บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าหลายค่ายทั้งของสหรัฐฯ และจีน ได้เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าออกมาแล้วหลายรุ่น ส่งผลให้ Apple Inc. ต้องดำเนินการเร่งผลักดันพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าของตนและมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยีระบบไร้คนขับอย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น เพื่อเอาชนะความท้าทายของระบบไร้คนขับที่ซับซ้อน ซึ่งค่ายรถยนต์ไฟฟ้าอื่นๆ หลายเจ้า กำลังประสบกับความท้าทายนี้เช่นกัน
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทีมที่พัฒนาโปรเจกต์ Apple Car ได้มีการพิจารณาถึง 2 ทางเลือกของระบบไร้คนขับ ทางเลือกแรกคือระบบไร้คนขับที่มีขีดจำกัด ซึ่งเน้นไปที่การเลี้ยวควบคุมทิศทางและการเร่งความเร็วแบบอัตโนมัติ ซึ่งคล้ายกับรถยนต์ไฟฟ้าหลายๆ รุ่นในปัจจุบัน และทางเลือกที่ 2 คือเวอร์ชันที่มีความสามารถในการขับเคลื่อนด้วยตนเองอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งไม่ต้องใช้การควบคุมจากมนุษย์ใดๆ ทั้งสิ้น
ภายใต้ความพยายามของผู้นำคนใหม่อย่าง เควิน ลินช์ ซึ่งเป็นผู้บริหารซอฟต์แวร์ของ Apple Watch โดยสำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ลินช์กำลังโฟกัสไปที่ระบบไร้คนขับเต็มรูปแบบ หรือแบบที่ 2 ซึ่งเป็นข้อมูลจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับโปรเจกต์นี้ ที่ร้องขอให้ไม่เปิดเผยตัวตน
หลังจาก Bloomberg รายงานข่าวนี้ ส่งผลให้หุ้นของ Apple เพิ่มขึ้นมากถึง 2.4% เป็น 157.23 ดอลลาร์ต่อหุ้น หรือ 5,124 บาท
ซึ่งการที่ลินช์โฟกัสไปที่ระบบไร้คนขับเต็มรูปแบบถือเป็นเรื่องที่มาเหนือคู่แข่งเจ้าอื่นๆ อย่างมาก โดยโปรเจกต์ Apple Car หรือที่เรียกว่า ‘โปรเจกต์ไททัน’ ได้ถูกเปลี่ยนกลยุทธ์ไปมาอยู่บ่อยครั้ง รวมถึงมีการถอนตัวของผู้นำโปรเจกต์อยู่บ่อยๆ อีกด้วย
โดยในปี 2014 ดั๊ก ฟิลด์ อดีตหัวหน้าโปรเจกต์ ซึ่งหลังจากเป็นผู้นำโปรเจกต์ได้ 3 ปี ก็ถอนตัวจากบริษัทเพื่อเข้าทำงานที่บริษัทรถยนต์ Ford Motor Co. แทน และ Apple ก็ได้เลือกลินช์ขึ้นมาเป็นผู้นำโปรเจกต์ ซึ่งเป็นการเลือกผู้บริหารภายในบริษัทมานำโปรเจกต์ แทนที่จะเลือกผู้ที่มีประสบการณ์ในแวดวงรถยนต์เข้ามา
Apple กำลังไล่ตามเทคโนโลยีระบบไร้คนขับของรถยนต์ค่ายอื่นๆ ซึ่งบริษัทรถยนต์ไร้คนขับยักษ์ใหญ่หลายๆ เจ้าต้องใช้เวลากว่าหลายปีในการพัฒนาระบบไร้คนขับออกมา ซึ่งในตอนนี้ระบบไร้คนขับเหล่านั้นยังถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่ซับซ้อนและมีความท้าทายอย่างมาก
อย่างบริษัท Tesla ที่เป็นผู้นำตลาดในรถยนต์ไฟฟ้า ยังต้องใช้กว่าอีกหลายปีต่อจากนี้กว่าที่จะนำเสนอรถยนต์ไร้คนขับเต็มรูปแบบได้ และรถยนต์ Waymo ของบริษัท Alphabet Inc. ก็ประสบปัญหาในการพยายามพัฒนาเทคโนโลยีนี้เช่นกัน ส่วนบริษัท Uber Technologies Inc. ก็ขายแผนกระบบไร้คนขับของตนไปเมื่อปีที่แล้ว
ทั้งนี้ Apple ตั้งเป้ากันภายในบริษัทว่าจะเปิดตัวรถยนต์ไร้คนขับภายใน 4 ปี หรือจะเปิดตัวในปี 2025 นั่นเอง ซึ่งเร็วกว่าไทม์ไลน์ 5-7 ปีที่วิศวกรบางคนวางแผนไว้เมื่อต้นปีนี้ และการบรรลุเป้าหมายเปิดตัวในปี 2025 นั้นขึ้นอยู่กับความสามารถของบริษัทในการพัฒนาระบบไร้คนขับให้เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งเป็นงานที่มีความท้าทายอย่างมากจากการถูกบีบด้วยเวลา ถ้าหาก Apple ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ อาจทำให้การเปิดตัวล่าช้าออกไป หรือ Apple อาจจะวางขายรถยนต์ที่มีเทคโนโลยีต่ำกว่าที่วางแผนไว้ไปก่อนในช่วงแรก
ทางด้านโฆษกของ Apple ในแคลิฟอร์เนีย ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้
รถในอุดมคติของ Apple ที่ทางบริษัทวาดภาพไว้จะไม่มีพวงมาลัยและแป้นเหยียบต่างๆ รวมถึงการตกแต่งภายในของรถจะได้รับการออกแบบมาให้ขับขี่ได้โดยที่ไม่ต้องใช้มือควบคุมใดๆ ทั้งสิ้น อีกทางเลือกหนึ่งที่มีการระดมความคิดกันภายในบริษัทคือ การตกแต่งภายในที่คล้ายกับรถที่เน้นไลฟ์สไตล์จากบริษัท Canoo Inc. ซึ่งเป็นบริษัทที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดดในอุตสาหกรรม EV โดยในรถคันนั้นผู้โดยสารจะนั่งที่ข้างรถและหันหน้าเข้าหากันเหมือนนั่งอยู่ในรถลีมูซีน
นอกจากนั้น Apple ยังได้สำรวจเก็บข้อมูล เพื่อนำมาการออกแบบระบบสาระบันเทิงของรถ (Infotainment System) ซึ่งอาจจะออกมาในรูปแบบหน้าจอสัมผัสขนาดใหญ่เหมือน iPad อยู่ตรงกลางรถ เพื่อให้ผู้ใช้ควบคุมและโต้ตอบกับมันได้ตลอดการเดินทาง รถจะถูกรวมเข้ากับบริการและอุปกรณ์ที่มีอยู่ต่างๆ ของ Apple แม้ว่าบริษัทจะออกแบบให้รถไม่มีพวงมาลัยแบบมาตรฐาน แต่ Apple ก็ได้หารือเกี่ยวกับการเตรียมให้รถมีโหมดควบคุมฉุกเฉินเพื่อความปลอดภัย
เมื่อเร็วๆ นี้ Apple ได้บรรลุเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาระบบไร้คนขับของรถยนต์แล้วคือ การพัฒนาส่วนที่สำคัญของโปรเซสเซอร์ที่ใช้ในระบบไร้คนขับได้สำเร็จ ซึ่งจะนำมาใช้ใน Apple Car รุ่นแรกนี้ที่กำลังเร่งพัฒนาอยู่
โดยชิปนี้ได้รับการออกแบบโดยทีมวิศวกรรมซิลิคอนของ Apple ซึ่งเป็นทีมที่ออกแบบโปรเซสเซอร์สำหรับ iPhone, iPad และ Mac ซึ่งหน้าที่ของทีมนี้ก็รวมถึงการพัฒนาซอฟต์แวร์พื้นฐานที่ทำงานบนชิป เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการขับขี่อัตโนมัติอีกด้วย
อีกไม่นานความก้าวหน้าของโปรเจกต์นี้อาจไปสู่ขั้นตอนการทดสอบบนท้องถนน โดย Apple วางแผนที่จะเริ่มใช้โปรเซสเซอร์ใหม่และเซ็นเซอร์ที่ขับเคลื่อนอัตโนมัติในรถยนต์ที่ดัดแปลงขึ้นมาของบริษัท ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีรถเอสยูวียี่ห้อ Lexus จำนวน 69 คันที่ถูกดัดแปลงเพื่อทดลองใช้เทคโนโลยีของตน ตามรายงานของกรมยานยนต์ของรัฐในสหรัฐฯ
ชิปในรถยนต์ของ Apple ถือเป็นส่วนประกอบที่ล้ำหน้าที่สุดที่ Apple ได้พัฒนาออกมา ซึ่งประกอบไปด้วยโปรเซสเซอร์ที่สามารถรองรับการประมวลผล AI ที่จำเป็นสำหรับการขับขี่แบบอัตโนมัติ ซึ่งความสามารถของชิปที่ล้ำหน้าอาจนำมาซึ่งความร้อนสูง และ Apple อาจต้องพัฒนาระบบระบายความร้อนที่ล้ำหน้าตามไปด้วย
แต่การสร้างรถยนต์จริงๆ ขึ้นมาสำหรับ Apple ที่เป็นผู้อยู่นอกแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์นั้นอาจต้องมีการร่วมมือกับบริษัทและผู้ผลิตในอุตสาหกรรมนี้หลายราย ซึ่ง Apple เองก็ได้เข้าหารือกับพาร์ตเนอร์ในอุตสาหกรรมนี้ไปแล้วรายหลาย
แม้จะมีความคืบหน้าออกมาให้เห็นอยู่เรื่อยๆ ในช่วงนี้ แต่การสร้างรถยนต์ที่ขับเคลื่อนอัตโนมัติให้เสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2025 กลับถูกมองว่าเรื่องที่หนักหนาสาหัสอย่างมากต่อ Apple ซึ่งบางคนในโปรเจกต์ไททันเองยังไม่แน่ใจต่อเป้าหมายเปิดตัวนี้อยู่เช่นกัน
Apple มองว่า ความปลอดภัยถือเป็นส่วนสำคัญอย่างมาก โดยบริษัทกำลังมองหาและพัฒนาระบบป้องกันที่ปลอดภัยกว่าของ Tesla และ Waymo ซึ่งจะเห็นได้ว่า Apple กำลังประกาศจ้างวิศวกรเพื่อทดสอบและพัฒนาฟังก์ชันด้านความปลอดภัยอย่างจริงจัง จากหน้าประกาศจ้างงานของ Apple ระบุว่า “งานของคุณคือใช้ความหลงใหลในการค้นหาสิ่งใหม่ๆ ที่คุณมี เพื่อช่วยในการออกแบบระบบความปลอดภัยและทดสอบการตอบโต้ของระบบเหล่านั้น”
สิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า Apple Car อาจสามารถเปิดตัวได้ในปี 2025 คือการที่ Apple เร่งเดินหน้าในโครงการนี้ โดยกำลังจ้างวิศวกรเกี่ยวกับระบบขับขี่อัตโนมัติและด้านฮาร์ดแวร์รถยนต์มากขึ้น รวมถึงจ้าง ซีเจ มัวร์ อดีตผู้อำนวยการซอฟต์แวร์ขับขี่อัตโนมัติของบริษัท Tesla ซึ่งเป็นผู้นำตลาดในขณะนี้
รวมถึงในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา Apple ยังได้ติดต่อผู้เชี่ยวชาญด้านระบบสภาพอากาศจาก Volvo Car AB ผู้จัดการจาก Daimler Trucks วิศวกรระบบแบตเตอรี่จาก Karma Automotive LLC และผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นๆ วิศวกรเซ็นเซอร์จาก Cruise LLC ของ General Motors Co. วิศวกรความปลอดภัยยานยนต์จากบริษัทต่างๆ เช่น Joyson Safety Systems และวิศวกรอีกหลายคนจาก Tesla ตามข้อมูลจาก LinkedIn และผู้ที่อยู่ในแวดวงนี้
การไปถึงจุดที่จะเปิดตัว Apple Car ได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โปรเจกต์รถยนต์ของ Apple ประสบปัญหาด้านการพัฒนา การถอนตัวของผู้นำหลายต่อหลายคน การเลิกจ้าง และความล่าช้ามาตลอด 7 ปีที่ผ่านมา และการเข้ามาของ Tesla ในปี 2018 ทำให้ความตื่นเต้นของผู้คนได้เจือจางลงไปในตอนนี้
ปัจจุบันลินช์เป็นผู้บริหารคนที่ 5 ที่ดูแลโครงการนี้ที่มีอายุมาแล้วกว่า 7 ปี อัตราการถอนตัวของผู้นำโปรเจกต์นี้สูงมากอย่างน่าตกใจสำหรับบริษัท Apple ยกตัวอย่าง เมื่อเทียบกับโปรเจกต์โลกเสมือนจริง VR & AR ที่มีผู้นำเพียงแค่ 1 คน ไม่เคยเปลี่ยนเลยตั้งแต่เริ่มโครงการมา ซึ่งโปรเจกต์นี้ริเริ่มขึ้นในช่วงเวลาพอๆ กับโปรเจกต์ไททันนี้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ด้วยความสามารถของลินช์ที่พิสูจน์แล้วจากการทำให้ Apple Watch กลายเป็นผลิตภัณฑ์หลักของ Apple ได้ แต่คำถามในตอนนี้คือ ลินช์จะสามารถทำให้ผลิตภัณฑ์ชิ้นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของ Apple อย่างรถยนต์ ประสบความสำเร็จเหมือน Apple Watch ได้หรือไม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP