หุ้น บมจ.เออาร์ไอพี (ARIP) นับเป็นอีกหนึ่ง ‘หุ้นต่ำบาท’ ของตลาดหลักทรัพย์ mai ที่ร้อนแรงในรอบปี 2564 จนถูกตลาดหลักทรัพย์ฯ จับเข้ามาตรการกำกับการซื้อขายอยู่หลายครั้ง
หากย้อนกลับไปในรอบปี 2564 จะพบว่าหุ้น ARIP ถูกตลาดหลักทรัพย์ฯ สกัดจับความร้อนแรงถึง 4 ครั้ง 4 ครา ซึ่งในแต่ละรอบบริษัทชี้แจงข้อมูลเพียงแค่ว่า ไม่มีพัฒนาการสำคัญใดๆ ที่มีนัยยะจนเป็นผลให้ราคาหุ้นต้องเคลื่อนไหวร้อนแรงจากปกติ แต่หลังจากนั้นไม่นานบริษัทก็รายงานข้อมูลต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ถึงพัฒนาการด้านการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เพื่อให้นักลงทุนรับทราบ
เมื่อเจาะลึกลงไป โดยเรียงไทม์ไลน์ของหุ้นตัวนี้ พบว่า หุ้น ARIP ถูกตลาดหลักทรัพย์ฯ จับเข้ามาตรการกำกับการซื้อขายระดับที่ 1 ครั้งแรกระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน – 20 กรกฎาคม 2564 ทำให้สมาชิกหรือโบรกเกอร์ต้องดำเนินการให้ลูกค้าซื้อหลักทรัพย์ด้วยบัญชีเงินสดที่วางไว้ล่วงหน้า (Cash Balance) เท่านั้น ซึ่งความเคลื่อนไหวของหุ้น ARIP ในขณะนั้น ปรับตัวขึ้นจากหุ้นต่ำบาทไปยืนเป็นหุ้นเต็มบาท หรือปรับขึ้นจากบริเวณ 0.65-0.70 บาท ไปที่ระดับ 1.08-1.19 บาทได้
แต่หลังจากที่หลุดจากมาตรการดังกล่าวมา ราคาหุ้น ARIP ก็ปรับขึ้นร้อนแรงอีกครั้ง ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องจับหุ้น ARIP เข้าสู่มาตรการกำกับการซื้อขายในระดับ 1 เป็นครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 9 สิงหาคม – 17 กันยายน 2564
และในรอบถัดมาหุ้น ARIP ก็ถูกตลาดหลักทรัพย์ฯ สกัดจับความร้อนแรงอีกครั้งด้วยมาตรการ Cash Balance เช่นเดิม มีผลบังคับระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม – 18 พฤศจิกายน 2564 ในรอบนี้ราคาหุ้นเคลื่อนไหวในกรอบ 0.80-0.90 บาทกว่าๆ มีมูลค่าการซื้อขายที่หนาแน่นขึ้นมาเป็นหลักสิบล้านกว่าบาทได้ในบางวันทำการ จากเดิมที่จะมีมูลค่าการซื้อๆ ขายๆ ต่ำกว่านั้น
หุ้น ARIP ยังคงดื้อยา เพราะภายหลังหลุดจากมาตรการกำกับการซื้อขายอันเข้มงวด ราคาหุ้นก็ร้อนแรงอีกครั้ง จนตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องดับร้อนลง โดยรอบล่าสุดนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้สยบความร้อนแรงของราคาหุ้นด้วยมาตรการกำกับการซื้อขายเข้มงวดมากขึ้นเป็นระดับ 2 คือ ให้ซื้อหลักทรัพย์ด้วยบัญชีเงินสดที่วางไว้ล่วงหน้า (Cash Balance) และห้ามคำนวณวงเงินซื้อขาย เท่ากับว่าห้ามโบรกเกอร์ใช้หลักทรัพย์เป็นหลักประกันในการคำนวณเป็นวงเงินซื้อขายหุ้นในทุกประเภทบัญชี มีผลตั้งแต่วันที่ 8-28 ธันวาคมนี้
จากการสำรวจของทีมข่าว THE STANDARD WEALTH พบว่า ในทุกๆ รอบของความร้อนแรงของหุ้นตัวนี้ จะมีเพียงข้อมูลสำคัญที่รายงานถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ดำเนินการซื้อๆ ขายๆ หุ้นตัวนี้เป็นหลัก
เห็นได้จากในรอบแรก ARIP ได้รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ทิ้งระยะห่างภายหลังโดนจับขังด้วยมาตรการกำกับการซื้อขายที่เข้มงวด ไม่นานว่า ‘มินทร์ อิงค์ธเนศ’ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ได้ซื้อหุ้นจาก BNP Paribas Singapore Branch คัสโตเดียนของ บริษัท แอพซีลอน เวนเจอร์ส พีทีอี แอลทีดี จำนวน 93.432 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 20.05% ของจำนวนหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วของบริษัท ในราคา 0.65 บาท ซึ่งไม่มีผลในการเปลี่ยนแปลงอำนาจการบริหาร และ ‘มินทร์ อิงค์ธเนศ’ ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในสัดส่วน 64.33% เพิ่มขึ้นจากเดิม 44.28%
เช่นเดียวกันในรอบล่าสุดนี้ (3 ธันวาคม) ARIP ได้รายงานข้อมูลต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ‘มินทร์ อิงค์ธเนศ’ ได้ขายหุ้นรายการใหญ่ หรือ Big Lot ทำให้โครงสร้างการถือหุ้นเปลี่ยนแปลงไปเป็น ‘มินทร์ อิงค์ธเนศ’ ถือหุ้น 253.17 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 54.33%
และ บจ.กลุ่มแอดวานซ์ รีเสิร์ช ถือหุ้น 46.60 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 10% (ข้อมูล ณ วันที่ 3 ธันวาคม 2564) จากเดิมที่ ‘มินทร์ อิงค์ธเนศ’ ถือหุ้น 299.77 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 64.33% (ข้อมูล ณ วันที่ 25 มิถุนายน 2564)
ทีมข่าว THE STANDARD WEALTH อยากชวนมาทำความรู้จัก ARIP ให้มากขึ้นผ่านประวัติความเป็นมาและพัฒนาการสำคัญๆ ของหุ้นตัวนี้ ซึ่งจะพบว่า ARIP มีชื่อเดิมว่า บริษัท เอ.อาร์. อินฟอร์เมชัน แอนด์ พับลิเคชัน จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2532 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 1 ล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับสื่อด้านธุรกิจ การบริหารจัดการ และเทคโนโลยีสารสนเทศ
ต่อมาได้ขยายไปยังธุรกิจการจัดงานนิทรรศการ งานแสดงสินค้า และการจัดประชุมสัมมนา รวมทั้งการให้บริการสื่อสารทางการตลาดออนไลน์ และแพลตฟอร์มเพื่อการพัฒนาบุคลากรในองค์กร (Enterprise Learning Platform)
บริษัทได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้นที่สำคัญในปี 2553 โดยบริษัท กลุ่มแอดวานซ์ รีเสิร์ช (AR Group) ขายหุ้นที่ถือในบริษัท จำนวน 545,200 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท หรือคิดเป็น 94% ของหุ้นที่จำหน่ายได้ทั้งหมดของบริษัทให้กับผู้ถือหุ้นของ AR ซึ่งประกอบด้วย มินทร์ อิงค์ธเนศ จำนวน 365,923 หุ้น
Apsilon Ventures Pte. Ltd. (Apsilon) จำนวน 173,688 หุ้น และผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ จำนวน 5,589 หุ้น ทำให้ผู้ถือหุ้นดังกล่าวถือหุ้นโดยตรงในบริษัทโดยไม่ต้องถือผ่าน AR เพื่อให้โครงสร้างการถือหุ้นมีความชัดเจน ไม่ซับซ้อน
ในปัจจุบัน ARIP จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ mai ในกลุ่มอุตสาหกรรม/บริการ ประกอบธุรกิจหลักแบ่งเป็น 3 ด้าน ดังนี้
- ธุรกิจสื่อและคอนเทนต์
- ธุรกิจการจัดงานนิทรรศการ งานแสดงสินค้า และกิจกรรมทางการตลาดครบวงจร
- ธุรกิจบริการการตลาดดิจิทัล
โดย ณ วันที่ 8 มีนาคม 2564 ARIP มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 10 อันดับแรก ประกอบด้วย
- มินทร์ อิงค์ธเนศ ถือหุ้นจำนวน 206,338,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 44.28%
- BNP Paribas Singapore Branch ถือหุ้นจำนวน 93,432,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 20.05%
- ณรงค์ชัย สิมะโรจน์ ถือหุ้นจำนวน 29,428,100 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 6.32%
- Mr. Chatrchai Songsaengcharoen ถือหุ้นจำนวน 12,500,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 2.68%
- พัชรา เกียรตินันทวิมล ถือหุ้นจำนวน 4,229,300 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 0.91%
- สาธิต เชียงทอง ถือหุ้นจำนวน 4,010,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 0.86 %
- วรินท์รยา สิมะโรจน์ ถือหุ้นจำนวน 3,552,300 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 0.76%
- ปิติชัย พันธุ์ธีรานุรักษ์ ถือหุ้นจำนวน 3,077,700 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 0.66%
- นัฐลดา พรมมี ถือหุ้นจำนวน 2,443,200 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 0.52%
- ปิพณ พึ่งบุญพระ ถือหุ้นจำนวน 2,416,500 หุ้น คิดเป็น 0.52%
อย่างไรก็ตามการซื้อขายหุ้น ARIP ลดความร้อนแรงลงภายหลังตลาดหลักทรัพย์ฯ จับเข้ากรงขัง ส่งผลให้ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาปรับตัวลดลงต่อเนื่องติดต่อกัน 3 วันทำการ (13-15 ธันวาคม) แต่ยังสามารถยืนอยู่เหนือระดับ 1 บาทได้
โดยการซื้อขายล่าสุด เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ราคาหุ้นทรงตัว ปิดอยู่ที่ 1.15 บาท ไม่เปลี่ยนแปลงจากวันก่อนหน้า
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์รายหนึ่งกล่าวว่า ARIP ถือเป็นหุ้นเล็กที่นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่นิยมเข้าลงทุน ดังนั้นการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นจึงน่าจะเป็นเพียงการลงทุนของนักลงทุนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น ทำให้มีความเสี่ยงในเรื่องสภาพคล่องของหุ้น
นอกจากนี้ยังพบว่าในปีนี้บริษัทน่าจะประสบกับภาวะการณ์ขาดทุน จากผลการดำเนินงาน 9 เดือนแรกที่ผ่านมาบริษัทขาดทุนสุทธิแล้ว 2.81 ล้านบาท มีรายได้รวมที่ 93.97 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามในช่วง 4 ปีย้อนหลัง ARIP มีกำไรสุทธิมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 มีกำไร 2.16 ล้านบาท มีรายได้ 162.63 ล้านบาท และกำไรสุทธิเพิ่มเป็น 3.40 ล้านบาท มีรายได้ 136.88 ล้านบาทในปี 2561
ขณะที่ปี 2562 บริษัทยังสามารถทำกำไรได้ต่อเนื่องที่ 1.33 ล้านบาท มีรายได้ 165.97 ล้านบาท ส่วนปี 2563 มีกำไร 3.56 ล้านบาท มีรายได้รวม 225.11 ล้านบาท