“ต่างจากสมาร์ทวอทช์แบรนด์อื่นๆ อย่างไร?”
“ทำอะไรได้บ้างนอกจากดูเวลา หรือวัดจังหวะการเต้นของหัวใจ?”
“ซื้อตอนนี้ยังคุ้มไหม ถ้าเทียบกับ SE หรือ Watch 5 เรือนไหนน่าสนใจกว่า?”
เหล่านี้เป็นเพียงคำถามบางส่วนเท่านั้นที่เราได้รับจากคนรอบตัวที่เกิดทั้งความสงสัยและสนใจอยากจะรู้จักเจ้า Apple Watch Series 6 ให้มากขึ้น ก่อนจะตัดสินใจจ่ายค่าตัวหลักหมื่นพาเจ้านาฬิกาอัจฉริยะเรือนนี้ขึ้นมาประดับสวมใส่อยู่บนข้อมือของตัวเอง
และนี่คือมุมมองความคิดเห็นที่เรามีต่อ Apple Watch 6 จากการใช้งานจริงนานกว่า 2 เดือนเต็ม ว่าสรุปแล้วเจ้านาฬิกาอัจฉริยะจาก Apple เรือนนี้มีความพิเศษอย่างไร เหมาะกับผู้ใช้งานที่มีไลฟ์สไตล์แบบไหน แล้วอะไรคือสิ่งที่คุณจะได้รับจากมัน?
ตัวเรือนยังสวยงามเช่นเคย เพิ่มเติมคือ ‘สีใหม่’ มีให้เลือกเยอะขึ้น และความแข็งแรงทนทาน
เริ่มต้นกันที่ดีไซน์ก่อน สำหรับ Apple Watch 6 ที่เราใช้งานนั้นเป็นตัวเรือนแบบสเตนเลส ขนาดหน้าปัด 44 มม. สีดำกราไฟต์ (ในโมเดลสเตนเลสยังมีสีทองและเงินให้เลือกอีก 2 สี) สายแบบ Milanese Loop สีเดียวกับตัวเรือน เข้าคู่กันลงตัวพอดีเป๊ะ สนนราคาอยู่ที่ 25,900 บาท ซึ่งดีไซน์ตัวเรือนโดยรวมจะไม่ได้แตกต่างหรือเปลี่ยนแปลงไปจากรุ่นที่แล้วอย่าง Watch 5 มากนัก
ส่วนในรุ่นอะลูมิเนียมจะมีสีให้เลือกเพิ่มขึ้นหลากหลายจาก Watch 5 อยู่พอสมควรคือ เงิน, ฟ้า, เทาสเปซเกรย์, สีทอง และสีแดง (PRODUCT)RED และรุ่นไทเทเนียมมีสีให้เลือก 2 สีคือ ดำธรรมชาติและดำสเปซแบล็ก
แวบแรกที่เปิดกล่อง หยิบเอาตัวเรือนออกมาจากกล่อง ความรู้สึกที่มีต่อ Watch 6 คือ เราพบว่าตัวเรือนสวยงามหรูหราสมราคาการเป็น Apple Watch มากๆ (แม้จะไม่ได้เปลี่ยนไปจาก Watch 5 ก็ตาม) ด้วยความที่วัสดุเป็นแบบสเตนเลส มันจึงเงางามและรีเฟลกซ์แสงที่ตกกระทบมาบริเวณตัวเรือนได้เป็นอย่างดี แต่ในเวลาเดียวกัน จุดสังเกตของการที่ตัวเรือนเป็นแบบสเตนเลสคือหากคุณไม่หมั่นเช็ดถูทำความสะอาดอยู่บ่อยๆ กรอบตัวเรือนซึ่งจะต้องสัมผัสกับนิ้วอยู่บ่อยๆ ก็จะเป็นรอยนิ้วมือคราบมันได้ง่ายเช่นกัน
ขณะที่บริเวณกระจกหน้าปัดเรือน ในรุ่นสเตนเลสและไทเทเนียมจะใช้จอแบบ ‘ผลึกแซฟไฟร์’ และรุ่นอะลูมิเนียมจะใช้จอภาพกระจก Ion‑X ซึ่งในมุมของผู้ใช้งาน เรามองว่าวัสดุกระจกแบบแซฟไฟร์แข็งแรงและทนทานมากๆ ไม่ค่อยเป็นรอยง่ายๆ ซึ่งครั้งหนึ่งเราเคย Drop Test ด้วยความไม่ตั้งใจ (พลาดทำตกตอนกำลังจะสวมในข้อมือ) แต่ตัวหน้าปัดกลับไม่ปรากฏรอยบิ่นหรือรอยขีดข่วนใดๆ เลยแม้แต่น้อย (ขอเตือนว่าคุณไม่ควรไป Drop Test ด้วยตัวเองเด็ดขาด เพราะอาจจะไม่โชคดีเหมือนกับเรา)
ต่างจากโมเดลแบบอะลูมิเนียมที่ใช้กระจกหน้าปัดแบบ Ion‑X ซึ่งเราเคยมีประสบการณ์ใช้งานในรุ่น Watch 4 แล้วพบว่ามันเป็นรอยง่ายมากๆ เพราะแค่เผลอทำหน้าปัดกระแทก เฉี่ยวขอบโต๊ะ มันก็พร้อมจะเป็นรอยขีดข่วนกวนใจได้แล้ว ดังนั้นถ้าต้องเลือกจริงๆ เราขอชูป้ายไฟเชียร์ให้คุณพิจารณาตัวเครื่องที่ใช้วัสดุแบบสเตนเลสขึ้นไปน่าจะเป็นทางเลือกที่คุ้มค่าและทนทานมากกว่า
อีกจุดความเปลี่ยนแปลงคือการที่ Apple เปลี่ยนมาใช้วัสดุสายนาฬิกาแบบรัดแนบสนิทไปกับข้อมือ เช่น สายซิลิโคนแบบ Solo Loop Band ที่ไม่มีเข็มมาให้กลัดแล้ว แต่จะใช้วิธีสวมเข้าไปให้แนบกับข้อมือเลย (ต้องวัดขนาดข้อมือก่อนเลือกซื้อสาย) ซึ่งจุดสังเกตคือเมื่อใช้งานไปเรื่อยๆ ตัวสายอาจจะขยายใหญ่และหลวมได้ หรือสายแบบ Braided Solo Loop ซึ่งใช้วัสดุแบบผ้าถักรีไซเคิลผสมเข้ากับด้ายซิลิโคน
จอไม่ดับ ‘Always on Display’ สว่างกว่าเก่า watchOS 7 ช่วยให้ตัวเรือนทำงานฉลาดกว่าเดิม
Apple Watch 6 มาพร้อมกับชิปประมวลผล SiP รุ่น S6 พร้อมโปรเซสเซอร์แบบ Dual-core 64 บิต ช่วยให้ประมวลผลการทำงานโดยทั่วไปได้เร็วกว่าชิป S5 ใน Watch 5 สูงสุด 20%
หน้าจอเป็น LTPO OLED Retina (ความสว่าง 1,000 นิต) แบบติดตลอด หรือ ‘Always on Display’ ที่ Apple เปิดตัวครั้งแรกในรุ่นที่แล้ว แต่มาครั้งนี้ Apple ได้ปรับให้จอของ Watch 6 แสดงผลได้สว่างขึ้นจาก Watch 5 ที่ราว 2.5 เท่า มีประโยชน์มากๆ เวลาออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้งในสภาพแวดล้อมแดดจัดๆ
ข้อดีของการใช้งาน Always on Display จากมุมมองของเราคือการที่ไม่ต้องบิดข้อมือมาให้ตรงกับองศาหน้าเพื่อดูเวลาอยู่บ่อยๆ เพราะแค่เหลือบตา ชำเลืองมองก็สามารถดูเวลาบนหน้าปัดได้แล้ว เพิ่มความสะดวกในการใช้งาน Apple Watch ได้ดีจนลืม Watch 4 ไปเลย (สามารถปิดโหมดแสดงผลแบบติดตลอดเวลาได้ ถ้าต้องการประหยัดแบตเตอรี่)
ขณะที่ตัวแบตเตอรี่ของ Watch 6 ยังเป็นลิเธียมไอออน ที่ใช้งานได้ต่อเนื่องสูงสุด 18 ชั่วโมงเช่นเคย ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับ Watch 4 ที่ไม่มีฟีเจอร์ Always on Display จะพบว่าตัวเครื่องสามารถทำงานได้อึดถึกทนขึ้นมากๆ และใช้เวลาชาร์จเร็วขึ้นกว่าใน Watch 5 ที่ 1 ชั่วโมงครึ่ง (เดิม 2 ชั่วโมงครึ่ง) ย่ิงใช้คู่กับ watchOS 7 ก็จะพบกับ ‘ความสะดวกและความฉลาด’ ของ Watch 6 มากๆ เพราะเมื่อตัวเรือนชาร์จแบตฯ เต็มหรือใกล้เต็มแล้ว ข้อมูลทั้งหมดก็จะเด้งเตือนมาที่ iPhone ของคุณเพื่อให้ทราบสถานะการชาร์จได้ง่ายๆ
แต่ข้อเสียคือ เมื่อมันใช้งานได้แค่ 18 ชั่วโมง ความหมายคือคุณก็ยังจะต้องใช้ Watch 6 แล้วชาร์จแบตฯ แบบวันต่อวันอยู่ดี ไม่สามารถปล่อยข้ามวันแล้วใช้ฟีเจอร์ต่างๆ ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเหมือนนาฬิกาออกกำลังกายของแบรนด์อื่นๆ ที่ถูกออกแบบมาให้ซัพพอร์ตการใช้งานข้ามวันข้ามคืนแบบลืมเดือนลืมตะวัน
ยิ่งถ้าคุณต้องเดินทางไปค้างแรมต่างที่ต่างถิ่นเป็นเวลาหลายๆ วัน ก็จะต้องคอยเตือนสติตัวเองไม่ให้ลืมหยิบเอาสายชาร์จแถบแม่เหล็กพกเข้ากระเป๋าเดินทางทุกครั้ง ไม่เช่นนั้นแล้ว Watch 6 ก็อาจจะหมดแรง ไม่สามารถไปต่อกับทริปของคุณได้ตลอดรอดฝั่ง (เราเองก็เจอปัญหานี้มาแล้ว!)
ทริกแก้ขัดที่อาจจะพอช่วยให้คุณใช้งาน Watch 6 แบบฉุกเฉิน บอกเวลาระหว่างวันพอถูไถได้อยู่บ้าง (แต่ไม่สามารถใช้งานฟีเจอร์อื่นๆ) แม้แบตเตอรี่จะเหลือต่ำกว่า 10% หรือหมดแล้วคือการเข้าสู่โหมดประหยัดพลังงาน Power Reserve (โดยปกติแล้วหากแบตฯ เหลือต่ำกว่า 10% ระบบจะเตือนให้เราเข้าสู่โหมดนี้อัตโนมัติ แต่ถ้าต้องการเข้าสู่โหมดดังกล่าวด้วยตัวเอง) ให้คลิกที่เปอร์เซ็นต์แบตเตอรี่ หรือเข้าหน้าการตั้งค่า > แบตเตอรี่ > เข้าสู่ Power Reserve ด้วยตัวเอง
ซึ่งเราเคยประสบปัญหาแบตฯ หมดนี้ด้วยตัวเองแล้วสามารถยืดอายุการใช้ Watch ออกไปเพื่อดูเวลาในโหมด Power Reserve ได้สูงสุดที่ประมาณ 3-4 วัน (ข้อมูลจาก Apple แจ้งว่าจะใช้ได้สูงสุดที่ 72 ชั่วโมง)
วัดระดับออกซิเจนในเลือดได้ สิ้นสุดการรอคอย ‘ฟีเจอร์แทร็กพฤติกรรมนอนหลับ’
ไฮไลต์ของ Apple Watch 6 คือการที่ตัวเรือนมาพร้อมกับความสามารถในการวัดค่าระดับออกซิเจนในเลือดภายในเวลาแค่ 15 วินาที ต่างจากรุ่นก่อนๆ ที่วัดได้แค่อัตราการเต้นของหัวใจ โดยทำงานผ่านเซนเซอร์ตัวใหม่ที่ฝังอยู่บริเวณฝาหลังตัวเครื่อง ประกอบด้วย หลอดไฟ LED ทั้ง 4 ดวง และโฟโต้ไดโอดทั้ง 4 ตัว
โดย Apple อธิบายไว้ว่า ตัวเซนเซอร์จะปล่อยแสงอินฟราเรดออกมาเพื่อส่องไปบนเส้นเลือดในข้อมือ จากนั้นเจ้าโฟโต้ไดโอดจะวัดปริมาณแสงที่สะท้อนกลับมา ก่อนที่อัลกอริทึมจะคำนวณสีของเลือดแล้วแปลงค่าเป็นปริมาณออกซิเจนที่อยู่ในเลือกของเราอีกที
นอกจากนี้ยังมีมาตรวัดความสูง Always-on-altimeter ที่สามารถใช้งานเพื่อตรวจวัดระดับความสูงจากพื้นดินในจุดที่คุณอยู่ ซึ่งเหมาะกับผู้ใช้งานที่มีงานอดิเรกโปรดปรานการออกกำลังกายแนวโลดโผน ไม่ว่าจะวิ่งเทรล, เดินป่า, ไฮกิ้งหรือปีนเขา เป็นต้น
ขณะที่ใน watchOS 7 ยังมีฟีเจอร์ที่ใครหลายๆ คน (รวมถึงผู้เขียน) ถวิลหามานานอย่างฟีเจอร์ติดตามการนอนหลับ ‘Sleep’ ที่ช่วยให้เราสามารถตั้งค่าเวลานอนหลับ เวลาตื่น (พร้อมตั้งปลุก) เป้าหมายของระยะเวลาที่อยากนอน เพียงแต่ข้อเสียที่เราพบคือ ข้อมูลที่ตัว Sleep แสดงผลออกมาจะไม่ละเอียด โดยจะโชว์แค่ข้อมูลระยะเวลาที่เราหลับหรือไม่หลับเท่านั้น
ต่างจากแอปฯ ตรวจจับการนอนหลับที่เราใช้อยู่อย่าง AutoSleep (ไม่ใช่แอปฯ ของ Apple) ซึ่งสามารถแสดงข้อมูลการแทร็กกิ้งที่ละเอียดกว่าได้เยอะมากๆ เช่น ระยะเวลาที่นอนหลับ, ช่วงเวลาที่หลับลึก, ระยะเวลาการนอนที่มีคุณภาพของคุณ และช่วงเวลาที่นอนไม่หลับ เป็นต้น แต่จุดนี้เรามองว่าไม่เป็นปัญหา เพราะเชื่อว่าในอนาคต Apple อาจจะปรับ เพิ่ม หรือพัฒนา Sleep ให้ใช้งานได้หลากหลาย รอบด้านขึ้นได้ไม่ยาก
Watch 6 เหมาะกับใคร ใช้ทำอะไรได้อีกนอกจากบอกเวลา สรุปแล้วซื้อตอนนี้ยังคุ้มไหม?
มาถึงคำถามสำคัญที่ใครหลายคนรอคอยว่า Apple Watch 6 จะเหมาะกับใคร? แล้วใช้ทำอะไรได้อีกนอกจากบอกเวลา?
สำหรับผู้เขียน นอกเหนือจากการใช้งานเพื่อบอกเวลา เรายังใช้งาน Apple Watch เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันแบบรอบด้าน ง่ายที่สุดคือการแจ้งข้อมูลอีเมล, SMS, สายโทรเข้า-โทรออก หรือแจ้งเตือนทุกสิ่งอย่าง หรือเช็กตารางางานของตัวเองในแต่ละวัน ซึ่งเราสามารถควบคุมผ่านนาฬิกาบนข้อมือได้เลย ไม่ต้องล้วงมือถือเข้าออกจากกระเป๋ากางเกงให้ยุ่งยากเสียเวลา
และด้วยความที่เป็นคนขี้ลืมอยู่บ่อยๆ เผลอลืมว่าวาง iPhone ไว้ตรงไหน ปัญหานี้จึงหมดไปทันที ด้วยการใช้ Watch ให้ iPhone ของเราแสดงผลคำสั่งเสียงเพื่อช่วยให้สามารถระบุตำแหน่งหรือสถานที่ที่เราลืมวาง iPhone ทิ้งไว้ ซึ่งถือว่ามีประโยชน์มากๆ
อีกฟีเจอร์ที่มีโอกาสได้ใช้งานบ่อยๆ (เป็นฟีเจอร์ที่มีมานานแล้ว) คือการสั่ง iPhone ถ่ายรูปผ่าน Apple Watch ที่ช่วยให้ปัญหาโลกแตกถ่ายรูปหมู่ ถ่ายรูปคู่แล้วหาคนถ่ายรูปให้ไม่ได้หมดไปโดยปริยาย ช่วยให้การถ่ายรูปเป็นเรื่องที่ทำได้สะดวกสุดๆ แถมยังเลือกปรับตั้งค่าเวลาลั่นชัตเตอร์ได้เองที่ 3 วินาทีและ 10 วินาที (เราสามารถสวิตช์กล้องหน้าและกล้องหลัง ปรับเปลี่ยนโหมด Live Photo, HDR หรือการใช้แฟลชผ่าน Watch ได้ด้วย)
ภาพที่ได้จากการใช้ Apple Watch 6 สั่งการ iPhone12 Pro Max ถ่าย
นอกจากนี้ด้วยความที่มีไลฟ์สไตล์ชอบออกกำลังกายด้วยการวิ่ง เราจึงมักจะใช้ Watch คู่กับแอปฯ Nike Run Club เพื่อดูข้อมูลแคลอรีที่เผาผลาญ Pace ที่ใช้โดยเฉลี่ยในการวิ่งครั้งนั้นๆ และบอกระยะทางที่เราวิ่งไปทั้งหมด ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้เราสามารถทำได้ใน Apple Watch นั่นเอง
ในมุมมองส่วนตัวของผู้เขียนมองว่า Apple Watch มีความเป็นไฮบริด ลูกผสมระหว่างนาฬิกาอัจฉริยะสายไลฟ์สไตล์และสปอร์ต ที่สามารถใช้งานช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้กับเราได้ทุกวันด้วยฟีเจอร์ต่างๆ ที่มีมาให้อย่างครบครัน มากกว่าจะเป็นนาฬิกาสำหรับคนออกกำลังกายหนักๆ บุกป่าฝ่าดงแบบแอดแวนเจอร์แบบสุดทาง
ดังนั้นแล้วหากคุณกำลังมองหาสมาร์ทวอทช์สักเรือนที่เปรียบเสมือนผู้ช่วยส่วนตัว อำนวยความสะดวกในทุกๆ แง่มุมไลฟ์สไตล์ Apple Watch 6 คือตัวเลือกที่เราแนะนำว่าเหมาะกับคุณมากๆ แต่หากคุณกำลังมองหานาฬิกาที่โดดเด่นเรื่องกิจกรรมแอดเวนเจอร์หนักๆ นิยมชมชอบการเข้าป่า หรือแม้แต่ดำน้ำแบบจริงจัง Apple Watch ก็อาจจะไม่ได้เหมาะกับคุณสักเท่าไร
ส่วนถามว่าจาก Apple Watch 5 เปลี่ยนมาเป็น Watch 6 ความเปลี่ยนแปลงมันแตกต่างกันมากขนาดนั้นไหม เรามองว่าอาจจะ ‘ไม่’ เพราะเชื่อว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะใช้งานฟีเจอร์วัดระดับออกซิเจนในเลือดอยู่เป็นประจำ (มีเฉพาะ Watch 5) เว้นแต่ว่าคุณเป็นสายดูแลสุขภาพแบบจัดๆ หรืออยากซื้อให้พ่อ แม่ ผู้สูงอายุ เพื่อคอยตรวจวัดข้อมูลในส่วนนี้ เพราะนอกเหนือจากนั้นฟีเจอร์และฮาร์ดแวร์ที่มีมาให้ใน Watch 6 ก็แทบจะเปลี่ยนจาก Watch 5 เพียงเล็กน้อยจนแทบจะแยกความต่างด้วยตาไม่เห็น
เว้นแต่ว่าคุณใช้งาน Watch รุ่นก่อน Watch 5 การเปลี่ยนมาใช้ Watch 6 ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจพอสมควร
ส่วน Watch SE ซึ่งถือเป็น ‘Apple Watch รุ่นประหยัด’ ที่เปิดตัวออกมาในช่วงเวลาเดียวกัน อาจจะเหมาะกับคนที่ ‘อยากลอง’ ใช้งาน Apple Watch เป็นครั้งแรก แต่ยังไม่รู้ว่าจะตัวเองจะใช้งานมันได้คุ้มค่ามากน้อยแค่ไหน โดย Watch SE เปรียบเสมือน Apple Watch 3 ที่ถูกปรับปรุงให้ทำงานได้เร็วขึ้นกว่าเดิมด้วยชิป S5 แบบ Dual-core Digital Crown (แบบเดียวกับใน Watch 5 แต่เร็วกว่า Watch 3 ถึงสองเท่า) จอเป็นเรตินา แสดงผลได้คมชัด ขนาดเท่า Watch 6 แต่ไม่มีฟีเจอร์ Always on Display, มีฟีเจอร์มาตรวัดความสูง Always-on-altimeter เหมือนกัน
จุดตัดความต่างด้านอื่นๆ คือ วัสดุตัวเรือนมีให้เลือกแค่อะลูมิเนียมเท่านั้น ไม่มีฟีเจอร์วัดระดับออกซิเจนในเลือด แต่แลกมาด้วยราคาจำหน่ายเริ่มต้นที่ 9,400 บาท ก็ถือว่าเป็นทางเลือกที่คุ้มค่าเลยทีเดียว
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า