×

‘อาคม’ คาดปลดล็อกกิจกรรม ศก. 100% ต้นปีหน้า เตรียมปรับนโยบายเน้นสร้างรายได้ ด้านผู้ว่า ธปท. มองนโยบายคลังยังเป็นพระเอกช่วยฟื้น GDP ไทย

24.11.2021
  • LOADING...
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานสัมมนา Thailand 2022 Unlock Value ก้าวสู่เส้นทางใหม่ไร้ขีดจำกัด ในหัวข้อ ‘การเงิน-การคลัง กู้วิกฤตเศรษฐกิจไทย’ จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจว่า นับตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิดซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างรุนแรง ภาครัฐได้ทำการ Unlock หรือปลดล็อกไปแล้ว 4 ด้าน เพื่อช่วยให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ 

 

เรื่องแรกคือ Unlock การใช้จ่ายของประชาชน ผ่านมาตรการทางการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น โครงการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ช้อปดีมีคืน ทำให้อัตราการบริโภคการใช้จ่ายของประชาชนยังคงเป็นบวกอยู่ได้

 

“แม้ว่าการบริโภคของประชาชนในปีนี้จะเติบโตได้เพียงแค่ 0.4% ถือว่าต่ำมาก แต่ใน 0.4% นั้น มาตรการของภาครัฐที่เข้าไปกระตุ้นการใช้จ่ายหรือเยียวยาทำให้มีการบริโภคเพิ่มขึ้น 1.6%” อาคมกล่าว

 

เรื่องที่สองคือ Unlock การล็อกดาวน์ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน เพื่อเปิดให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ สามารถกลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง แม้ว่าสถานการณ์ในขณะนี้จะยังไม่สามารถเปิดกิจกรรมต่างๆ ได้เต็ม 100% แต่ก็เชื่อว่าด้วยอัตราการฉีดวัคซีนที่เพิ่มสูงขึ้นจะทำให้การ Unlock สามารถทำได้ 100% ภายในช่วงต้นปีหน้า

 

เรื่องที่สามคือ Unlock เพดานหนี้สาธารณะจาก 60% เป็น 70% เพื่อเปิดให้มีพื้นที่ทางการคลังในการดำเนินนโยบายต่างๆ ในระยะข้างหน้า 

 

และเรื่องสุดท้ายคือ Unlock ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสร้างเศรษฐกิจในยุคข้างหน้า 

 

“ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เราเจอเศรษฐกิจที่ติดลบ เพราะเราพึ่งพาต่างชาติ พึ่งพาการท่องเที่ยวมากเกินไป ทำให้เราต้องกลับมาคิดว่าทำอย่างไรให้เศรษฐกิจสมดุลมากขึ้นในระหว่างภาคบริการและภาคการผลิต และต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ แต่ต้องอยู่ในกรอบกติกา ไม่ว่าการเงินการคลัง ต้องอยู่ในกติกาด้วย” อาคมกล่าว

 

อาคมกล่าวอีกว่า เวลานี้รัฐบาลได้สร้าง Engine of Growth หรือเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนตัวใหม่สำหรับเศรษฐกิจไทยขึ้นมา คือโครงการ EEC เพื่อให้ไทยสามารถเป็นฐานการผลิตเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ ขณะเดียวกันก็จะพยายามปรับโครงสร้างการท่องเที่ยวให้เน้นเชิงคุณภาพมากขึ้น พร้อมปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เป็นแบบ Inclusive มากขึ้นเช่นเดียวกัน

 

“สถานการณ์โควิดทำให้คนออกจากงานค่อนข้างเยอะ มีบางส่วนอยากเปลี่ยนอาชีพ ดังนั้นการส่งเสริมอาชีพอิสระต่างๆ หรือเศรษฐกิจระดับตัวบุคคล เราพบว่าการเยียวยาตามมาตรา 40 มีผู้ประกอบการอิสระมีผู้มาลงทะเบียนเพื่อรับเงินเยียวยามากกว่าที่คาดการณ์ไว้เยอะ ประมาณ 7-8 ล้านคน สะท้อนว่าคนที่ออกไปจากตลาดแรงงาน หรือคนที่ประกอบอาชีพได้รับผลกระทบ ดังนั้นการกระจายเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงในระดับชุมชน ะช่วยลดแรงกระแทกในอนาคตได้” อาคมกล่าว

 

รมว.คลัง ยังกล่าวถึงมาตรการเยียวยาของภาครัฐในช่วงหลังจากนี้ว่า นโยบายประเภทโอนเงินเยียวยาจะทยอยลดลง แต่จะหันไปเน้นเรื่องการสร้างรายได้มากขึ้น 

 

อย่างไรก็ดี นโยบายที่ช่วยแบ่งเบาภาระประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส ผู้มีรายได้น้อย จะยังมีต่อไป โดยคาดว่าในต้นปีหน้าจะเห็นการเปิดให้ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการรอบใหม่

 

ด้าน เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในเวทีเดียวกันว่า เมื่อเปรียบเทียบการดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายการคลังแล้ว จะพบว่าทั้งสองนโยบายมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน โดยนโยบายการคลังอาจต้องใช้เวลาในการทำมากกว่าเพราะมีเรื่องของงบประมาณ แต่เมื่อทำออกมาแล้วจะเห็นผลได้เร็วและเจาะจงกลุ่มได้ดี ขณะที่นโยบายการเงินจะทำได้เร็วกว่า เช่น เรื่องดอกเบี้ย แต่ผลกระทบจะกินเป็นวงกว้าง

 

เศรษฐพุฒิกล่าวว่า จากเงื่อนไขข้างต้นสิ่งที่ ธปท. ได้ดำเนินการมา 3 ด้าน คือ

 

  1. การประสานนโยบายให้ดีระหว่างการเงินและการคลัง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
  2. ทำนโยบายแบบยืดหยุ่น ไม่ยึดติด เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลง นโยบายก็ต้องปรับเปลี่ยน เช่น จากการปรับนโยบายของ ธปท. จากที่ในช่วงแรกเป็นแบบปูพรม มาเป็นเฉพาะเจาะจงในช่วงหลัง
  3. เพื่อให้นโยบายการเงินได้ผลสูงสุด จะต้องคำนึงถึงขีดจำกัดของมัน ไม่ทำอะไรสุดโต่ง เพราะจะเกิดผลข้างเคียงต่อเสถียรภาพซึ่งเป็นหัวใจสำคัญได้ โดยมองว่าหากขาดเสถียรภาพทั้งฝั่งการเงินและการคลังจะทำให้ทุกอย่างรวนไปหมด

 

“โจทย์การทำนโยบายการเงินที่สำคัญในช่วงนี้ คือ 1. ต้องทำนโยบายที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัว ไม่ให้เกิดการสะดุด 2. ต้องแน่ใจว่ามาตรการตรงจุด เพื่อช่วยคนที่ได้รับผลกระทบที่หนักกว่าคนอื่น หรือกลุ่ม K ขาล่าง เนื่องจากการฟื้นตัวของไทยยังเป็นการฟื้นแบบไม่เท่าเทียมกัน” เศรษฐพุฒิกล่าว

 

ผู้ว่า ธปท. มองว่า ในช่วงที่ผ่านมานโยบายการคลังเล่นบทบาทเป็นพระเอกในการกู้วิกฤตเศรษฐกิจให้กับไทย เพราะแม้ว่าภาครัฐจะถูกวิจารณ์ว่ากู้เงินเยอะ แต่โดยส่วนตัวมองว่าหากไม่มีการกู้มากระตุ้นการใช้จ่าย ปัญหาทางเศรษฐกิจจะหนักและรุนแรงกว่าในปัจจุบัน 

 

“ถ้าไม่มีนโยบายการคลัง ภาพเศรษฐกิจไทยจะหนักกว่านี้เยอะมาก เช่น ในปีก่อน GDP เราติดลบ 6% แต่หากไม่มีมาตรการคลังเข้ามาช่วย GDP อาจติดลบมากถึง 9% ขณะที่ GDP ในปีนี้ซึ่งคาดว่าจะขยายตัว 0.7% หากไม่มีมาตรการคลังจะติดลบ 4% โดยเบ็ดเสร็จแล้วมาตรการคลังเข้ามาช่วยพยุง GDP ไทยได้มากถึง 10.8% ในช่วงสองปีที่ผ่านมา” เศรษฐพุฒิกล่าว

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising