัวเอง พระพุทธเจ้าเคยสอนไว้แล้วอย่าเชื่อเพียงเพราะได้ฟังมา อย่าเชื่อเพียงเพราะเป็นครูอาจารย์ของเรา
“ความยึดติดถือมั่นในความดีทำให้เราฆ่ากันได้” พระไพศาล วิสาโล
ช่วงหนึ่ง พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต ถอดบทเรียนกรณีเหตุการณ์ทางการเมืองเมื่อครั้งที่เคยเข้าร่วมในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ว่าความยึดมั่นถือมั่นในความดีของแต่ละฝ่ายทำให้คนสามารถฆ่ากันได้ เราพบว่าวันนั้นมีการรุมทำร้ายนักศึกษาจนเสียชีวิต ด้วยการอ้างเจตนาดีของตนเองว่าเป็นไปเพื่อการปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ นี่คือเจตนาดีที่เขาทำเพื่อปกป้องสิ่งที่เขาเชื่อ
“เราสามารถฆ่ากันได้ในนามของความดีและอุดมการณ์” พระอาจารย์ไพศาลสรุปด้วยถ้อยคำนี้จากบทเรียนในสมัยที่ท่านเคยร่วมอยู่ในเหตุการณ์ ในอดีตเราเคยเห็นประวัติศาสตร์ที่เกิดการฆ่ากันจนล้มตายจากความยึดมั่นในพระเจ้า การต้องการสถาปนาความยิ่งใหญ่ของศาสนา มีการก่อการร้ายที่กระทำในนามศาสนาและพระเจ้า
พระอาจารย์ไพศาลกล่าวอีกว่าเจตนาดีเหล่านั้นกลับถูกใช้เพื่อเป็นข้ออ้างที่จะทำร้ายกัน ฆ่ากัน แต่เราไม่ได้ใช้การทำดีเพื่อรักกัน ยิ่งศาสนาพุทธที่สอนให้เราต้องมีเมตตาต่อกัน ยิ่งทำให้เราต้องหันมามองสิ่งเหล่านี้
“พระอาจารย์เฟื่อง โชติโก เคยกล่าวไว้ว่าความเห็นของเราแม้จะถูก แต่ถ้ายึดไว้มันอาจจะผิด” เพราะวันหนึ่งเราอาจเห็นคนที่คิดต่างเป็นศัตรู นี่หมายความว่าถ้าเรายึดติดกับความคิดเราที่คิดว่าถูก มันอาจจะกลายเป็นสิ่งผิดก็ได้ และวันหนึ่งก็จะนำพาเราไปสู่การทำร้ายกันในนามของความถูกต้อง” พระอาจารย์ไพศาลกล่าวสรุปส่งท้าย
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์