วชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในช่วงเช้าวันนี้ (2 มกราคม) ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ 30.18 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากก่อนหน้าที่แข็งค่าเร็วในช่วงก่อนวันหยุดสิ้นปี (แข็งค่าที่ราว 29.71 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) และสูงกว่าอัตราอ้างอิงเฉลี่ยของวันที่ 30 ธันวาคม 2562 มาที่ระดับ 30.18 บาทต่อดอลลาร์
ทั้งนี้ ธปท. มองว่า สภาพคล่องในตลาดเริ่มกลับมาเป็นปกติ โดยค่าเงินบาทมีความผันผวนสูงจากสภาวะที่ตลาดกำลังปรับสมดุลระหว่างแรงซื้อและแรงขายดอลลาร์สหรัฐ
“ธปท. จะดูแลการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด โดยผู้ร่วมตลาดอาจรอดูสถานการณ์การปรับตัวของตลาดสู่ภาวะปกติก่อนเร่งทำธุรกรรม”
จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้านักกลยุทธ์ตลาดทุนสายงานธุรกิจตลาดเงินทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทเช้านี้เปิดตลาดที่ระดับ 30.12 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าเล็กน้อยจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน 29.96 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งช่วงท้ายปี 2562 ค่าเงินบาทผันผวนหนัก
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันค่าเงินกลับมาซื้อขายที่ 30.12 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐแล้ว เชื่อว่า วันนี้ผู้กำหนดนโยบายอย่าง ธปท. จะออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของเงินบาท และเข้าดูแลมากขึ้น จึงไม่น่าปรับตัวลงเร็วเหมือนช่วงท้ายปีที่ผ่านมา กรอบการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทระหว่างวันนี้อยู่ที่ 30.05-30.15 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่กรอบการค่าเงินรายสัปดาห์ (30 ธันวาคม – 3 มกราคม) จะอยู่ที่ 29.85-30.35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ ปี 2563 คาดว่า ค่าเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าต่อจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่
- เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงจากความผันผวนทางการเมือง
- การฟื้นตัวด้านการค้าทั่วเอเชีย
- ภาพรวมการนำเข้าไทยที่ชะลอตัวตามทิศทางเศรษฐกิจ
ทั้ง 3 ปัจจัยนี้อาจกดดันให้เงินบาทแข็งค่าไปที่ 28.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงท้ายปี โดยต้องจับตาความเสี่ยงหลักคือ นโยบายการเงินของไทยที่อาจมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อตอบรับกับทิศทางของอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น
ในด้านต่างประเทศ อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) สหรัฐฯ ระยะยาว 10 ปี ปรับตัวขึ้นมาแตะระดับ 1.92% ส่งท้ายปี จากที่เคยลงไปแตะระดับต่ำสุดที่ 1.42% ในปีที่ผ่านมา เนื่องจากนักลงทุนกลับมามีความมั่นใจว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวปี 2563 และธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ไม่ลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง ด้าน โดนัลด์ ทรัมป์ ส่งสัญญาณว่า จะมีการเซ็นสัญญาการค้ากับจีนในวันที่ 15 มกราคมนี้
ด้านฝั่งนโยบายการเงิน ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศลดอัตราการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ลง 50 bps โดยจะมีผลในวันที่ 6 มกราคม ส่งผลให้ธนาคารใหญ่จะต้องกันสำรองเพียง 12.5% ขณะที่ธนาคารเล็กจะต้องการสำรองที่ 10.5% ของเงินฝาก ปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้สภาพคล่องในระบบปรับตัวสูงขึ้น ขณะเดียวกันก็จะทำให้ทิศทางของสกุลเงินเอเชียในวันนี้ไม่แข็งค่ามากด้วย
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประเมินทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ (30 ธันวาคม – 3 มกราคม) ว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 30.10-30.25 ต่อดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับสัปดาห์ที่แล้ว (23-27 ธันวาคม) ที่ปิดแข็งค่าในระดับ 30.15 ต่อดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ ช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น เพราะตลาดนักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน หลังจาก โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เปิดเผยว่า จะลงนามข้อตกลงการค้าเบื้องต้นเร็วๆ นี้
ส่วนปัจจัยในประเทศประเมินว่า ไทยยังเกินดุลการค้าและเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง จะทำให้เงินบาทแข็งค่าต่อไปอีกระยะ ขณะที่ภาพเศรษฐกิจไทยยังชะลอตัว เห็นได้จากการนำเข้าที่หดตัว ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปี 2563 ที่ 1-3% ต่างจากปัจจุบันที่อยู่ 1-4% ซึ่งกรอบใหม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงปัจจัยเชิงโครงสร้าง ซึ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต
อย่างไรก็ตาม ด้านค่าเงินบาท ธปท. ย้ำว่า ยังแข็งค่าเกินปัจจัยพื้นฐาน และพร้อมดำเนินนโยบายที่เหมาะสม ซึ่งท่าทีของ ธปท. ยังทำให้ตลาดระมัดระวังเรื่องค่าเงินต่อไป
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล