×

ท้าทายและทะเยอทะยาน อริยะ พนมยงค์ เปิดกลยุทธ์ช่อง 3 ครั้งแรก “เราไม่ใช่ทีวีอีกต่อไป”

25.05.2019
  • LOADING...
Ariya Banomyong

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • อริยะ พนมยงค์ ก้าวเข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ด้วยโจทย์ของการพาบริษัทอย่างบีอีซีกลับมาทวงตำแหน่งผู้นำให้ได้
  • เขายอมรับว่าตำแหน่งงานเดิมของเขาก็มั่นคงและมีความสุขดีอยู่แล้ว แต่สาเหตุที่ตัดสินใจเลือกมาอยู่กับบีอีซีก็เพราะว่าปลายทางของภารกิจที่เขาได้รับสนุกและท้าทาย
  • กลยุทธ์ของช่อง 3 ต่อจากนี้จะให้ความสำคัญกับเสาหลักทั้ง 6 เสา ประกอบด้วย TV Plus, Distributions, IP, Artist, Content และ Technology จะไม่มองว่าตัวเองเป็นแค่ช่องโทรทัศน์ เพราะหัวใจที่สำคัญกว่าคือ ‘คอนเทนต์’

ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ข่าวการย้ายบ้านหลังใหม่ของ อริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ ไลน์ ประเทศไทย (ในเวลานั้น) แพร่สะพัดไปทั่วทั้งวงการสื่อ-เทคโนโลยี จากเกษรวิลเลจมาสู่มาลีนนท์ จากองค์กรที่มั่นคงแถมยังมีอนาคตที่สดใสมาสู่ธุรกิจที่หลายคนมองว่าอยู่ในช่วงขาลงอย่าง ‘โทรทัศน์’ ดีลนี้จึงสร้างความประหลาดใจ พร้อมชวนใครหลายคนตั้งคำถามฉงนสงสัยไม่น้อย

 

1 เดือนให้หลัง ข่าวลือกลายเป็นเรื่องจริง บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) แจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการต่อกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตั้ง อริยะ พนมยงค์ ขึ้นเป็นกรรมการผู้อำนวยการของบริษัทอย่างเป็นทางการ มีผลตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม

 

สยบทุกข่าวลือ แต่ก็ยังชวนให้ตั้งคำถามถึงการตัดสินใจในครั้งนี้ของอริยะและบีอีซี เวิลด์ อยู่ดี

 

“ความจริงผมอยู่ตรงนั้นก็มีความสุขอยู่แล้ว ก็ลังเล อยู่ในวงการเทคโนโลยีก็เป็นสิ่งที่เราชอบ แต่วันนี้ที่เลือกมาอยู่ที่บีอีซี ทั้งธุรกิจและองค์กรก็แตกต่างกันหมด แต่โจทย์ปลายทางที่อยากให้บีอีซีกลับมายิ่งใหญ่ ‘มันสนุก’ สำหรับผม”

 

เขาบอกว่ามุมมองการทำงานของตัวเองแตกต่างจากคนทำงานคนอื่นๆ พอสมควร เพราะถ้าไม่นับออเรนจ์ (ทรูมูฟ) อริยะเลือกที่จะนำประสบการณ์จากการทำงานที่สั่งสมกับบริษัทระดับโลกอย่างกูเกิลกลับมาต่อยอดให้กับบริษัทระดับภูมิภาคอย่างไลน์ และล่าสุดกับบริษัทสัญชาติไทย ช่อง 3 (บีอีซี เวิลด์) ตามลำดับ

 

Ariya Banomyong

 

อริยะ พนมยงค์ ให้เหตุผลสำคัญที่ทำให้ตัดสินใจมาร่วมงานกับบีอีซี เวิลด์ ว่าประกอบด้วย

  • ต้องการนำประสบการณ์การทำงานที่มีมาช่วยเหลือองค์กรไทย
  • เทคโนโลยีและคอนเทนต์เป็นวงการที่อริยะใกล้ชิดมาตั้งแต่ในอดีต (ยูทูบและไลน์ ทูเดย์) จึงทำให้เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทย
  • บีอีซีและช่อง 3 มีสินทรัพย์ที่เป็นจุดแข็งอย่างคอนเทนต์ละครและศิลปิน ซึ่งถือเป็นพื้นฐานที่ดี แม้ภาพรวมอุตสาหกรรมกำลังอยู่ในช่วงถดถอย
  • ความท้าทาย
  • การให้โอกาสในการดูแลจัดการอย่างเต็มที่ของครอบครัวมาลีนนท์

 

โดยเฉพาะ ‘ความท้าทาย’ ที่ถือเป็นแรงจูงใจสำคัญอันดับต้นๆ ที่ทำให้ผู้บริหารวัย 45 ปีเลือกมาอยู่กับบีอีซี แถมยังยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าเป็นครั้งแรกในชีวิตที่เขาเตรียมการบ้านมาหนักและเยอะมากๆ เพื่อสัมภาษณ์งาน

 

“ผมเริ่มคิดแผนว่าถ้าเราจะมาทำงานกับบีอีซี เราจะมาทำอะไร พยายามไปดูว่าในอุตสาหกรรมนี้มีใครที่ทำได้ดีบ้าง เพราะต้องบอกว่าสถานการณ์สื่อไทยก็ไม่ต่างจากสถานการณ์สื่อทั่วโลกที่อยู่ในภาวะลำบากกันทุกคน เราก็ไปดูว่ามีช่องทีวีไหนที่สามารถทรานส์ฟอร์มตัวเองได้ไหม ก็ยังไม่เจอ

 

“ผมเลยบอกผู้บริหารของบีอีซีว่าถ้าเราทำได้จะเป็นคนแรกของโลก ผมมองว่ามันเป็นโจทย์ที่สนุก ท้าทายมาก ไม่ได้นึกถึงอุปสรรค แต่นึกถึงปลายทางว่าถ้าเราทำได้มันจะเจ๋ง ไม่ใช่แค่กับบีอีซี แต่มันจะเป็นปรากฏการณ์ระดับโลกที่ทุกคนพูดถึง”

 

ที่สำคัญคือเขาบอกว่าทีมผู้บริหารและครอบครัวมาลีนนท์ก็เปิดโอกาสให้เขาในฐานะกรรมการผู้อำนวยการบริษัทได้เข้ามาดูแลบริหารงานของบีอีซีเต็มที่แบบไม่มีกั๊ก เพื่อให้สามารถดำเนินการตามโรดแมปที่วางไว้

 

อริยะเล่าถึงภาพรวมตลาดสื่อโทรทัศน์ว่า ส่ิงที่ใครๆ ก็เห็นในระยะหลังๆ คือเรตติ้งโทรทัศน์ที่ลดลงต่อเนื่องทุกช่อง แต่ถึงอย่างนั้นก็ดีในมุมมองของเขา โลกดิจิทัลและ OTT ไม่ได้มาดิสรัปท์ทีวีแต่อย่างใด หากแต่มีฐานะเทียบเท่าพาร์ตเนอร์ของช่องโทรทัศน์ โดยเฉพาะข้อมูลจากนีลเส็นที่ชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมคนไทยยังดูเนื้อหาจากช่องทีวีเป็นหลัก

 

สถิติที่น่าสนใจของกลุ่มเป้าหมายผู้ชมสถานีโทรทัศน์ช่อง 3

  • ผู้ชมที่มีอายุมากกว่า 35 ปี
    • 73% ของผู้ชมช่อง 3 คือคนที่อายุมากกว่า 35 ปี
    • มีอัตราการใช้งานและการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ประมาณ 60%
    • ใน 1 สัปดาห์ ยังบริโภคสื่อจาก ‘โทรทัศน์’ เป็นช่องทางหลัก
  • ผู้ชมที่อายุน้อยกว่า 34 ปี
    • 70-80% ของผู้ชมช่อง 3 ในโลกออนไลน์มีอายุน้อยกว่า 34 ปี
    • มีอัตราการใช้งานและการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่มากกว่า 90%
    • ใน 1 สัปดาห์ นอกเหนือจากอินเทอร์เน็ตที่บริโภคเป็นปกติอยู่แล้วก็ยังเสพสื่อจากโทรทัศน์ด้วย สะท้อนให้เห็นพฤติกรรมแบบ Multi Screen
  • ยอดการรับชมของช่อง 3 ในโลกออนไลน์รวมทุกช่องทางและแพลตฟอร์มตลอดทั้งปี 2018 อยู่ที่ 6,000 ล้านวิว

 

“พฤติกรรมของผู้ชมเปลี่ยนแปลง แต่เนื้อหาที่ชมไม่ได้เปลี่ยนไป เราไม่ได้ดูแค่จอทีวี แต่ดูทั้งแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟน เนื้อหาที่เราดูก็ยังมาจากทีวี นี่คือส่ิงที่ผมอุ่นใจมาก เพราะสิ่งที่กำลังเปลี่ยนคือช่องทางการบริโภค”

 

อริยะบอกว่าสถิติทั้งหมดชี้ให้เห็นว่าคนดูช่อง 3 ยังไม่ได้หายไปไหน แค่เปลี่ยน ‘จอ’ และวิธีที่เข้าถึง หมายความว่าที่เรตติ้งโทรทัศน์ทั่วประเทศไทยลดลงอาจจะยังไม่ได้หายไปไหนด้วยเช่นกัน เพียงแต่ไม่ได้ถูกวัดออกมามากกว่า (ออนไลน์และแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่ไม่ใช่ Traditional Media)

 

นอกจากนี้เมื่อเม็ดเงินโฆษณารวมทั้งก้อนลดลงต่อเนื่องทุกๆ ปี ก็ถือเป็นเรื่องจำเป็นที่เขาและบีอีซีจะต้องหาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เพื่อสร้างฐานรากและความมั่นคงในระยะยาว ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้หมายความว่าช่อง 3 จะเทไปออนไลน์ 100% เพราะตราบใดที่ผู้บริโภคยังรับชมคอนเทนต์ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ก็จะให้ความสำคัญกับทุกแพลตฟอร์ม เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้ได้ครอบคลุม

 

โดยโมเดลธุรกิจที่บีอีซีภายใต้การนำทัพของอริยะ พนมยงค์ จะขับเคลื่อนไปนั้น จำแนกออกตามเสาหลักได้ 6 ประการ ประกอบด้วย

 

1. TV Plus กลยุทธ์ระยะสั้นเพื่อเร่งรายได้จากสิ่งที่อยู่ในมืออย่าง ‘ทีวีและออนไลน์’ ตามพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายทั้งสองกลุ่ม โดยไอเดียคือพัฒนาให้ทั้งช่องทางโทรทัศน์และโลกดิจิทัลเชื่อมต่อกันแบบไร้รอยต่อ

 

2. Distributions พัฒนาช่องทางกระจายเนื้อหา เพราะมองว่าช่อง 3 ไม่ใช่ธุรกิจทีวีอีกต่อไป แต่เป็นธุรกิจคอนเทนต์ นอกจากนี้จะบุกตลาดต่างประเทศมากขึ้น ครอบคลุมถึง Global OTT เพื่อกระจายคอนเทนต์ออกไปนอกเหนือจากประเทศไทย

 

3. IP (Intellectual Property) ทรัพย์สินทางปัญญา ในที่นี้มาจากความนิยมของคอนเทนต์ละคร ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ คือเมื่อปีที่แล้วที่ละคร บุพเพสันนิวาส โด่งดังจนได้รับความนิยมทั่วบ้านทั่วเมือง ต่อจากนี้ทุกกระแสความนิยมของคอนเทนต์ละครช่อง 3 จะต้อง ‘แปลงกลับมาเป็นรายได้’ คืนให้กับช่อง 3 ให้ได้

 

4. Artist ทำงานร่วมกับศิลปินเพื่อสร้างรูปแบบบริการและโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่จะสร้างเม็ดเงินให้กับบีอีซีได้ (ยังเปิดเผยรายละเอียดมากไม่ได้ เนื่องจากต้องปรึกษาหารือไอเดียกับศิลปินและผู้จัดละคร)

 

5. Content นอกจากละครที่ทำได้ยอดเยี่ยมอยู่แล้ว จะต้องสร้างฐานความนิยมให้กับคอนเทนต์อื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะ ‘ข่าว’ ที่เคยทำได้ดีและรู้ว่าทำได้ จึงจำเป็นที่จะต้องปลุกคอนเทนต์ข่าวให้กลับมาอยู่ในอันดับต้นๆ ของอุตสาหกรรมและสร้างรายได้ให้กับองค์กรด้วย นอกจากนี้ยังรวมถึงการสร้างรูปแบบรายการใหม่ๆ

 

6. Technology เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในอนาคตกับบีอีซี แต่จะไม่ได้เห็นในระยะสั้น เพราะต้องใช้เวลาในการสร้างขึ้นมา ส่วนจะสร้างเอง ซื้อเข้ามา หรือพาร์ตเนอร์ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง โดย ‘การสร้างแพลตฟอร์ม’ ก็เป็นหนึ่งในไอเดียที่กำลังหารืออยู่

 

Ariya Banomyong

 

“อย่าคาดหวังว่าทุกอย่างจะเกิดขึ้นในปีนี้ ผมขอเวลา แต่แน่นอนว่าในระยะสั้นจะต้องเน้นไปที่การเร่งรายได้จาก TV Plus (ออฟไลน์+ออนไลน์) เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ที่เหลือเราจะเริ่มลงแรงในการทำตั้งแต่ตอนนี้ เพราะกว่าจะเห็นผลจริงๆ ก็คงจะเป็นปีหน้า

 

“ใน 6 กลยุทธ์ที่ผมพูดถึง มันเป็นลูกผสมของทั้งออฟไลน์และออนไลน์ อนาคตเราไม่ใช่อันใดอันหนึ่ง แต่คือทั้งคู่ ผมไม่กล้ารับปากว่าจะทำทั้งหมดได้ดี เพราะแค่ทำครึ่งหนึ่งได้ดีก็น่าจะเห็นผลแล้ว เปรียบเทียบก็เหมือนเล่นหุ้น ถ้าเราเล่นหุ้นแล้วลงเงินทั้งหมดที่มีกับหุ้นตัวเดียว ความเสี่ยงมันสูงมาก ดังนั้นวันนี้สิ่งที่เราต้องทำคือการสร้างธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง”

 

อริยะย้ำว่า 6 กลยุทธ์หลักจะต้องมีแผนงานการดำเนินการที่ชัดเจนภายในไตรมาส 2 นี้ และเริ่มลงมือทำจริงให้ได้ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 เป็นต้นไป นอกจากนี้มีการเปิดเผยว่าปัจจุบันรายได้หลักของบีอีซีมาจากธุรกิจโทรทัศน์เป็นช่องทางหลัก (มากกว่า 80%) แต่มีการตั้งเป้าไว้ว่าเมื่อปรับกลยุทธ์ตามเสาหลัก 6 ข้อที่อริยะวางไว้แล้ว สัดส่วนรายได้จากธุรกิจอื่นๆ ของบีอีซีจะต้องเพิ่มขึ้นเป็นเลข 2 หลักหรืออย่างน้อย 10% ให้ได้

 

“อย่างน้อยที่สุดในช่วงต้นปีหน้า ผมอยากเห็นเทรนด์ที่ดีหรือโมเมนตัมที่บวกของบริษัท (ไม่ได้ชี้ชัดว่าต้องเป็นกำไรหรือผลประกอบการ)”

 

Ariya Banomyong

 

ส่วนผลกระทบจากการคืนช่องทีวีดิจิทัลทั้ง 2 ช่อง  คือ 3 Family (ช่อง 13) และ 3SD (ช่อง 28) นั้น กรรมการผู้อำนวยการบีอีซี เวิลด์ เชื่อว่าจะเป็นจังหวะที่ดีในการรีโฟกัสช่อง 3HD (33) ให้เข้มแข็งมากกว่าเดิม รวมถึงการเน้นพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ ที่จะสร้างประโยชน์ให้กับบีอีซีในระยะยาว ทั้งนี้รายการและตารางออกอากาศใน 2 ช่องที่เลือกคืนอาจจะไม่ได้รับผลกระทบมาก และกำลังมองหาความเป็นไปได้ในการนำบางคอนเทนต์มาออกอากาศในช่อง 33 (จะเห็นตัวเลขเงินเยียวยาในอีก 4 เดือนนับจากพฤษภาคม)

 

ขณะที่ความกังวลเรื่องผลกระทบการปรับโครงสร้างองค์กรนั้น อริยะบอกว่าในปัจจุบันบีอีซี เวิลด์ มีพนักงานรวมกว่า 1,700 คน และกำลังอยู่ในช่วงระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของการปรับโครงสร้างองค์กร ยังบอกไม่ได้ว่าจะมีการปรับลดเพิ่มพนักงานอย่างไร โดยมีกรอบเวลาที่ 4 เดือน ซึ่งจะแจ้งพนักงานก่อนเดดไลน์นี้ พร้อมสัญญาว่าจะดูแลพนักงานทุกคนให้ดีแน่นอน

เมื่อถามถึงเป้าหมายในเชิงภาพรวมของการพาบีอีซีและช่อง 3 กลับขึ้นมาเป็นผู้นำให้ได้อีกครั้งในอนาคต อริยะบอกว่า “ผมอยากเป็นที่หนึ่ง ไม่ใช่แค่ที่หนึ่งในโลกทีวี เราอยากสร้างจุดยืนของเราให้ไกลกว่าแค่ทีวี อนาคตเราอาจจะไม่ได้ผูกกับแค่ทีวี หัวใจของธุรกิจเราคือคอนเทนต์และเอ็นเตอร์เทนเมนต์ นี่คือส่ิงที่เราเข้มแข็ง

 

“นิยามความเข้มแข็งคือการที่เราสร้างรายการที่ดี มีเรตติ้งที่ดี และสุดท้ายมันผันกลับมาเป็นรายได้ด้วย มิติการแข่งขันหรือการมองคู่แข่งจะต้องเปลี่ยนแปลงไป ไม่ได้อยู่แค่ในโลกทีวี”  

 

ต้องยอมรับกันตามตรงว่าเป้าหมายของการพาช่อง 3 ในฐานะยักษ์ใหญ่บิ๊กเพลเยอร์อุตสาหกรรมโทรทัศน์ที่ใครก็มองว่าอยู่ในช่วงอาทิตย์อัสดงกลับมาผงาดให้ได้อีกครั้งไม่ง่ายเลย แต่ถ้ามองในอีกมุมหนึ่ง นี่คือบทพิสูจน์ครั้งสำคัญที่ทะเยอทะยานมากๆ ในชีวิตการทำงานของผู้ชายที่ชื่ออริยะ พนมยงค์

 

บทพิสูจน์ในฐานะผู้บริหารที่ผ่านงานมาโชกโชน ผ่านการประสบความสำเร็จมานับครั้งไม่ถ้วน ไม่ว่าจะทรู กูเกิล หรือกระทั่งไลน์ แต่ภารกิจกับบีอีซี เวิลด์ ในครั้งนี้จะเป็นหนึ่งในตัวตัดสินว่าเขา ‘แน่แค่ไหน’

 

โปรดจับตาดูให้ดี อย่ากะพริบตา และห้ามเปลี่ยนช่องไปไหน…

 

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising