อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานสัมมนาของมติชน หัวข้อ ‘พลิกสูตรวัคซีนสู้โควิด-19 พลิกวิกฤตเศรษฐกิจไทย’ ว่า ในสถานการณ์ที่ทั่วโลกต้องเจอผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งไทยเจอปัญหาการว่างงาน หนี้ครัวเรือน และความยากจนที่สูงขึ้น แม้ว่าปลายปีก่อนเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวขึ้น (การส่งออก ภาคการผลิตและท่องเที่ยวในประเทศ) แต่เมื่อเจอการระบาดระลอกใหม่ก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
ทั้งนี้รัฐบาลเร่งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 รอบใหม่ คาดว่าจะเข้าถึงราว 41 ล้านคน โดยมุ่งกลุ่มแรงงานนอกระบบที่ไม่มีกองทุนประกันสังคมดูแล จึงออกโครงการ ‘เราชนะ’ 31 ล้านคน และขยายไปที่ ‘ม.33 เรารักกัน’ 9-10 ล้านคน
ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้ออกมาตรการด้านภาษีให้ภาคเอกชนเพื่อสร้างสภาพคล่อง (ขยายเวลาคิดภาษีนิติบุคคล) และยกเว้นภาษี และค่าธรรมเนียมด้านอสังหาริมทรัพย์ ในระดับรายย่อยที่ผ่านมามีการออก คนละครึ่ง ชิมช้อปใช้ ช้อปดีมีคืน
ทั้งนี้สิ่งที่รัฐต้องเร่งทำคือการลงทุนภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ ที่จะดึงดูดการลงทุนต่างชาติเข้ามา ซึ่งข้อมูลจากธนาคารโลกบอกว่า การลงทุนในไทยยังต่ำกว่าที่ควรจะเป็น รัฐจึงต้องพิจารณาด้วยการลงทุนของรัฐที่จะกระตุ้นการลงทุนในภาครวม
นอกจากนี้สิ่งที่คลังยังต้องให้ความสำคัญคือ การปฏิรูปโครงสร้างรายได้รัฐ เพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อรายจ่ายของรัฐบาลในโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
ปี 2564 นี้ความเสี่ยงต่างๆ ยังคงอยู่ และต้องสร้างสมดุลทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจและควบคุมการแพร่ระบาด ย่ิงแสดงถึงความสำคัญของภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจ โดยไทยมี 4 ภูมิคุ้มกันหลัก ได้แก่
- เศรษฐกิจไทยต้องโตต่อเนื่องไม่ว่าจะโตสูงหรือต่ำ ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยใหญ่เป็นอันดับ 2 รายได้ของประเทศต้องขยายตัวต่อเนื่อง ยกเว้นในช่วงวิกฤตนี้อาจจะเห็นการลดลงบ้างชั่วคราว
- ฐานะการเงินระหว่างประเทศ ในส่วนของไทยมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเกือบ 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแข็งแกร่งมาก หากนำมาคิดเป็นการชำระหนี้ของไทยจะสูงกว่าถึงสามเท่า
- ฐานะการเงินการคลังในประเทศตอนนี้ก็มีเสถียรภาพ
- หนี้สาธารณะของไทย หรือหนี้ของประเทศของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ (ที่คลังค้ำประกัน) ปัจจุบันอยู่ราว 50% เพิ่มขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ต้องกู้เพิ่มเติม (พ.ร.บ. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท) โดยเพดานหนี้สาธารณะมองว่าอยู่ในระดับ 60% ยังเหมาะสมและเพียงพอต่อการดำเนินนโยบาย
ทั้งนี้การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้รัฐบาลทั่วโลกและไทยต้องเร่งแก้ปัญหา ทั้งปัญหาเฉพาะหน้าอย่างการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้เพียงพอ รวมถึงมาตรการเยียวยา กระตุ้น และฟื้นฟูเศรษฐกิจ ให้ผู้ได้รับผลกระทบ จากมาตรการปิดประเทศปีก่อนที่ล็อกดาวน์นาน 2 เดือน มีเคอร์ฟิว ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหายไป
“ช่วงวิกฤตทั้งโลกและธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องผ่อนคลายนโยบายการเงิน อย่างการลดดอกเบี้ยเพื่อให้คลังสามารถใช้จ่ายได้”
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า