×

นักสะสมไม่ซื้อของแพง สาเหตุใหญ่ทำให้การใช้จ่ายในตลาดงานศิลปะลดลง 32%

17.11.2024
  • LOADING...
นักสะสม

ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาตลาดของสะสมค่อนข้างซบเซา ไม่เว้นตลาดงานศิลปะที่เคยทำกำไรได้สูงที่สุดในหมวดหมู่ของสะสมเมื่อปีที่แล้วก็ทำท่าไม่ค่อยดี ตามรายงานของ Art Basel และ UBS Survey of Global Collecting ซึ่งเจาะลึกพฤติกรรมการซื้อของเหล่าผู้มีรายได้สูง (HNWIs) มากกว่า 3,600 รายในตลาดหลัก 14 แห่ง เผยว่า ช่วงปี 2023 ถึงครึ่งแรกของปี 2024 มีการลดการใช้จ่ายลดลง ซึ่งสวนทางกับแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

 

จากรายงานมีการใช้จ่ายโดยเฉลี่ยลดลง 32% เหลือเพียง 363,905 ดอลลาร์ หรือราว 12.6 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากการซื้อที่ลดลงของเหล่าอภิมหาเศรษฐีที่ลงทุนในงานศิลปะระดับท็อป โดยคาดว่าผลงานศิลปะร่วมสมัยที่เคยได้รับความนิยมช่วงก่อนหน้านี้กำลังจะมีราคาลดลงและยากจะฟื้นตัว

 

เมื่อมองที่ยอดขายในช่วง 6 เดือนแรกในปีนี้ของบริษัทการประมูลยักษ์ใหญ่ทั้ง Christie’s, Sotheby’s, Phillips และ Bonhams ก็ลดลง 26%จากปี 2023 และลดลงถึง 36% จากจุดสูงสุดในปี 2021 ส่วนนักสะสมที่วางแผนจะซื้องานศิลปะในปีหน้าก็ลดลงเหลือ 43% จาก 50% จากปีที่แล้ว ในขณะเดียวกันมีผู้วางแผนจะขายเพิ่มขึ้นเป็น 55% ซึ่งหมายความว่าจะมีแนวโน้มมีผู้ขายมากกว่าผู้ซื้อในตลาด

 

ปัจจัยหลักของความผันผวนครั้งนี้มาจากความกังวลด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะในตะวันออกกลางและยูเครน รวมถึงความอ่อนแอทางเศรษฐกิจในยุโรปและจีนที่เข้ามาบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้ซื้อ

 

ก่อนหน้านี้กลุ่มนักสะสมยุคมิลเลนเนียลคือกำลังสำคัญของตลาดซื้อขายงานศิลปะ โดยเฉพาะในกลุ่มบนสุดของตลาด แต่เมื่อปีที่แล้วคนกลุ่มนี้ลดการใช้จ่ายลงกว่า 50 % จึงทำให้ตลาดโดยรวมในปี 2023 ดูเหมือนจะลดลงอย่างมาก ในทางกลับกันกลุ่มนักสะสม Gen X มีการเติบโตต่ำกว่าที่ 3% แต่มั่นคงกว่าเมื่อเทียบเป็นรายปี โดยการใช้จ่ายเฉลี่ยสูงสุดในปีเมื่อปีที่แล้วอยู่ที่ 578,000 ดอลลาร์ หรือราว 20 ล้านบาท อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าเหล่าคนรวยจะซื้องานศิลปะน้อยลง แต่พวกเขาแค่ซื้องานศิลปะที่มีราคาถูกลงเท่านั้น

 

จากการสำรวจพบว่า การใช้จ่ายด้านศิลปะของนักสะสมยังคงทรงตัวที่ประมาณ 50,000 ดอลลาร์ต่อปี และกว่า 3ใน 4 ซื้อภาพวาดทั้งในปี 2023 และครึ่งแรกของปี 2024

 

ตลาดงานศิลปะกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเมื่อนักสะสมรุ่นเก่ากำลังลดขนาดคอลเล็กชันของตัวเองลง โดยเลือกขายผลงานจากคอลเล็กชันล่างสุด หมายถึงผลงานชิ้นไม่เด่นหรือไม่มีนัยสำคัญออกไป และเก็บแค่ชิ้นเด็ดๆ ไว้แทนที่จะรอเก็งกำไรเหมือนในอดีต

 

ขณะที่นักสะสมรุ่นใหม่ในกลุ่ม Gen X และมิลเลนเนียลก็กำลังกว้านซื้อผลงานที่ทันสมัยและราคาไม่แพงจากแกลเลอรีและงานแสดงศิลปะต่างๆ ด้วยมุมมองที่ว่า พวกเขาไม่จำเป็นต้องซื้องานที่แพงที่สุดด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณ ซึ่งตอนนี้ผลงานแนวอิมเพรสชันนิสม์ระดับไฮเอนด์หรือผลงานที่มีราคาตั้งแต่ 10 ล้านดอลลาร์ขึ้นไปซึ่งเคยเป็นที่ต้องการมากที่สุดก่อนปี 2022 กลายเป็นตลาดที่อ่อนแอที่สุด แต่ผลงานราคาต่ำกว่า 7 แสนดอลลาร์ หรือแม้แต่ต่ำกว่า 1 หมื่นดอลลาร์กลับเป็นที่ต้องการมากขึ้น

 

ส่วนใหญ่นักสะสมที่อยู่ในตลาดมานานกว่า 20 ปีจะมีผลงานเฉลี่ย 110 ชิ้น โดยมักขาย ส่งต่อให้กับครอบครัว หรือมอบให้กับพิพิธภัณฑ์หรือองค์กรไม่แสวงผลกำไร ขณะที่นักสะสม Gen Z อยู่ที่ 33 ชิ้นและค่าเฉลี่ยของนักสะสมทั่วไปที่ประมาณ 44 ชิ้น

 

สำหรับบทบาทของศิลปะในฐานะ ‘สินทรัพย์’ รายงานระบุว่า พอร์ตงานศิลปะโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 15% ในปีนี้ลดลงจาก 22% จากเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเกิดขึ้นในทุกกลุ่มของนักสะสมที่ร่ำรวยทั้งในกลุ่มมหาเศรษฐีที่มีทรัพย์สิน 50 ล้านดอลลาร์ขึ้นไปลดลงจาก 29% เหลือ 25% ในปีนี้ ส่วนนักสะสมที่มีทรัพย์สินต่ำกว่า 5 ล้านดอลลาร์ก็อยู่ที่ประมาณ 12% ส่วนหนึ่งมาจากมูลค่าที่เพิ่มขึ้นของหุ้นและสินทรัพย์อื่นๆ จึงโยกเงินไปลงทุนและชะลอการซื้องานศิลปะลง

 

อย่างไรก็ตาม นักสะสมส่วนใหญ่ถึง 91% ยังมองว่าตลาดศิลปะในอีก 6 เดือนข้างหน้าจะยังคงไปได้ดีซึ่งมากกว่าตลาดหุ้นที่ 88%

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising