×

สว. 67 : ไม่ควรมีอีกแล้ว ‘สว. ชุดแต่งตั้ง’ ปิดฉาก 5 ปี ‘สว. เลือกนายกฯ’ ครั้งแรก-ครั้งเดียว การเมืองไทย

โดย THE STANDARD TEAM
10.05.2024
  • LOADING...
สว. เลือกนายกฯ

HIGHLIGHTS

  • วันนี้ (10 พฤษภาคม) สว. ชุดเฉพาะกาล ทั้ง 250 คน จะหมดวาระการทำหน้าที่ สว. ชุดพิเศษนี้มีที่มาจากการสรรหาโดย คสช. แต่งตั้งมาเพื่อโหวตเลือกนายกฯ จาก คสช. เป็นระบบที่ถูกเรียกว่า ‘ผลัดกันเกาหลัง’
  • อำนาจการโหวตเลือกนายกฯ ของ สว. จะไม่มีความจำเป็นอีกแล้ว เพราะไม่มีการประนอมอำนาจระหว่างฝ่ายที่มาจากการรัฐประหาร และฝ่ายที่มาจากการเลือกตั้งอีกต่อไป
  • วันชัย สอนศิริ สว. มองว่าระบบ สว. แบบแต่งตั้ง ควรหมดไปจากประเทศไทย และหวังให้ สว. ชุดต่อไปที่มาจากการเลือกกันเอง มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง ไม่ได้อยู่ใต้อาณัติใคร
  • ขณะที่ เสรี สุวรรณภานนท์ สว. เปิดเผยว่า หลังจากหมดวาระแล้ว หากมีอะไรที่ทำเพื่อชาติบ้านเมืองได้ก็พร้อมจะกลับมาทำ

 

 

หน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยต้องจารึกวันนี้ (10 พฤษภาคม) ไว้เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญ คือจุดสิ้นสุดการทำหน้าที่ของ 250 สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดเฉพาะกาล ที่ถูกแต่งตั้งโดย คสช. และแต่งเติมด้วยอำนาจโหวตนายกรัฐมนตรี ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ปี 2560

 

ตลอดวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี วุฒิสภาที่กำลังจะจากเราไป ได้หลงเหลือมรดกหลายอย่างไว้เป็นบรรทัดฐานครั้งแรกและครั้งเดียว เป็นเหตุให้โฉมหน้าการเมืองไทยหลังการรัฐประหาร 2557 ดำเนินมาถึงจุดนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นบทเรียนที่คนไทยไม่ควรลืมเลือน

 

ในโอกาสนี้ THE STANDARD ชวนรำลึกถึง ‘ที่มา’ และ ‘ที่ (กำลังจะ) ไป’ ของวุฒิสภาชุดพิเศษ ผ่านผลงานสำคัญของ 250 สว. รวมถึงทัศนะของ 2 สว. แถวหน้า วันชัย สอนศิริ และ เสรี สุวรรณภานนท์

 

วุฒิสภา: ของ คสช. โดย คสช. และเพื่อ คสช.?

 

เพราะเหตุใด ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า จึงเรียกวุฒิสภาชุดนี้ว่าเป็น ‘เครื่องมือสืบทอดอำนาจของ คสช.’

 

250 สว. ชุดเฉพาะกาล ประกอบด้วย 6 ผู้นำเหล่าทัพและปลัดกระทรวงกลาโหมที่เป็น สว. โดยตำแหน่ง, 194 คนมาจากการสรรหาโดยคณะกรรมการของ คสช. และอีก 50 คนเป็นการเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพ ที่ผ่านการรับรองโดย คสช. อีกครั้ง

 

ปิยบุตรเรียกกระบวนการได้มาซึ่ง สว. กลุ่มนี้ว่า กระบวนการ ‘ผลัดกันเกาหลัง’ 

 

“สว. มีที่มาจากสามทาง เสียเงินไป 1.3 พันล้านบาท เพื่อสรรหาให้ดูเหมือนว่ามาจากประชาชน แต่ประชาชนกลับไม่เคยได้เห็นชื่อเลย ได้ยินแต่ข่าวแว่วๆ ว่าจะมีใครบ้าง โดยกรรมการสรรหาก็คือ คสช. แล้วคนกลุ่มนี้ก็มีอำนาจที่จะกลับมายกมือเลือก คสช. ให้ได้เป็นรัฐบาลอีกครั้ง” ปิยบุตรกล่าว

 

และก็เป็นไปตามนั้น เมื่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเวลานั้น แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในนามพรรคพลังประชารัฐ รวมถึงหัวหน้า คสช. ได้รับเสียงโหวตเห็นชอบจาก สว. อย่างเป็นเอกฉันท์ เปรียบเสมือนสายน้ำที่ไหลทวนหวนกลับสู่ตาน้ำ

 

 

เสรี สุวรรณภานนท์ หนึ่งในสมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงประเด็นที่มาของ สว. ชุดนี้ว่า มาตามระบบของรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงประชามติ หากจะเข้ามาย่อมต้องรู้ว่ามีอำนาจหน้าที่ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ และหนึ่งในหน้าที่สำคัญคือการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

 

“เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดอำนาจหน้าที่ไว้อย่างนี้ เราอย่ารังเกียจตัวเอง อย่ารังเกียจกระบวนการที่ได้ คสช. แต่งตั้งมา เขาใช้บริการเราเพราะคงมองว่าเรามีความรู้ความสามารถ และเป็นประโยชน์แก่การทำงานได้ ไปๆ มาๆ สว. ชุดปัจจุบันอาจทำหน้าที่ได้ดีกว่า สว. ชุดอื่น ก็ได้” เสรีกล่าว

 

สว. ชุดนี้ก็ดูเหมือนจะทำหน้าได้ดีจริงตามวัตถุประสงค์ที่ถูกแต่งตั้งขึ้นมา แต่เมื่อสถานการณ์การเมืองเปลี่ยนไป ยุคที่ คสช. กุมอำนาจเริ่มผ่านพ้น กลไกในการโหวตเลือกนายกฯ ของ สว. ยังจำเป็นอยู่หรือไม่?

 

สว. กลับสู่โหมดปกติ หลังจบยุค ‘ประนอมอำนาจ’ กับคณะรัฐประหาร

 

“โดยหลักแล้วก็คงไม่จำเป็นหรอก” วันชัย สอนศิริ สว. ตอบคำถามข้างต้นกับ THE STANDARD 

 

“แต่เผอิญคนที่มาจากการรัฐประหารและกำลังจะไป เขาอยากให้ไปแบบไม่มีปัญหาอะไร เขาจึงพยายามวางกลไกในลักษณะเซฟตัวเขา และ Soft Landing เชื่อมต่อระหว่างอำนาจจากการรัฐประหารและอำนาจจากการเลือกตั้ง”

 

 

วันชัยคือผู้ที่เคยประกาศว่า เขาคือหนึ่งในผู้ริเริ่มตั้งคำถามพ่วงในประชามติ ซึ่งเป็นการเปิดสวิตช์ให้ สว. มีอำนาจร่วมโหวตเลือกนายกฯ กับ สส. เป็นครั้งแรกในการเมืองไทย

 

เขาเคยอธิบายแนวคิดดังกล่าวว่า เพื่อเป็นการ ‘ประนอมอำนาจ’ กันระหว่างฝ่ายที่มาจากรัฐประหารและฝ่ายที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อให้ไม่เกิดความขัดแย้งกันระหว่าง 5 ปีที่เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของประเทศ เป็นเหตุให้กลไกนี้อยู่กับวุฒิสภาชุดเฉพาะกาลจนครบวาระ

 

ทว่าล่าสุด วันชัยได้เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า หลังจาก สว. ชุดนี้ครบวาระ ไม่มีความจำเป็นต้องประนอมอำนาจอีก ต่อไปนี้การโหวตเลือกนายกฯ จะเป็นเรื่องของ สส. ทั้งสิ้น หรือเป็นการประนอมอำนาจกันระหว่างพรรคการเมืองหรือบรรดานักเลือกตั้งเท่านั้น

 

“บอกได้เลยว่า ถ้าตราบใดบ้านเมืองไม่มีการปฏิวัติรัฐประหาร สว. ที่มีอำนาจเลือกนายกฯ ในลักษณะแบบนี้ก็คงจะไม่มีอีกแล้ว” วันชัยกล่าวอย่างแน่วแน่

 

วันชัยอธิบายว่า สว. ชุดหลังจากนี้จะเข้าสู่โหมดปกติ ไม่มีภารกิจพิเศษอื่นใด ทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย คุมการบริหารราชการแผ่นดินโดยการตั้งกระทู้ถาม เสนอญัตติอภิปรายทั่วไป รวมถึงการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลในองค์กรอิสระ และเรื่องอื่นๆ ตามที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้

 

 

เช่นนี้แล้วจึงอาจพอสรุปได้ว่า อำนาจการเลือกนายกฯ ของ สว. ชุดเฉพาะกาล จะเป็นบรรทัดฐานครั้งแรกและครั้งเดียวของสมาชิกวุฒิสภาไทย ตราบใดที่วงจรรัฐประหารไม่อุบัติขึ้นมาอีก ตามความเห็นของ สว. วันชัย

 

ถึงอย่างไรก็ควรบันทึกไว้ว่า อำนาจดังกล่าวก็ได้ทำให้ประเทศไทยมีนายกฯ ที่เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารมาต่อเนื่องถึง 8 ปี 

 

ซ้ำยังทำให้แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงจากประชาชนสูงสุดในการเลือกตั้ง หมดสิทธิเสนอชื่อในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา เหตุการณ์เหล่านี้คงจะทาบทับในหัวใจของคนไทยหลายคนโดยไม่อาจลืมเลือนโดยง่าย

 

ผู้เฒ่าเฝ้ารัฐธรรมนูญ 2560

 

นอกจากภารกิจพิเศษคือการโหวตเลือกนายกฯ แล้ว สว. ชุดเฉพาะกาลนี้ยังทำหน้าที่ปกป้องพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 อย่างสุดความสามารถ หรืออย่างน้อยก็ชะลอการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นไปได้ช้าที่สุด

 

เนื่องด้วยการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแต่ละครั้ง จำเป็นต้องผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยมีเงื่อนไขว่าต้องได้รับเสียงเห็นชอบจาก สว. 1 ใน 3 ของทั้งหมดด้วย

 

 

นับแต่ปี 2562 เป็นต้นมา เจตจำนงของ สว. ชุดนี้ก็ชัดขึ้นเรื่อยๆ เพราะจากความพยายามของพรรคการเมืองและภาคประชาชนที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าไปมากมายหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็น ปลดล็อกท้องถิ่น, ปิดสวิตช์ สว. หรือแก้ไขทั้งฉบับ

 

ล้วนถูก ‘สภาสูง’ ตีตกจนหมดสิ้น แม้บางฉบับจะได้รับเสียงข้างมากแทบเป็นเอกฉันท์จาก ‘สภาล่าง’ แล้วก็ตาม

 

มีเพียงร่างฯ ฉบับเดียวเท่านั้นที่ได้รับเสียงเห็นชอบเพียงพอ คือฉบับที่เกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายการเลือกตั้ง สส. เป็นเหตุให้ในการเลือกตั้งปี 2566 ที่ผ่านมากลายเป็นระบบสองใบต่างเบอร์นั่นเอง

 

คนจำนวนไม่น้อยที่ต้องการความเปลี่ยนแปลง จึงหวังว่า สว. ชุดใหม่ที่มาจากการเลือกกันเองจะสามารถรวบรวมเสียงเห็นชอบได้ถึง 70 เสียงจากทั้งหมด 200 เสียง เพื่อปลดล็อกประเทศไทยให้พ้นจากรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่ถูกครหาว่ามีความไม่เป็นประชาธิปไตยได้สำเร็จ

 

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันนี้เองก็ได้วางระบบการเลือก สว. ชุดใหม่ที่ทั้งซับซ้อนและเอื้อต่อการจัดตั้ง จนเป็นที่น่ากังวลว่า เราจะได้ สว. ชุดใหม่ที่เป็นตัวแทนจากประชาชนจริงๆ หรือเป็น สว. จัดตั้ง ที่พร้อมปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับนี้เหมือนที่ผ่านมา

 

 

หวังให้ สว. ชุดใหม่ ‘เป็นอิสระอย่างแท้จริง’

 

หลังจากวันที่ 10 พฤษภาคม ที่ สว. ชุดปัจจุบันหมดวาระ คาดกันว่าไม่เกิน 2-3 วันก็จะมีพระราชกฤษฎีกาประกาศวันเปิดรับสมัคร สว. ชุดใหม่ตามมา ระหว่างนี้ สว. ชุดเดิมก็จะทำหน้าที่ ‘รักษาการ’ ไปจนกว่าจะมีการประกาศชื่อ สว. ชุดใหม่ทั้ง 200 คน

 

และในช่วงรักษาการนี้ ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าจะยาวนานเท่าใด สว. ก็จะยังมีอำนาจเต็มทั้งหมดเหมือนเดิม ยกเว้นการโหวตเลือกนายกฯ ซึ่งก็คงจะใช้เวลาดังกล่าวเร่งพิจารณาผ่านร่างกฎหมายต่างๆ ที่คั่งค้าง เช่น กฎหมายสมรสเท่าเทียม และอื่นๆ ให้เสร็จสิ้น

 

โดยเมื่อหมดวาระแล้ว สว. ชุดปัจจุบันจะต้องเว้นวรรคทางการเมืองเป็นเวลา 2 ปี และไม่มีสิทธิลงสมัครเป็น สว. ต่ออีกสมัย

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถาม สว. เสรี ถึงชีวิตหลังหมดวาระ เจ้าตัวตอบแบบติดตลกว่า ยังมีธุรกิจ ‘ตลาดเสรีมาร์เก็ต’ ของตัวเองอยู่ ส่วนโอกาสในการกลับมาสู่ชีวิตการเมืองหลัง 2 ปีนั้น สว. เสรี ตอบว่า ไม่มีอะไรจำกัดสิทธิเสรีภาพของตนเอง 

 

“หากมีโอกาสทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมให้บ้านเมืองก็พร้อมที่จะทำ อย่าจำกัดตัวเองว่าจบแล้วต้องจบเลย ไม่เช่นนั้นแก่แล้วจะเฉา” เสรีกล่าว

 

ด้านวันชัยได้ฝากฝังผ่าน THE STANDARD ไปถึง สว. ชุดใหม่ที่จะได้เข้ามาทำหน้าที่ โดยระบุว่า ด้วยระบบการเลือกที่ยึดโยง สว. กับกลุ่มอาชีพ เพื่อให้มี สว. ที่หลากหลาย ไม่ถูกครอบงำโดยอิทธิพลของพรรคการเมืองใดๆ รวมถึงไม่มี สว. ชุดแต่งตั้ง อันเป็นรากเหง้าของ คสช. ส่วนตัวจึงหวังว่า สว. ชุดที่ได้มานี้จะเป็นอิสระ มีความเป็นกลาง ไม่อยู่ใต้อาณัติของใคร

 

“ผมว่าประเทศไทยมันหมดเวลาแล้ว กับระบบ สว. ที่มาจากการแต่งตั้ง และหมดแล้วกับการปฏิวัติรัฐประหาร ไม่ควรจะมีอีกแล้วในประเทศนี้ คนที่เป็นฝ่ายบริหาร ฝ่าย สส.-สว. และองค์กรอิสระต่างๆ ต้องไม่สร้างเงื่อนไขใดๆ ให้เกิดการรัฐประหารอีก ให้อำนาจนี้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง” สว. วันชัย ทิ้งท้าย

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X