‘ยุโรป’ นับเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ผลักดันนโยบายการจัดเก็บภาษีแพลตฟอร์มดิจิทัลมาโดยตลอด โดยเฉพาะแพลตฟอร์มเทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกาที่เข้ามาทำธุรกิจในยุโรป แต่กลับจ่ายภาษีให้กับรัฐบาลแต่ละประเทศในสัดส่วนเพียงเล็กน้อย นั่นจึงทำให้หลายประเทศเริ่มลุกขึ้นมาปฏิรูปแผนการจัดเก็บภาษีดังกล่าวอย่างจริงจังมากขึ้น
โดยหนึ่งในประเทศที่มุ่งมั่นจัดเก็บภาษีแพลตฟอร์มบริการดิจิทัลอย่างจริงจังคือสหราชอาณาจักร ซึ่งได้ดำเนินการเพิ่มการจัดเก็บภาษีกับแพลตฟอร์มดิจิทัลเหล่านั้นขึ้นอีก 2%
ผลที่ตามมาจึงทำให้บริษัทผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ไม่ว่าจะ Apple, Google หรือ Amazon ตัดสินใจขึ้นราคาการให้บริการของพวกเขาในตลาดยุโรปเพิ่มอีก 2% ตามขึ้นไปด้วย และทำให้ผู้บริโภค พาร์ตเนอร์ รวมไปถึงลูกค้ากลุ่มองค์กรในประเทศพลอยได้รับผลกระทับดังกล่าวเป็นลูกโซ่ต่อเนื่อง
เริ่มต้นที่ Apple ที่ได้ปรับรูปแบบการจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับนักพัฒนาบน App Store ในสหราชอาณาจักร ซึ่งนอกเหนือจากภาษี 20% ที่ Apple จ่ายให้รัฐบาลโดยตรงในทุกๆ การชำระสินค้า บริการบนแพลตฟอร์มของพวกเขา Apple ก็จะตัดส่วนแบ่งอีก 2% จากเงินรายได้ที่เหลือก่อนจะแบ่งรายรับระหว่างพวกเขาและนักพัฒนา
ขณะที่ Google ได้เพิ่มค่าธรรมเนียมการซื้อโฆษณาบน Google Ads และ YouTube ในสัดส่วนราว 2% ด้านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ Amazon ก็จะขึ้นค่าธรรมเนียมกับผู้ค้า Third Party ในสหราชอาณาจักรที่ 2% ด้วยเช่นกัน
อันที่จริงแล้วนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่แพลตฟอร์มเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ เลือกตอบโต้นโยบายการจัดเก็บภาษีดิจิทัลของรัฐบาลในแต่ละประเทศด้วยการขึ้นราคาการให้บริการ เพราะก่อนหน้านี้ Apple ก็เคยขึ้นราคาค่าบริการในตุรกีที่ 7.5% มาแล้ว หลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศบังคับใช้แผนการจัดเก็บภาษีแพลตฟอร์มดิจิทัลฉบับใหม่
ขณะที่ประเทศไทยก็กำลังอยู่ในระหว่างการมองถึงความเป็นไปได้ในการบังคับใช้แผนการจัดเก็บภาษีดิจิทัล e-Service อย่างจริงจังเช่นกัน ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นจริง ก็มีความเป็นไปได้ที่ผู้บริโภคอย่างเราน่าจะต้องจ่ายค่าบริการต่างๆ ไม่ว่าจะสตรีมมิงมิวสิก สตรีมมิงคอนเทนต์ หรือการซื้อแอปพลิเคชันต่างๆ แพงขึ้นอีกราว 7%
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: