อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ ‘ยุทธศาสตร์ส่งเสริม SMEs/Startups ยกระดับขีดความสามารถและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย’ ภายในงาน LiVE Demo Day: The New Road to Capital Market โดยระบุว่า การแพร่ระบาดของโควิดได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจ SMEs และสตาร์ทอัพจำนวนมากในประเทศไทย ส่งผลให้มีหลายร้านค้าและบริษัทที่ต้องปิดตัวลงชั่วคราว ต้องกู้หนี้ยืมสิน เข้ามาตรการพักชำระหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ ซึ่งกระทรวงการคลังได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และได้ออกมาตรการเยียวยาช่วยเหลือมาอย่างต่อเนื่อง
“การช่วยเหลือของเราเริ่มตั้งแต่การให้ซอฟต์โลน วงเงิน 2.5 แสนล้านบาทกับ SMEs ในปีก่อน ตามมาด้วยการออก พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท และมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ วงเงิน 1 แสนล้านบาท โดยซอฟต์โลนมีการเบิกจ่ายไปแล้วประมาณ 1 แสนล้านบาท สินเชื่อฟื้นฟูเบิกจ่ายไปแล้วเกือบ 1 แสนล้านบาท มีผู้ประกอบการที่ได้รับความช่วยเหลือประมาณ 3 หมื่นกว่าราย ส่วนมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ มีผู้เข้าร่วมโครงการแล้ว 74 ราย คิดเป็นมูลค่ารับโอน 1.1 หมื่นล้านบาท” อาคมกล่าว
นอกจากนี้ ภาครัฐยังได้ช่วยเยียวยาผู้ประกอบการด้วยการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับแรงงานที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ในอัตรา 2,000 บาทต่อคน รวมถึงจ่ายเงินช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการหรือนายจ้าง จะได้รับความช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน
อย่างไรก็ดี อาคมยอมรับว่า การช่วยเหลือที่ส่งผ่านไปถึง SMEs ในปัจจุบันยังถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวน SMEs ทั่วประเทศที่มีถึง 3 ล้านราย เนื่องจากแหล่งเงินทุนที่ SMEs สามารถเข้าถึงได้ส่วนใหญ่ยังเป็นเงินกู้จากสถาบันการเงินที่เพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อในภาวะวิกฤต ขณะเดียวกันก็ยังมีธุรกิจ SMEs อีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการในระบบ
“กระทรวงการคลังพร้อมให้ช่วยเหลือ SMEs มาตรการลดหย่อนภาษีต่างๆ ภายใต้แผนงานการพัฒนาตลาดทุนไทย หากมีส่วนใดที่มาตรการภาษีสามารถช่วยได้ กระทรวงการคลังก็ยินดีที่จะช่วย เพื่อเพิ่มช่องทางให้ SMEs เข้าถึงโอกาสมากขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ และทำให้เศรษฐกิจฐานรากเติบโต” อาคมกล่าว
อาคมระบุว่า แม้ในปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์จะมี mai เป็นช่องทางให้ธุรกิจ SMEs สามารถเข้ามาระดมทุนได้ แต่การเข้ามาก็ยังอยู่ภายใต้กฎกติกาที่เข้มงวดในเรื่อง ความโปร่งใสของการบันทึกข้อมูลและการทำบัญชี ทำให้ SMEs ส่วนใหญ่ที่ไม่คุ้นเคยและขาดองค์ความรู้ยังไม่สามารถใช้ช่องทางนี้ได้
“ในแผนพัฒนาตลาดทุนไทยปี 2560-2564 เรามีการพูดถึงการเชื่อมโยงเงินทุนของผู้ออมกับผู้ประกอบการ SMEs วันนี้ตลาดหลักทรัพย์ได้ริเริ่มช่องทาง Live Platform และ Live Exchange เพื่อบ่มเพาะให้ SMEs มีความพร้อมเข้าตลาดในอนาคต ขณะเดียวกัน ในฝั่ง ก.ล.ต. ก็มี Crowdfunding Platform ให้นักลงทุนและผู้ประกอบการมาเจอกันเช่นกัน ถือเป็นเรื่องที่ดีมากที่ช่วยให้นักธุรกิจรุ่นใหม่มีช่องทางเข้าถึงเงินทุนที่เปิดกว้างขึ้น” อาคมกล่าว
อาคมเชื่อว่าตลาดทุนจะเป็นโอกาสในการระดมทุนของธุรกิจ SMEs และสตาร์ทอัพที่สำคัญในอนาคต เมื่อพิจารณาจากแหล่งเงินออมของไทยที่มีเหลือเฟือ และสถิติการของตลาดทุนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่ยังมีนักลงทุนเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่องแม้เป็นภาวะวิกฤต
“ผมอยากให้ SMEs และสตาร์ทอัพที่เข้ามาระดมทุนต้องคิดถึงทิศทางของประเทศด้วยว่าเรากำลังจะเดินไปทางไหน ซึ่งดูได้จากนโยบายของรัฐบาล ทิศทางที่เราต้องการจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไปข้างหน้ามีอยู่ 3 เรื่องหลัก ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ธุรกิจ SMEs ที่พัฒนาไปในทิศทางเดียวกันจะมีโอกาส” อาคมระบุ