วันศุกร์ที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ (ตรงกับช่วงวันเสาร์ของประเทศไทย) Apple ได้สร้างความตื่นตัวให้กับวงการเทคโนโลยีอีกครั้ง
เมื่อรายงานข่าวจากเว็บไซต์ Bloomberg ระบุว่าพวกเขาเตรียมตบเท้าเข้าสู่การเริ่มต้นทำธุรกิจดาวเทียมของตัวเอง โดยได้ฟอร์มทีมวิศวกรที่เคยมีประสบการณ์ทำงานในอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ การออกแบบดาวเทียมและเสาอากาศ รวมทั้งหมดจำนวน 12 คนขึ้นมา เพื่อทำงานในโปรเจกต์ลับนี้โดยเฉพาะแล้ว
Apple ตั้งเป้าไว้ว่า ภายใน 5 ปี Apple จะต้องสามารถนำดาวเทียมขึ้นไปติดตั้งในวงโคจรให้ได้ อย่างไรก็ดีเนื่องจากยังเป็นโปรเจกต์ที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น แหล่งข่าวจึงเชื่อว่าโครงการที่เกิดขึ้นในครั้งนี้มีโอกาสที่อาจจะถูกพับเก็บเข้าลิ้นชักได้เสมอ
แต่ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่จุดนั้น เพราะการที่ Apple ตั้งเป้าพาตัวเองเข้ามาสู่อุตสาหกรรมดาวเทียมและการสื่อสาร แสดงว่าการ ‘ขยับตัว’ ในครั้งนี้ย่อมมีเบื้องหลังที่น่าสนใจ และน่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับการสื่อสารบนโลกใบนี้ได้อย่างแน่นอน
ทำไม Apple ถึงต้องทำธุรกิจดาวเทียมของตัวเอง?
ถึงแหล่งข่าววงในที่เปิดเผยข้อมูลโปรเจกต์ลับของ Apple กับสำนักข่าว Bloomberg จะบอกว่า เป้าหมายการใช้ประโยชน์ของดาวเทียมสื่อสารที่ Apple เตรียมจะพัฒนาขึ้นมายังคลุมเครือ แต่หลายฝ่ายก็มองไปในทิศทางเดียวกันว่า Apple ตั้งใจพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมสื่อสารขึ้นมาเพื่อประโยชน์ในการรับ-ส่งข้อมูลหรือบริการ ‘ฟรีอินเทอร์เน็ต’ สำหรับผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ Apple โดยเฉพาะ
หมายความว่าในอนาคต ถ้าเราใช้ iPhone หรือ iPad ก็อาจจะสามารถเชื่อมต่อโครงข่ายไร้สายของ Apple ได้ฟรีแบบไม่เสียเงิน เพื่อใช้ในการรับ-ส่งข้อมูล ท่องโลกอินเทอร์เน็ต ไม่ต้องง้อผู้ให้บริการโครงข่ายไร้สาย Wi-fi อีกต่อไป และจะทำผลิตภัณฑ์ของ Apple ในอนาคตมาพร้อมกับฟีเจอร์และสิทธิพิเศษเหนือผลิตภัณฑ์ของค่ายอื่นๆ ทันที
ที่สำคัญ Apple ยังสามารถนำดาวเทียมดังกล่าวมาพัฒนาให้ระบบระบุพิกัดของอุปกรณ์มีความแม่นยำกว่าเดิม เพื่อช่วยในการยกระดับประสิทธิภาพของแอปฯ แผนที่นำทาง Maps และฟีเจอร์อื่นๆ ในอนาคตอีกด้วย
อันที่จริง Apple ไม่ใช่บริษัทเทคโนโลยีรายแรกที่มองเห็น ‘โอกาส’ ในสนามนี้ เพราะก่อนหน้านี้บริษัท SpaceX และ Amazon ก็นำร่องฟอร์มทีมพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมเพื่อประโยชน์ของการให้บริการฟรีอินเทอร์เน็ตกันไปก่อนแล้ว
โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมานี้ SpaceX ได้ปล่อยดาวเทียมรวมทั้งหมดกว่า 60 ดวงจากโปรเจกต์ Starlink เข้าสู่วงโคจร (ก่อนหน้านี้ปล่อยไปแล้ว 62 ดวง รวมทั้งหมดมี 122 ดวง) ซึ่งคาดว่าปลายทาง SpaceX จะมีดาวเทียมนับหมื่นดวงที่โคจรเพื่อให้บริการฟรีอินเทอร์เน็ตกับผู้ใช้งานบนโลก
ฝั่ง Amazon อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ระดับโลกก็ได้เปิดตัวโปรเจกต์ ‘Kuiper’ เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา เพื่อเตรียมปล่อยดาวเทียมกว่า 3,236 ดวง สร้างโครงข่ายให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงครอบคลุมทั่วโลก เช่นเดียวกับ Facebook ที่เคยประกาศทุ่มงบกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อ 4 ปีที่แล้วเพื่อพัฒนาดาวเทียมมาเพื่อจุดประสงค์การให้บริการฟรีอินเทอร์เน็ตเช่นกัน (เข้าถึงตลาดในแอฟริกาและภูมิภาคอื่นๆ ที่ Facebook ยังสามารถเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานให้กับตัวเองได้)
ครั้งหนึ่ง สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS เคยให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ว่า ตัวเขาเองเคยมีโอกาสได้ไปเยี่ยมเยือนบริษัทเทคโนโลยีทั่วโลก รวมถึง Facebook และ Google ซึ่งทั้งสองรายก็เป็นผู้เล่นที่เล็งจะตบเท้าเข้าสู่การทำดาวเทียมเป็นของตัวเอง
สาเหตุก็เพราะว่า ทั้ง Facebook และ Google ต่างก็มีรายได้จากการขายโฆษณาบนแพลตฟอร์ม นั่นแสดงว่ายิ่งพวกเขาสามารถดึงดูดคนให้มาอยู่บนแพลตฟอร์มได้นานแค่ไหน โอกาสที่รายได้จะขยับตัวเพิ่มขึ้นสูงก็จะดีดตัวตามไปด้วย การทำบริการฟรีอินเทอร์เน็ตจึงเข้ามาเติมเต็มเพนพอยท์ที่เกิดขึ้นได้อย่างลงตัวและแนบเนียน
แต่แน่นอนเมื่อปัญหาถูกแก้ ก็ย่อมมีผู้ได้รับผลกระทบ เพราะถ้าหากบริการฟรีอินเทอร์เน็ตเกิดขึ้น และสามารถใช้งานครอบคลุมได้ทั่วโลกจริงๆ ขึ้นมาเมื่อไร คนที่จะต้องปรับตัวและเปลี่ยนกลยุทธ์การทำธุรกิจกันครั้งใหญ่ที่สุดก็คงหนีไม่พ้นเหล่า ‘ผู้ให้บริการเครือข่าย’
อีกไม่เกิน 5 ปีต่อจากนี้ เราน่าจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นกับเทคโนโลยีการสื่อสารแน่นอน
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- www.bloomberg.com/news/articles/2019-12-20/apple-has-top-secret-team-working-on-internet-satellites?sref=ExbtjcSG
- www.cnbc.com/2019/12/20/apple-is-entering-the-satellite-business-report-says.html
- www.theverge.com/2019/12/20/21031249/apple-satellite-technology-team-under-development-bloomberg-report
- techcrunch.com/2019/12/20/apple-reportedly-working-on-satellite-technology-for-direct-wireless-iphone-data-transmission/