อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าวันนี้ (10 มีนาคม) คณะรัฐมนตรีอนุมัติมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 1 ได้แก่
- มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ วงเงินรวม 150,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% ระยะเวลา 2 ปี วงเงินสินเชื่อ 20 ล้านบาทต่อราย
- มาตรการพักเงินต้น ขยายเวลาการชำระดอกเบี้ย ลดดอกเบี้ยเพื่อเสริมสภาพคล่องให้ผู้ที่ต้องการกู้เงินซึ่งอยู่ภายใต้วงเงิน 150,000 ล้านบาท ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐบาล เช่น ธนาคารออมสิน, ธนาคารอาคารสงเคราะห์, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม
- มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยหารือธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน โดยธนาคารแห่งประเทศไทยผ่อนเกณฑ์และอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น
- มาตรการเสริมจากกองทุนประกันสังคม วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท โดยจะให้สินเชื่อเริ่มต้นที่ดอกเบี้ยเริ่ม 3% ระยะเวลา 3 ปี ให้สถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคม
ทั้งนี้ยังมีด้านมาตรการทางภาษี ได้แก่
- มาตรการคืนสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ ได้แก่ การลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย 3% เหลือ 1.5% เริ่มต้นเดือนเมษายนถึงกันยายน 2563
- มาตรการลดภาระดอกเบี้ยจ่ายของผู้ประกอบการ โดยให้สิทธิ์หักรายจ่ายดอกเบี้ย 1.5 เท่า สำหรับ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 150,000 ล้านบาท เริ่มวันที่ 1 เมษายน ถึง 31 ธันวาคม 2563
- มาตรการให้บริษัทและ SMEs ต่างๆ สามารถนำรายจ่ายลูกจ้าง SMEs ที่เป็นผู้ประกันตนหักรายจ่ายได้ 3 เท่าตามเกณฑ์ที่สรรพากรกำหนด
- เร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มผู้ประกอบการภายในประเทศ
นอกจากนี้จะมีมาตรการอื่นๆ เช่น การบรรเทาภาระการจ่ายค่าน้ำค่าไฟ คืนเงินประกันค่าใช้ไฟฟ้า (ค่ามิเตอร์) โดยจะมีการพิจารณาเงื่อนไขตามความเหมาะสมกับกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงแรงงาน
อีกทั้งยังมีข้อเสนอจากกองทุนประกันสังคมให้ลดเงินสมทบเข้ากองทุนของนายจ้างและลูกจ้าง โดยอาจมีมาตรการชั่วคราว 3 เดือนหรือ 6 เดือน รวมถึงการขอความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ เลื่อนการเก็บค่าเช่า ค่าธรรมเนียม การใช้บริการอื่นๆ กับประชาชน
ด้านตลาดทุน มีมาตรการที่ผ่านการหารือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดให้ประชาชนได้สิทธิลดหย่อนภาษีชั่วคราวในช่วงวันที่ 1 เมษายนถึง 30 มิถุนายน 2563 จากการซื้อกองทุนเพื่อการออมระยะยาว (SSF) โดยประชาชนสามารถซื้อหน่วยลงทุน SSF เพื่อใช้หักลดหย่อนภาษีบุคคลเพิ่ม 200,000 บาทต่อราย รวมเป็น 400,000 บาทต่อราย จากเดิมที่อยู่เพียง 200,000 บาทต่อราย ทั้งนี้อาจพิจารณาขยายช่วงระยะเวลาในอนาคต
นอกจากนี้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเบื้องต้น โดยกำหนดวงเงิน 20,000 ล้านบาทเพื่อเตรียมช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เช่น ถูกเลิกจ้างงาน หรือสถานประกอบการที่พนักงานอาจทำงานไม่ได้เต็มที่ การเสริมศักยภาพบุคลากร แม้ทางคณะรัฐมนตรีจะอนุมัติแล้ว แต่ต้องหารือกับสำนักงบประมาณเพื่อกำหนดรูปแบบและขอบเขตการใช้ไว้ใช้จ่ายได้ตามความจำเป็น
อย่างไรก็ตาม ทางคณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการยกเว้นอากรขาเข้าวัสดุในการทำหน้ากากเป็นเวลา 6 เดือน
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์