วานนี้ (22 เมษายน) รศ.พญ.ดุจใจ ชัยวานิชศิริ ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า จากการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลให้การบริจาคโลหิตลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยที่โรงพยาบาลทั่วประเทศกว่า 340 แห่ง มีความต้องการใช้โลหิตวันละ 6,500-7,000 ยูนิต ปัจจุบันปริมาณโลหิตบริจาคทั่วประเทศได้เพียงวันละ 2,000 ยูนิตเท่านั้น เนื่องจากจำนวนผู้บริจาคโลหิตลดลงอย่างมากทุกแห่ง หน่วยงานยกเลิกการจัดกิจกรรมรับบริจาคโลหิต พนักงานหลายองค์กรต้องทำงานที่บ้าน เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ควบคุมการแพร่ระบาดหรือมีการกักตัว
ส่งผลให้โรงพยาบาลทุกแห่งขาดโลหิต ไม่มีโลหิตเพียงพอในการรักษาและผ่าตัดผู้ป่วย รวมทั้งผู้ป่วยเด็กโรคเลือด เช่น โรคธาลัสซีเมีย, ฮีโมฟีเลีย ที่ต้องใช้โลหิตในปริมาณมากและต่อเนื่องตลอดชีวิต ซึ่งหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป การชะลอและเลื่อนการรักษาด้วยโลหิต อาจส่งผลอันตรายแก่ผู้ป่วยถึงชีวิตได้
รศ.พญ.ดุจใจ กล่าวว่า ขอให้ผู้บริจาคโลหิตเชื่อมั่นในการทำงานของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ผู้ทำหน้าที่จัดหาโลหิตบริจาคที่ปลอดภัยให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยยกระดับมาตรการ 3 ข้อ คัดกรอง เข้มงวด ครอบคลุม คือ การคัดกรองสำหรับผู้บริจาคโลหิต ขอให้คัดกรองตนเองก่อนมาบริจาคโลหิต
สำหรับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 สามารถบริจาคโลหิตได้ กรณีฉีดวัคซีน Sinovac เว้น 1 สัปดาห์ บริจาคโลหิตได้ ฉีดวัคซีน AstraZeneca และ Johnson & Johnson เว้น 4 สัปดาห์ บริจาคโลหิตได้ หากมีอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน ขอให้รอหลังหายดีแล้วเว้น 1 สัปดาห์ บริจาคโลหิตได้
“ทั้งนี้ ยืนยันว่า บุคลากรของสภากาชาดมีความตระหนักและปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด โดยมาตรการทั้งหมดครอบคลุมทั้งที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ หน่วยเคลื่อนที่และหน่วยรับบริจาคโลหิตประจำที่ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ 12 แห่งทั่วประเทศ เพื่อความปลอดภัยสูงสุดตามมาตรฐานสากล” รศ.พญ.ดุจใจ กล่าว