×

ตลาดสะสมศิลปะก็โดนด้วย เมื่อมหาเศรษฐีเริ่มคิดหนักก่อนซื้องานศิลปะ

16.12.2023
  • LOADING...
ตลาดสะสมศิลปะ

ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ทั้งอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ทำให้ตลาดของสะสมประเภทต่างๆ ได้รับผลกระทบแทบทุกประเภท ไม่เว้นแม้แต่แวดวงงานศิลปะ ที่ปัจจุบันมหาเศรษฐีตัดสินใจซื้อกันยากขึ้น จนยอดขายของบริษัทการประมูลใหญ่ๆ อย่าง Christie’s, Sotheby’s และ Phillips ลดลง 18% เหลือ 5.8 พันล้านดอลลาร์ในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ก็ยังสูงกว่าตัวเลขการประมูลงานศิลปะช่วงครึ่งแรกของปี 2019 ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด 

 

การชะลอตัวของตลาดศิลปะเริ่มส่อเค้าเมื่อฤดูกาลประมูลช่วงกลางปี บริษัทประมูลมียอดขายงานศิลปะรวมกันมากกว่า 1.7 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่าไม่น้อย (Christie’s: 922 ล้านดอลลาร์, Phillips: 108 ล้านดอลลาร์ และ Sotheby’s: 716 ดอลลาร์) แต่ต่ำกว่ายอดรวมของปีที่แล้วที่ 2.5 พันล้านดอลลาร์

 

นอกจากนี้ การประมูลคอลเล็กชันส่วนตัวของนักสะสมชื่อดังก็ทำรายได้ไม่เข้าเป้า อย่างเช่น คอลเล็กชันของโปรดิวเซอร์เพลงผู้ล่วงลับ Mo Ostin ที่คาดกันว่าจะทำรายได้ประมาณ 375-534 ล้านดอลลาร์ แต่กลับมีมูลค่ารวม 363 ล้านดอลลาร์ เมื่อรวมกับค่าธรรมเนียมก็มียอดรวมอยู่ที่ 426.8 ล้านดอลลาร์ ในทำนองเดียวกันคอลเล็กชันของนักลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ Gerald Fineberg ที่ประมาณการว่าจะมีมูลค่าประมาณ 163 ล้านดอลลาร์ และจบลงด้วยมูลค่ารวมที่ 124.7 ล้านดอลลาร์ เท่านั้น 

 

หรืออย่างประติมากรรมของ Jeff Koons ก็ขายได้ในราคาต่ำกว่า 2 ล้านดอลลาร์ ซึ่งต่ำกว่าราคาประเมินที่ 3-5 ล้านดอลลาร์ หรือภาพวาดของศิลปินชื่อดัง Christopher Wool ที่คาดว่าจะมีราคา 15-20 ล้านดอลลาร์ แต่ขายได้เพียง 10 ล้านดอลลาร์ 

 

แต่สิ่งที่ชัดเจนยิ่งกว่าคือ การถอนล็อตก่อนการประมูลที่มักเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าไม่มีความสนใจ หรือถ้ามีก็อาจไม่สู้ราคาขั้นต่ำของผู้ขาย ซึ่งกลับส่งผลดีกับผู้ซื้อบางส่วน ที่เห็นว่าการชะลอตัวที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดการต่อรองได้มากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวครั้งนี้ไม่ใช่การปรับฐานทั้งตลาด สะท้อนจากบริษัทการประมูล Bonhams รายงานผลประกอบการครึ่งปีแรกที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์เกือบ 250 ปี อยู่ที่ 552 ล้านดอลลาร์ และผลงานของศิลปินชื่อดังหลายคนอย่าง Van Gogh และ Gauguin ไปจนถึงศิลปินร่วมสมัยบางส่วน ยังคงทำราคาได้สูงในการประมูล และทำสถิติใหม่ๆ เช่น ผลงาน Spider (1996) ของ Louise Bourgeois ขายได้ในราคา 32.8 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นราคาสูงสุดในการประมูลผลงานของประติมากรหญิงเมื่อเดือนพฤษภาคม รวมทั้งแนวโน้มตลาดกำลังดีขึ้นในช่วงปลายปี อย่างเช่นการประมูล Christie’s 20th Century Evening Sale ที่นิวยอร์กเมื่อต้นเดือนธันวาคม ก็ทำรายได้ไปถึง 640.8 ล้านดอลลาร์ ถือว่ามากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2017 และยังสร้างสถิติราคาใหม่ให้กับศิลปินอีก 6 คน ซึ่งคาดว่าตลาดน่าจะฟื้นตัวในปี 2024 ที่จะถึงนี้ 

 

สถิติราคาใหม่ของศิลปินจากการประมูล 

 

ตลาดสะสมศิลปะ

 

Recollections of a Visit to Leningrad (1965) ของ Richard Diebenkorn ราคาประมาณ 1.62 พันล้านบาท 

ผลงานชิ้นเอกของ Richard Diebenkorn ศิลปินแนวอิมเพรสชันนิสม์ ที่ได้แรงบันดาลใจจากการไปเยือนสหภาพโซเวียตตามโครงการแลกเปลี่ยนศิลปินในสมัยประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี โดยภาพนี้ราคาได้สูงสุดเป็นอันดับที่ 3 ของการประมูล และเป็นภาพที่ทำราคาได้สูงที่สุดจากการประมูลของศิลปินด้วย  

 

 

Untitled (1952) ของ Joan Mitchell ราคาประมาณ 1.01 พันล้านบาท  

Untitled ของ Joan Mitchell ทำราคาไปได้ถึง 29 ล้านดอลลาร์ หรือราวๆ 1.01 พันล้านบาท จนเป็นหนึ่งในการประมูลที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์สำหรับศิลปินหญิง และเป็นสถิติใหม่ของผลงานจากศิลปินคนนี้ด้วย Joan Mitchell เป็นศิลปินหญิงแนว Abstract Expressionism ยุคบุกเบิก โดยภาพนี้เต็มไปด้วยเฉดสีหลากหลาย แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในเรื่องสีของศิลปิน และความกล้าหาญในการใช้พู่กัน

 

 

Charred Beloved I (1946) ของ Arshile Gorky ราคาประมาณ 822 ล้านบาท 

Arshile Gorky เป็นศิลปินชาวอาร์เมเนียที่มาใช้ชีวิตในอเมริกา โดยเบื้องหลังภาพนี้เกิดจากเหตุการณ์ไฟไหม้สตูดิโอของเขา จนทำให้ภาพเขียนกว่า 20 ภาพที่ใช้เวลาวาดถึง 3 ปี รวมทั้งทรัพย์สินต่างๆ ถูกทำลายไป ทำให้ต้องไปใช้สตูดิโอใหม่ในนิวยอร์กซิตี้ กลายเป็นจุดเริ่มต้นการสร้างผลงานอันเป็นเอกลักษณ์ของเขา Arshile Gorky ได้รับการยอมรับว่าเป็นศิลปินเซอร์เรียลิสม์คนสุดท้ายผู้ปูทางไปสู่รูปแบบศิลปะแบบใหม่ของอเมริกา

 

 

The Family of Man: Ancestor II (1974) ของ Barbara Hepworth ราคาประมาณ 407 ล้านบาท 

งานประติมากรรมของศิลปินหญิง Barbara Hepworth ทำราคาได้มากกว่าที่ประมาณการเอาไว้ถึง 2 เท่า แนวคิดของประติมากรรมชิ้นนี้เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ทำให้เธอตระหนักถึงความสำคัญของครอบครัว ซึ่งเป็นพื้นฐานในการฟื้นฟูมนุษยชาติ จึงสร้างรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีรูปแบบแตกต่างกัน เพื่อเป็นตัวแทนช่วงต่างๆ ของชีวิต ตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษไปจนถึงเด็กแรกเกิด 

 

 

The Musicians (1979) ของ Fernando Botero ราคาประมาณ 175 ล้านบาท 

ภาพของกลุ่มนักดนตรีใบหน้าเคร่งขรึมและนิ่งสงบ แต่กลับทำให้คนที่ได้ดูอารมณ์ดี นี่คืออารมณ์ขันอันร้ายกาจของ Fernando Botero ศิลปินชาวโคลอมเบียผู้เชี่ยวชาญในการแสดงความรักสนุกของชนชั้นกระฎุมพี จนเป็นเครื่องหมายการค้าของเขา โดยภาพนี้ทำราคาไปได้สูงถึง 5 ล้านดอลลาร์ หรือราวๆ 175 ล้านบาท จนทำสถิติเป็นภาพราคาสูงที่สุดของศิลปินด้วย

 

ตลาดสะสมศิลปะ

 

The Stripper (1973) ของ Joan Snyder ราคาประมาณ 16.8 ล้านบาท 

Joan Snyder เป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งขบวนการศิลปะสตรีนิยม โดยผลงานชิ้นนี้เป็นแบบอย่างของการใช้สี และความผูกพันกับตารางที่เป็นสัญลักษณ์ของศิลปิน โดดเด่นด้วยการใช้แถบผ้าใบทาสีหลายเฉด ทั้งสีโคบอลต์ สีแดงเข้ม สีเหลือง และสีดำเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างเอฟเฟกต์คล้ายภาพคอลลาจ 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising