น.สพ.ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ภายใต้มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย กำหนดให้เงินได้ของบุคคลธรรมดาที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนใน ‘กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund หรือ TESG)’ ในอัตราไม่เกิน 30% ของเงินได้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 100,000 บาทสำหรับปีภาษีนั้น ได้รับการยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ มีผลตั้งแต่วันที่ ครม. มีมติอนุมัติไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2575 และการขายคืนหน่วยลงทุนไม่ต้องนำเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยจะต้องถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 8 ปีนับตั้งแต่วันที่ซื้อ
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงมีดังนี้
- ผู้มีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์ – บุคคลธรรมดาที่มีรายได้
- เงื่อนไขการได้รับสิทธิประโยชน์
การซื้อหน่วยลงทุน TESG
- นำเงินได้มาซื้อหน่วยลงทุนใน TESG
- เป็นเงินได้ที่ได้มาตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ – 31 ธันวาคม 2575
- ต้องถือหน่วยลงทุนใน TESG ไม่น้อยกว่า 8 ปีนับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน (แต่ไม่รวมกรณีทุพพลภาพหรือตาย)
การขายหน่วยลงทุน TESG
- ขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่ TESG
- ถือหน่วยลงทุนใน TESG มาแล้วไม่น้อยกว่า 8 ปีนับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน (แต่ไม่รวมกรณีทุพพลภาพหรือตาย)
3. สิทธิประโยชน์
- การซื้อหน่วยลงทุน TESG ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราไม่เกิน 30% ของเงินได้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 100,000 บาทสำหรับปีภาษีนั้นๆ
- การขายหน่วยลงทุน TESG ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินหรือผลประโยชน์ที่ได้รับมารวมคำนวณภาษีเงินได้ (เฉพาะกรณีที่คำนวณเงินหรือผลประโยชน์จากเงินที่ได้หักลดหย่อนกรณีซื้อหน่วยลงทุนใน TESG)
น.สพ.ชัย กล่าวว่า การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ผู้ลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESF Fund หรือ TESG) คาดว่าจะก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐ โดยสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีแรกประมาณ 3,000 ล้านบาท และในปีถัดๆ ไปปีละประมาณ 10,000 ล้านบาท
ส่วนประโยชน์คือ การเพิ่มการลงทุนระยะยาวในตลาดทุนไทย เพื่อทำให้เสถียรภาพของตลาดทุนไทยเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการลงทุนในกิจการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลเพิ่มขึ้น มีส่วนช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ รวมทั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
และเพื่อให้การดำเนินการตามร่างกฎกระทรวงดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เห็นควรที่กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการภาษีดังกล่าว รวมถึงสถานการณ์ ความจำเป็น และประโยชน์ที่จะได้รับ ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในโอกาสแรก รวมทั้งจัดทำประมาณการรายได้ เพื่อกำหนดไว้ในแผนการคลังระยะปานกลางให้ถูกต้อง ครบถ้วน และใช้เป็นกรอบในการวางแผนการดำเนินการทางการเงินการคลังและงบประมาณของประเทศ ตลอดจนติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์และรายงานผลการดำเนินงานตามมาตรการภาษีดังกล่าวตามนัยแห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ต่อไป