กระแสความนิยมของบริการในโมเดล Subscription Services กำลังมาแรงและลุกลามติดมาถึงอุตสาหกรรมเกม เพราะนอกจากผู้บริโภคจะได้ประโยชน์จากการเหมาจ่ายแล้ว ฝั่งผู้ให้บริการก็ยังเก็บกินในระยะยาวได้เหมือนกัน ที่ผ่านมาเราจะเห็นค่ายผู้พัฒนาเทคโนโลยีหลากหลายเจ้าทยอยเปิดตัวบริการคลาวด์เกมมิงใหม่ๆ ออกมาต่อเนื่อง ทั้ง Google Stadia หรือโปรเจกต์ใหม่ที่ยังไม่เปิดเผยชื่อที่พัฒนาโดย Sony และ Microsoft
ฟาก Apple แม้จะไม่ได้มุ่งไปยังแพลตฟอร์มคลาวด์เกมมิงเต็มตัว แต่ก็เริ่มให้บริการเกมในโมเดล Subscription แล้วด้วย ‘Apple Arcade’ เพราะเห็นช่องว่างที่น่าสนใจในตลาด โดยเพิ่งเปิดตัวไปสดๆ ร้อนๆ เมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา สนนราคาค่าใช้บริการที่ 99 บาทต่อเดือน
สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่า Apple Arcade คืออะไร เราขออธิบายแบบเข้าใจอย่างง่ายและรวบรัด
Apple Arcade คือแพลตฟอร์มรวมเกมแนวอาร์เคดแบบบุฟเฟต์ (เกมกดตู้สมัยก่อนที่ถูกปรับให้ทันสมัย) เปิดให้ใช้บริการได้บนทุกๆ ผลิตภัณฑ์ของ Apple ทั้ง iPhone, iPad, Mac และ Apple TV (อยู่ในหน้า App Store) แล้วที่บอกว่าบุฟเฟต์ ก็เพราะว่าเมื่อเราจ่ายค่าสมัครสมาชิกที่ 99 บาทต่อเดือน ก็จะสามารถเลือกดาวน์โหลดเกมที่น่าสนใจ ซึ่งวันนี้มีมากกว่า 80 เกม (นับจนถึง 18 ตุลาคม) มาเล่นได้แบบไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมได้ทันที
ซึ่งผู้เขียนก็มีโอกาสได้สัมผัสและทดลองใช้บริการ Apple Arcade มาแล้ว และนี่คือสิ่งที่เราค้นพบจากการได้ลองเล่นเกมและใช้งานแพลตฟอร์มเกมรูปแบบใหม่จาก Apple นี้ด้วยตัวเอง
ชนะเลิศด้านความสะดวกสบาย และประสบการณ์ในการใช้งาน Apple Arcade
ยอมรับตรงๆ ว่าก่อนจะมีโอกาสได้ทดลองเล่นเกมบน Apple Arcade เราไม่ได้คาดหวังกับมันมากเท่าไร เพราะโดยส่วนตัวจะเน้นเล่นเกมคอนโซลมากกว่าเกมบนสมาร์ทโฟน
แต่เมื่อได้ลองจับลองเล่นจริงๆ ก็พบว่า Apple ทำออกมาได้ดีเกินความคาดหวังของเราไปหลายช่วงตัว จุดเด่นที่เห็นได้ชัดที่สุดคือการที่ Apple ได้ออกแบบและพัฒนา ‘ประสบการณ์’ การเล่นเกมบน Arcade ออกมาน่าประทับใจรอบด้าน
เริ่มต้นที่ตัวเกมบนแพลตฟอร์ม Arcade สามารถเล่นข้ามอุปกรณ์ได้แบบอิสระและ Seamless สุดๆ สวิตช์ระหว่างอุปกรณ์หนึ่งไปยังอุปกรณ์หนึ่งได้ต่อเนื่อง ไม่สะดุดอารมณ์ (ให้ความรู้สึกคล้ายดูคอนเทนต์จากบริการสตรีมมิงวิดีโอบนจอมือถือแล้วสลับไปดูบนจอโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์อื่นๆ ได้ต่อเนื่อง)
แล้วด้วยความที่ตัวแพลตฟอร์มเกมเป็นบริการแบบพรีเมียมที่เราต้องเสียเงินใช้บริการ นั่นหมายความว่าทุกๆ เกมที่เราเล่นจะไม่มีโฆษณามาคั่นให้ต้องกดข้ามและกวนใจ รวมถึงไม่มี In-App Purchase มาดูดเงินจากกระเป๋าสตางค์เราเพิ่ม
นอกจากนี้ในการสมัครใช้งาน Arcade 1 บัญชี เรายังสามารถแชร์ให้กับแอ็กเคานต์คนในครอบครัวเล่นได้สูงสุดมากถึง 6 แอ็กเคานต์ ซึ่งถ้าหารเฉลี่ยแล้วก็ตกประมาณคนละ 17 บาทต่อเดือนเท่านั้น ถือว่าคุ้มมากๆ ส่วนพ่อแม่ผู้ปกครองก็สามารถตั้ง Screen Time จำกัดเวลาให้ลูกเล่นเกม หรือจะควบคุมเนื้อหาของเกมที่ล่อแหลมไม่ให้ปรากฏบนเครื่องของลูกๆ หลานๆ ก็ทำได้
อีกหนึ่งข้อดีคือเราสามารถใช้จอยคอนโทรลของ DualShock 4 (PlayStation) หรือ Xbox One เล่นเกมบน Arcade ได้ด้วย เรียกว่าเอาใจเกมเมอร์ที่ถนัดบังคับจอยคอนโทรลกันสุดฤทธิ์
กราฟิกและตัวเกมทำออกมาได้น่าสนใจ แต่ระดับความน่าดึงดูดของเกมยังแอบเบาไปหน่อย
จากที่ได้ลองเล่นเกม (บางส่วน) ก็พบว่าเกมที่อยู่บน Apple Arcade ค่อนข้างมีซิกเนเจอร์ความละเมียดเฉพาะตัว บวกกับเสน่ห์ความคราฟต์ที่หาตัวจับยาก ความหมายคือทีมพัฒนาแต่ละค่ายค่อนข้างให้ความสำคัญกับตัวกราฟิกและตัวเนื้อเรื่องที่อัดแน่นอยู่ในแต่ละเกม
แล้วแต่ละเกมก็ยังเล่นออฟไลน์ได้ด้วย ซึ่งต่างจากเกมบน App Store ในวันนี้ที่ส่วนใหญ่ต้องเชื่อมต่อ คราวนี้เวลาเดินทางบนเครื่องบินนานๆ ก็สามารถเปิด Apple Arcade ขึ้นมานั่งเล่นไปพลางๆ ฆ่าเวลาได้ไปในตัว
ตัวอย่างเกม Frogger in Toy Town
หนึ่งในเกมที่เล่นเพลินและกราฟิกน่ารักมากๆ ต้องยกให้ ‘Frogger in Toy Town’ เพราะสนุกเกินเรื่องสุดๆ โดยเป็นการนำเกมอาร์เคดยอดฮิตในอดีตของ Konami กลับมาปัดฝุ่นสร้างใหม่อีกครั้ง ซึ่งเราจะต้องสวมบทเป็นกบ Frogger กระโดดไล่เก็บเยลลีบีนเพื่อสะสมคะแนน และคอยหลบสิ่งกีดขวางในเมืองของเล่นด้วยการปัดหน้าจอไปทางซ้าย-ขวา แล้วในระหว่างทางก็จะมีกบจิ๋ว Froglets มาให้เราคอยช่วยนำทางไปยังเส้นชัย
เกมแนว Puzzle อย่าง ‘tint.’ ก็เล่นเพลินๆ ฆ่าเวลาได้เหมือนกัน วิธีการเล่นคือเราจะต้องไขปริศนาการผสมสีต่างๆ ด้วยการลากพู่กันระบายสีน้ำบนผืนกระดาษไปมาผ่านแต่ละจุด โดยระดับความยาก-ง่ายของปริศนาแต่ละข้อก็จะแตกต่างกันออกไป แถมยังใส่ใจกับคนที่ตาบอดสีด้วยการทำโหมด ‘แพตเทิร์น’ ขึ้นมาให้แยกความต่างของสีได้ ด้วยลักษณะของแพตเทิร์นและเสียงเวลาจุ่มพู่กันที่แตกต่างกัน
ที่เซอร์ไพรส์ก็คือ สตูดิโอผู้พัฒนาเกมนี้ ‘Lykke Studios’ ประจำการอยู่ใกล้ๆ ในไทยนี่เอง! โดย Jakob Lykkegaard ผู้ก่อต้ังสตูดิโอเล่าให้เราฟังว่า ส่วนที่ยากที่สุดคือการจำลองเทคนิคของการแต่งแต้มระบายสีน้ำบนกระดาษออกมาให้ดูใกล้เคียงกับการระบายสีน้ำในโลกแห่งความเป็นจริงให้ได้มากที่สุด
อีกเกมที่เราอยากแนะนำยังคงเป็นเกมแนว Puzzle อย่าง ‘Spek. (RAC7)’ วิธีเล่นคือเราต้องต่อเส้นของวัตถุแต่ละชิ้นเข้าหากัน เพื่อให้เจ้าดอตวงกลมวิ่งเก็บแต้มตามเส้นทางได้ ความเก๋คือวัตถุสี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม ฯลฯ สามารถเชื่อมต่อกันผ่านมุมตีฟได้ทั้งหมด ซึ่งเราจะต้องหมุนอุปกรณ์ที่ใช้เล่นเกมหามุมเชื่อมต่อเส้นเข้าหากันด้วยตัวเอง เพื่อให้ดอตวงกลมสามารถวิ่งเก็บแต้มได้ครบในแต่ละด่าน เท่านั้นยังไม่พอ มันยังสามารถเล่นแบบ AR ได้อีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีเกมอื่นๆ อีกมากมายให้เลือกเล่น เช่น Sonic (SEGA) หรือ RaymanMini (Ubisoft), Sayonara (Annapurna), LEGO, ShockRods (Stainless Games) หรือ Hot Lava (Klei) เป็นต้น โดยทาง Apple จะเร่งอัปเดตเกมให้เพิ่มเป็น 100 เกมเร็วๆ นี้ เมื่อผ่านหลักไมล์ 100 เกมไปแล้ว ก็จะทยอยปล่อยอัปเดตเกมใหม่ๆ เพิ่มเติมในทุกเดือน ส่วนเกมเก่าก็จะมีอัปเดตด่านและเนื้อเรื่องปล่อยออกมาเรื่อยๆ เช่นกัน
เพียงแต่ข้อสังเกตในมุมมองส่วนตัวที่มีต่อ Apple Arcade คือ เราพบว่าด้วยความที่ตัวแพลตฟอร์มเน้นเกมแนวอาร์เคดเป็นส่วนใหญ่ เกมจำนวนไม่น้อยจึงค่อนข้างมีความเฉพาะทางและอินดี้สูง นั่นหมายความว่าไม่ใช่ทุกเกมที่จะดึงดูดให้เรากดดาวน์โหลดมาเล่น แต่เชื่อว่าในอนาคตฝั่ง Apple ก็น่าจะเติมเกมใหม่ๆ เข้าไปในบริการของพวกเขามากขึ้นแน่นอน
โดยสรุปถ้าคุณเป็นคนที่ชอบเล่นเกมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยเฉพาะเกมอาร์เคดและเกมแนว Puzzle ที่มีความเพลิน ท้าทายความคิด เล่นง่ายฆ่าเวลาได้ประมาณหนึ่ง ไม่เน้นเกมออนไลน์ที่สเปกกราฟิกจัดเต็มอลังการ หรือเกมประเภท Moba แล้วละก็ เกมบน Apple Arcade ในราคา 99 บาทคือตัวเลือกที่คุ้มมากและถูกต้องที่สุด
แต่ถ้าไม่อินเกมในกลุ่ม Puzzle หรือเกมอาร์เคดเลยแม้แต่น้อย เราอาจจะแนะนำให้คุณบอกผ่านมันไป เพราะ Apple Arcade อาจไม่ถูกจริตของคุณ แต่หากสนใจอยากจะลองเล่นดูก่อน ตอนนี้ Apple ก็เปิดให้สามารถทดลองใช้บริการได้ฟรี 1 เดือนแล้ว โดยหลังจากนั้นจะตัดค่าบริการอัตโนมัติ (ข้อมูลเพิ่มเติม www.apple.com/th/apple-arcade)
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
- Apple ได้เปลี่ยนวิธีการแชร์รายได้กับนักพัฒนาบน Apple Arcade จากเดิมใน App Store ที่เคยแชร์กันในสัดส่วน 70:30 (นักพัฒนาและ Apple ตามลำดับ) มาเป็นการจ่ายเงินก้อนให้นักพัฒนาไปพัฒนาเกมมาลงแพลตฟอร์มของพวกเขาไปเลย ช่วยแก้ปัญหา ‘การหารายได้’ ให้กับเหล่านักพัฒนา และลดข้อจำกัดที่เคยปิดกั้นความสร้างสรรค์ของพวกเขา