×

Arincare ชี้สตาร์ทอัพสายสุขภาพไทยมีข้อจำกัดเยอะ เกิดยาก แนะคนต้องมาก่อนเทคโนโลยี

19.06.2019
  • LOADING...
Arincare

ธีระ กนกกาญจนรัตน์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Arincare แพลตฟอร์มสำหรับร้านขายยาและเภสัชกร ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ว่า ได้เข้าร่วมงาน Techsauce Global Summit 2019 อีเวนต์ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับเอเชีย และบรรยายในหัวข้อ ‘How can tech startup transform healthcare industry’ โดยชี้อุปสรรคของการทำธุรกิจสตาร์ทอัพสายสุขภาพ หรือ Healthtech ในประเทศไทยที่มีข้อจำกัดหลายประการ เช่น กฎระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ เนื่องจากธุรกิจประเภทนี้เกี่ยวข้องกับสุขภาพและชีวิตของผู้คนโดยตรง เช่น ยารักษาโรค หรือบริการที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรค มีหน่วยงานด้านสาธารณสุขของภาครัฐที่เกี่ยวข้องจำนวนมากคอยตรวจสอบ และต้องใช้เวลาในการดำเนินการนานกว่าสตาร์ทอัพประเภทอื่น ที่ผ่านมามีสตาร์ทอัพบางรายปิดตัวหรือเปลี่ยนแนวทางการทำธุรกิจเนื่องจากข้อจำกัดดังกล่าว

 

ธุรกิจ Healthtech มักประสบปัญหาเรื่องกลุ่มผู้ใช้งานในระยะทดลอง หรือ Beta User เนื่องจากเป็นบริการที่มีผลหรือเกี่ยวข้องโดยตรงกับสุขภาพของผู้ใช้งาน การพัฒนาธุรกิจจึงเกิดได้ไม่รวดเร็วนัก โรงพยาบาลบางแห่งกำหนดให้สตาร์ทอัพทดลองในแซนด์บ็อกซ์ ซึ่งอาจทำให้กระบวนการทางธุรกิจล่าช้า นอกจากนี้ธุรกิจดังกล่าวอาจไม่ดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนได้หวือหวาเหมือนกับสตาร์ทอัพประเภทอื่น และธุรกิจประเภทนี้สัมพันธ์กับสุขภาพและคุณภาพชีวิตของกลุ่มลูกค้า ถ้าโตเร็ว อาจหมายถึงมีคนป่วยมากขึ้น ซึ่งไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของธุรกิจ

 

ธีระให้คำแนะนำผู้ที่สนใจทำธุรกิจ Healthtech กับ THE STANDARD ว่า ควรเริ่มจากความต้องการของผู้คนก่อนเรื่องเทคโนโลยี เนื่องจากโจทย์สำคัญคือ คุณภาพชีวิตของผู้ใช้บริการที่ควรจะดีขึ้นมากกว่าประสบการณ์ใช้งานเทคโนโลยีใหม่ๆ ขณะเดียวกันต้องมีความอดทนและรอผลสำเร็จนานกว่าสตาร์ทอัพประเภทอื่น แต่เมื่อธุรกิจไปต่อได้แล้ว ก็มีแนวโน้มที่เติบโตต่อเนื่องและแข็งแรงมากกว่า Healthtech จำเป็นต้องติดต่อกับหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง การกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่แคบเกินไปจึงทำได้ยาก และควรยึดถือแนวทางการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป (Transformation) มากกว่าความต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หรือไม่ทันตั้งตัว (Disruption)

 

ปัจจุบัน Arincare มีเครือข่ายร้านขายยาและผู้ใช้บริการกว่า 1.2 พันราย และยังขยายการให้บริการ รวมทั้งความร่วมมือกับองค์กรขนาดใหญ่อย่างโรงพยาบาลจุฬา โรงพยาบาลสมิติเวช โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และบริษัทยาต่างๆ ด้วย

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising