×

The Secret (Sauce) of Corners ลูกเตะมุมแบบอาร์เซนอล อาวุธไม่ลับที่ไม่มีใครหยุดได้

06.12.2024
  • LOADING...
The Secret (Sauce) of Corners ลูกเตะมุมแบบอาร์เซนอล อาวุธไม่ลับ

HIGHLIGHTS

4 MINS READ
  • อาร์เซนอลใช้การเตะมุมแบบ ‘โค้งเข้าหาประตู’ (Inswing) เป็นหลัก โดยเลือกการเตะแบบโค้งเข้าคิดเป็น 94% และเตะแบบโค้งออก (Outswing) แค่ 4%
  • ฝั่งซ้ายเตะโค้งเข้ามาโดย ดีแคลน ไรซ์ ส่วนฝั่งขวาเป็นงานของ บูกาโย ซากา ซึ่งวิธีการเตะของทั้งคู่เรียกว่าการเปิดโค้งแบบ ‘Whip’ ซึ่งจะเป็นการเปิดบอลโค้งที่หนักและรวดเร็วเหมือนการหวดแส้ด้วยความเร็วและความโค้ง ทำให้เป็นเรื่องยากที่ผู้เล่นเกมรับจะรับมือได้ง่ายๆ
  • สิ่งสุดท้ายที่ทำให้ไม่มีใครหาวิธีหยุดลูกเตะมุมของอาร์เซนอลแบบจังๆ ได้จนถึงตอนนี้คือ การที่แต่ละทีมหวาดกลัวลูกเตะมุมของพวกเขา ระดับกลัวเข้าสมองไปแล้ว

ถึงแม้ว่าจะไม่มี กาเบรียล มากัลเญส เจ้าเวหาคนสำคัญลงสนามเนื่องจากอาการบาดเจ็บ แต่ดูเหมือนจะไม่ใช่ปัญหาสำหรับอาร์เซนอลสักเท่าไร

 

เพราะในเกมกับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด พวกเขาก็ยังทำประตูจากลูกเตะมุมได้อีกอยู่ดี และไม่ใช่แค่ประตูเดียวด้วยเพราะได้ถึง 2 ประตูด้วยกัน

2 ประตูนี้ทำให้ตอนนี้ทีมของ มิเกล อาร์เตตา ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘เจ้าแห่งลูกเตะมุม’ เพราะเป็นประตูที่ 22 แล้วที่ทำได้นับจากในฤดูกาลที่แล้ว

คำถามที่น่าสนใจคือทำไมถึงไม่มีใครหยุดลูกเตะมุมที่เหมือนขีปนาวุธนี้ได้สักที?

 

ย้อนกลับไปในเกมที่เอมิเรตส์สเตเดียมเมื่อคืนวันพุธที่ผ่านมา (4 ธันวาคม) – ซึ่งเป็นเกมที่ 500 แล้วของสนามฟุตบอลแห่งนี้นับตั้งแต่เปิดใช้งานเมื่อปี 2006 – อาร์เซนอลเจองานที่ไม่ง่ายนักในการรับมือกับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ช่วยกันต้านทานสุดกำลังได้จนจบครึ่งแรก

 

เพียงแต่ในช่วงครึ่งหลังกำแพงผีแดงก็แตกพ่ายจนได้ในนาทีที่ 53 เมื่อเจอทีเด็ดของกันเนอร์สเข้าอย่างจัง

 

ลูกเตะมุมแบบอาร์เซนอล

 

ทีเด็ดที่กลายเป็นของขึ้นชื่อของอาร์เซนอลไปแล้วในเวลานี้คือ ‘ลูกเตะมุม’ (Corner Kick) ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในอาวุธหนักที่ใช้เล่นงานคู่แข่งได้ผลเสมอ ด้วยความแม่นยำสูงที่เหมือนกับจรวดขีปนาวุธพิสัยไกล เล็งเป้าหมายไปตรงไหนก็พินาศตรงนั้น

ลูกเตะมุมทางฝั่งซ้ายของ ดีแคลน ไรซ์ ลูกนี้เปิดเข้าไปที่เสาใกล้และเป็น เยอร์เรียน ทิมเบอร์ ที่ขึ้นโขกเช็ดเข้าไปเป็นประตูขึ้นนำ 1-0 ที่ รูเบน อโมริม นายใหญ่ปีศาจแดงบ่นอุบว่าเป็น ‘ประตูปลิดชีพ’ ทีมของพวกเขา

 

เท่านั้นไม่พอ หลังจากนั้นอาร์เซนอลยังมาได้ประตูที่ 2 ของเกมจากลูกเตะมุมอีกเหมือนเดิม โดยคราวนี้สลับข้างเป็นการเตะมุมทางฝั่งขวาบ้าง และเป็นเจ้าประจำอย่าง บูกาโย ซากา ที่ซอยขายิกๆ ก่อนปั่นโค้งไปที่เสาไกล บอลเลยทุกคนไปหมดถึง โธมัส ปาร์เตย์ ที่มีเวลาและพื้นที่ในการเกร็งคอโหม่งย้อนกลับไปตรงกลางประตู แล้วบอลไปโดนหัวไหล่ของ วิลเลียม ซาลิบา เข้าไป

โดยข้างสนามอาร์เตตากับผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จที่น่าเหลือเชื่ออย่าง นิโคลัส โจเวอร์ โค้ชเซ็ตพีซของสโมสรที่เป็น Specialist ตัวจริงของวงการ ซึ่งย้ายจากแมนเชสเตอร์ ซิตี้ มาร่วมงานด้วยกันตั้งแต่ปี 2021 กระโดดกอดกันตัวกลม

พวกเขาทำสำเร็จอีกแล้ว!

 

ประตู (แบบเฮงๆ) ของซาลิบา เป็นประตูจากลูกเตะมุมที่ 48 ของอาร์เซนอลนับตั้งแต่โจเวอร์เข้ามาคุมทีม และเป็นประตูที่ 22 เฉพาะในพรีเมียร์ลีกนับจากฤดูกาลที่แล้ว (2023/24)

 

ทีมที่ได้ประตูจากลูกเตะมุมมากที่สุด

 

ข้อมูลสถิติที่น่าสนใจคือ

 

  • อาร์เซนอลใช้การเตะมุมแบบ ‘โค้งเข้าหาประตู’ (Inswing) เป็นหลัก โดยเลือกการเตะแบบโค้งเข้าคิดเป็น 94% และเตะแบบโค้งออก (Outswing) แค่ 4%
  • อาร์เซนอลแทบไม่ใช้ลูกเตะมุมสั้น (Short Corner) เลย โดยเล่นเตะมุมสั้นแค่ 5% เท่านั้น นอกนั้นเป็นการเตะมุมปกติ ซึ่งตัวเลขนี้ต่างจากทีมที่เน้นสไตล์การครองบอลใกล้เคียงกันอย่าง ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ (36.6%) และแมนเชสเตอร์ ซิตี้ (33.9%) ที่ชอบเล่นลูกเตะมุมสั้นเพราะเน้นการคอนโทรลเกม
  • อาร์เซนอลเป็นทีมที่อัดผู้เล่นเข้าในกรอบ 6 หลา (Six Yard Box) สูงที่สุดในพรีเมียร์ลีกเวลาได้ลูกเตะมุม เฉลี่ย 3.83 คนต่อครั้ง รองลงมาคือแอสตัน วิลลา (3.50) และบอร์นมัธ (3.48) ส่วนทีมที่มีผู้เล่นในกรอบ 6 หลาน้อยที่สุดคือฟูแลม (1.73)

 

สำหรับ 2 ประตูในเกมล่าสุดนี้ ทำให้เป็นเกมที่ 3 ติดต่อกันแล้วที่อาร์เซนอลได้ประตูจากลูกเตะมุมต่อจากเกมกับสปอร์ติง ลิสบอน ในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก และเกมกับเวสต์แฮม ยูไนเต็ด เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

แต่หัวใจสำคัญที่ทำให้อาร์เซนอลใช้ประโยชน์จากลูกเตะมุมได้ดีขนาดนี้มาจาก 3 สิ่งด้วยกัน

 

ภาพ: Arsenal TV

อาร์เซนอลอัดผู้เล่นเข้ากรอบ 6 หลาถึง 6 คน ในจังหวะได้ประตูขึ้นนำ 1-0 แต่ผู้เล่นแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 8 คนไม่รู้จะหาวิธีหยุดอย่างไร

 

  1. กลยุทธ์ (Strategy)

แท็กติกในการเล่นลูกเตะมุมของอาร์เซนอลนั้นเหมือนจะเดาได้ยาก แต่ความจริงแล้วไม่มีอะไรซับซ้อน พวกเขาใช้ผู้เล่นที่มีรูปร่างสูงใหญ่เข้าไปปะปนอยู่ในกรอบเขตโทษของคู่แข่ง

โดยก่อนที่จะเตะมุมเข้ามาไม่ว่าจะจากฝั่งไหน ก็จะมีการยืนออกันเป็นกลุ่มเพื่อสร้างความสับสนให้แก่แนวรับของคู่ต่อสู้ที่ไม่รู้ว่าจะไปประกบใครหรือหยุดใครตรงไหน และอีกส่วนจะเข้าไปปะปนอยู่ในกรอบ 6 หลาเพื่อกีดขวางทั้งผู้รักษาประตูและผู้เล่นคนอื่น

ทั้งหมดเพื่อเป้าหมายอย่างเดียวคือการเปิดทางสะดวกให้ผู้เล่นที่เก่งในการขึ้นโหม่งที่สุดของทีมอย่าง กาเบรียล มากัลเญส ซึ่งทำไป 5 ประตูจากจำนวน 22 ประตูที่ได้จากลูกเตะมุมทั้งหมดของอาร์เซนอลนับตั้งแต่ฤดูกาลที่แล้ว ซึ่งโขกพังประตูสำคัญได้ตลอด 

ผู้เล่นแต่ละคนจะรู้ ‘บท’ ของตัวเองว่าจะต้องทำอะไรในลูกสูตรเตะมุมแบบนี้ จะยืนตรงไหน จะสกรีนใครบ้าง เป็นการซักซ้อมอย่างดี

เรื่องนี้ถามว่าคู่ต่อสู้รู้ไหมว่าจะต้องเจอกับอะไร?

คำตอบคือทุกทีมรู้ แต่สิ่งที่พวกเขาไม่รู้คือวิธีการจะหยุดมัน

 

บรรยาย: จังหวะลูกเตะมุมของ บูกาโย ซากา จะมองเห็นว่า โธมัส ปาร์เตย์ ยืนอยู่คนเดียวโดยไม่มีใครประกบที่เสาไกล

จังหวะลูกเตะมุมของ บูกาโย ซากา จะมองเห็นว่า โธมัส ปาร์เตย์ ยืนอยู่คนเดียวโดยไม่มีใครประกบที่เสาไกล

 

  1. ความแม่นยำ (Precise)

สิ่งที่ทำให้ไม่มีใครหยุดลูกเตะมุมของอาร์เซนอลได้ ไม่ใช่แท็กติกการเข้าไปออกันในกรอบเขตโทษทีละเยอะๆ หรือการปั่นป่วนผู้รักษาประตูคู่แข่งเท่านั้น

หัวใจสำคัญของมันคือลูกเตะมุมที่แม่นยำ ซึ่งออกจากเท้าของ 2 ผู้เล่น

ฝั่งซ้ายเตะโค้งเข้ามาโดย ดีแคลน ไรซ์ ส่วนฝั่งขวาเป็นงานของ บูกาโย ซากา ซึ่งวิธีการเตะของทั้งคู่เรียกว่าการเปิดโค้งแบบ ‘Whip’ ซึ่งจะเป็นการเปิดบอลโค้งที่หนักและรวดเร็วเหมือนการหวดแส้ ด้วยความเร็วและความโค้งทำให้เป็นเรื่องยากที่ผู้เล่นเกมรับจะรับมือได้ง่ายๆ

แต่การจะเตะได้แม่นขนาดนี้ไม่ใช่นอนลืมตาตื่นขึ้นมาแล้วนึกจะทำก็ทำได้ มันต้องผ่านการฝึกซ้อมอย่างหนักหน่วงแน่นอน โดยเฉพาะผู้เล่นอย่างซากาที่เป็นปีกที่ครอสบอลในลักษณะนี้ได้อันตรายที่สุดในเวลานี้

นั่นทำให้ถึงไม่มีกาเบรียลในเกมล่าสุด พวกเขาก็ยังได้ประตูจากลูกเตะมุมอยู่ดี เพราะสิ่งสำคัญไม่ใช่ ‘คน’ แต่เป็น ‘วิธี’

 

  1. ความหวาดกลัว (Fear)

สิ่งสุดท้ายที่ทำให้ไม่มีใครหาวิธีหยุดลูกเตะมุมของอาร์เซนอลแบบจังๆ ได้จนถึงตอนนี้คือ การที่แต่ละทีมหวาดกลัวลูกเตะมุมของพวกเขา

กลัวระดับ ‘เข้าสมอง’ ว่าถ้าเสียลูกเตะมุมเดี๋ยวจะโดนทีเด็ดแน่นอน

เรื่องนี้ก็เลยกลายเป็นเข้าทางอาร์เซนอลที่ใช้ประโยชน์จากเรื่องนี้อย่างเต็มที่ พวกเขาเล่นกับความกลัวของคู่แข่งอย่างสนุกสนาน ใส่ใจรายละเอียดทุกจุด ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งการยืนในกรอบเขตโทษ ไปจนถึงท่วงท่าของผู้เตะมุม และการดึงจังหวะเวลาให้ช้าไม่รีบเตะจนเกินไป

ผู้เชี่ยวชาญในวงการหลายคนมองว่าการเตะมุมของอาร์เซนอลชวนให้คิดถึงลูกทุ่มไกล (Long Throw) ของ รอรี ดีแลป ตำนานจอมทุ่มของสโต๊ก ซิตี้ ที่กลายเป็นหนึ่งในอาวุธหลักที่จู่โจมเกมรับของคู่แข่งได้อย่างชะงัดนัก 

“ถ้าติดตามดูพรีเมียร์ลีกมานานก็จะเห็นสิ่งเหล่านี้ อาร์เซนอลมีผู้เล่นที่มีรูปร่างสูงใหญ่” คำพูดของอโมริมบ่งบอกให้เห็นว่าเขาเองก็หลอนกับเรื่องนี้

“ด้วยเหตุนี้ทำให้ทุกโอกาสที่ (กาเบรียล) มาร์ติเนลลีกับ (บูกาโย) ซากาได้ดวลจังหวะตัวต่อตัว หลายครั้งพวกเขาจะฉีกออกข้างแล้วเปิดเข้ามา โดยที่รู้ว่าถ้าเปิดได้ดีพวกเขาก็มีโอกาสจะได้ประตู หรือต่อให้ได้เตะมุมก็มีโอกาสจะได้ประตูอยู่ดี”

อย่างไรก็ดีหากไปถามอาร์เตตาแล้ว เขาไม่คิดว่าอาร์เซนอลจะเป็นทีมที่พึ่งพาแค่ลูกเตะมุมอย่างเดียว พวกเขาต้องการสร้างอันตรายให้แก่คู่แข่งในทุกรูปแบบและวิธีการ เล่นสั้น เล่นยาว เจาะตรงกลาง เจาะริมเส้น ครอสโด่ง ครอสเรียด เซ็ตบอลเข้าไป หรือรอจังหวะสวนกลับ

เพียงแต่หากสบโอกาสได้ลูกเตะมุมขึ้นมาเมื่อไร

กุนซือชาวสเปน โค้ชโจเวอร์ และแฟน Gooners ทั้งหลายอาจจะเผลอเอามือลูบปากรอแล้ว…

 

ภาพ: Arsenal TV

ภาพประกอบ: กริน วสุรัฐกร

 

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X