โปรเจกต์รถยนต์ไฟฟ้า Titan ก็ถูกสั่งให้ปิดตัวลง ส่วน Vision Pro ก็ทำยอดขายได้ไม่ถึง 50% ของเป้าที่ตั้งไว้
สองเหตุการณ์ใหญ่ที่เกิดขึ้นในปีนี้ทำให้ผู้บริหารของบริษัทกำลังเจอกับคำถามใหญ่ที่ว่า…
“แล้วนวัตกรรมใหม่อะไรที่ Apple จะทำให้ขยายตลาดของตัวเองได้?”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เบื้องลึกเบื้องหลังฝันไกลแต่ไปไม่ถึงของ Apple จนต้องพับโปรเจกต์ รถยนต์
- Apple Vision Pro: จากเวทมนตร์สู่ความว่างเปล่า ของ Apple เทคโนโลยี AR
ปัจจุบันสินค้า Apple ในตลาดก็แทบจะเข้าไปอยู่ทุกส่วนในชีวิตประจำวันของหลายคนแล้ว เช่น การรับข้อมูลข่าวสาร ทำงาน เสพคอนเทนต์ หรือติดต่อกับคนรอบตัวก็ทำผ่านอุปกรณ์ iPhone, iPad, Mac หรือ Apple TV บางคนมี AirPods ติดตัวสำหรับทั้งประชุมทั้งฟังเพลง มี Apple Watch ไว้ติดตามสถานะสุขภาพ และผลิตภัณฑ์ล่าสุดของ Apple อย่างตัว Vision Pro ก็ถูกปล่อยออกสู่ตลาดเพื่อเชื่อมโลกแห่งความจริงและโลกเสมือนเข้าด้วยกัน
แน่นอนว่า Apple มีการอัปเกรดฟีเจอร์และสเปกของสินค้าในพอร์ตของตัวเองอยู่อย่างสม่ำเสมอ แต่การจะสร้างนวัตกรรมชิ้นใหม่ขึ้นมานั้นเป็นเรื่องที่ท้าทายกว่ามาก
Mark Gurman คอลัมนิสต์จาก Bloomberg ผู้เข้าถึงแหล่งข่าววงในมากที่สุดของ Apple รายงานว่า แม้โปรเจกต์ Titan จะล้มเหลว แต่ประสบการณ์ที่ได้จากการลงมือพัฒนาโปรเจกต์ดังกล่าวกลายเป็นการจุดประกายให้ทีมงานเกิดไอเดียภายในบริษัทว่า “ถ้าสินค้าของ Apple สามารถทำงานได้ด้วยตัวมันเอง ประสบการณ์ของผู้ใช้งานจะเปลี่ยนไปมากขนาดไหนจากปัจจุบัน?”
ย้อนกลับไปในปี 2563 ทางทีม Apple เริ่มค้นหาความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีโรโบติกส์เข้ามาใช้งานกับผลิตภัณฑ์ของตัวเอง โดยแหล่งข่าวให้ข้อมูลกับ Mark ว่า เคสที่กำลังทดสอบกันตอนนี้มีรหัสลับ ‘J595’ ที่ใช้เรียกกันภายในบริษัท ซึ่ง J595 เป็นการนำเอาแขนกลหุ่นยนต์มารวมกับหน้าจอขนาดประมาณ iPad เพื่อใช้อำนวยความสะดวกในบ้าน คล้ายกับ Echo Show 10 ของ Amazon หรือ Portal ของ Meta (สินค้าหยุดจำหน่ายแล้ว)
Echo Show 10 ของ Amazon
การพัฒนาโปรเจกต์ J595 เป็นความพยายามของ Apple ที่ต้องการจะเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้งาน และลดข้อจำกัดการเข้าถึงที่ ‘อุปกรณ์จำเป็นต้องอยู่ที่เดียวกันกับผู้ใช้งาน’ เช่น เราอาจต้องการใช้คอมพิวเตอร์ในกรณีเร่งด่วนแต่ไม่ได้พกอุปกรณ์ติดตัวมาด้วย หรือตอนมือไม่ว่าง หรือต้องการตรวจสอบสถานะภายในบ้านเวลาออกไปทำงานข้างนอก
สิ่งที่ทำให้ Apple มองว่าตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเดินหน้าโครงการ J595 คือพัฒนาการที่ก้าวกระโดดของ AI ซึ่งบริษัทเห็นว่า AI จะเป็นเทคโนโลยีที่อยู่ศูนย์กลางของอุปกรณ์ที่ขับเคลื่อนด้วยหุ่นยนต์อัตโนมัติทุกชนิด
นอกจากนี้ Apple ยังมีความเชี่ยวชาญในเรื่องการพัฒนาเซ็นเซอร์และระบบฮาร์ดแวร์ รวมทั้งทีมวิศวกรกว่า 100 คนที่จะมีเวลามาโฟกัสกับ J595 อย่างเต็มที่หลังจากโปรเจกต์รถยนต์อัตโนมัติ Titan ถูกพับเก็บไป
Mark ให้ข้อมูลว่า ผลิตภัณฑ์จากโครงการ J595 น่าจะออกมาให้เราเห็นกันภายในกรอบเวลาระหว่างปี 2026-2027
หากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ครั้งนี้ได้รับการตอบรับดีจากตลาด จะถือเป็นก้าวสำคัญให้ Apple สามารถบุกเข้าไปในตลาดสมาร์ทโฮมได้สำเร็จ หลังจากที่บริษัทตามหลังคู่แข่งอย่าง Amazon และ Google ที่จับมือกับ Samsung ในตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม Mark ผู้คลุกคลีกับวงการเทคโนโลยีมานานมองว่า บริษัทต่างๆ ในอุตสาหกรรมโรโบติกส์รวมทั้ง Apple ยังมีความท้าทายอีกหลายอย่างที่ต้องได้รับการปรับแก้จากเทคโนโลยีที่เพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้น ทั้งเรื่องของต้นทุนการพัฒนาที่สูงซึ่งอาจถูกส่งต่อไปสู่ผู้ใช้งาน ความพร้อมในการปรับตัวโดยรวมของผู้บริโภค โดยเหตุผลเหล่านี้ยังไม่นับรวมเป้าหมายระยะยาวของ Apple ที่ต้องการเห็นหุ่นยนต์เข้ามามีบทบาทมากกว่าแค่อุปกรณ์การสื่อสาร แต่เป็นผู้ช่วยที่สามารถทำงานเชิงกายภาพแทนมนุษย์ได้ เช่น การช่วยงานบ้าน
“โปรเจกต์รถยนต์ไฟฟ้าอัตโนมัติของ Apple ไปต่อไม่ไหวจนต้องปิดตัวลง และบริษัทก็กำลังเจอกับความท้าทายในผลิตภัณฑ์ใหม่อย่าง Vision Pro (ปัจจุบันปรับลดเป้าจำนวนการขายจาก 1 ล้านชิ้น จากรายงานของ Financial Times ลงมาเหลือน้อยกว่า 5 แสนชิ้น หรือต่ำกว่าเป้าแรก 50%) ซึ่งตอนนี้ทิศทางความแน่วแน่ของการนำผลิตภัณฑ์ใหม่จากโปรเจกต์ J595 ออกสู่ตลาดของ Apple ยังไม่มีความชัดเจนมากเท่าไรนัก แต่ถ้าเป้าหมายของพวกเขาคือการ ‘หาทางใหม่เพื่อเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คน’ เรื่องของหุ่นยนต์ดูจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสุด ณ ตอนนี้” Mark กล่าวปิดท้ายบทความ
ถ้าเราย้อนดูความล้มเหลวครั้งล่าสุดของ Apple จากโครงการรถยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติ การทุ่มทรัพยากรอย่างสุดตัวด้วยเม็ดเงินมูลค่า 3.4 แสนล้านบาทกับเวลากว่า 10 ปี อาจไม่ใช่คำตอบในการพานวัตกรรมไปสู่ความสำเร็จ แต่เป็นทิศทางของธุรกิจที่ชัดเจนกับความพร้อมของผู้บริโภค และนั่นอาจเป็นสิ่งที่ Apple ต้องตีโจทย์ให้แตก
ภาพ: kittyfly / Shutterstock
หมายเหตุภาพ: ภาพหุ่นยนต์ Tesla Bot Optimusในโรงงานผลิต Gigafactory Berlin-Brandenburg เบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี – 26 เมษายน 2024
อ้างอิง: