ไม่ใช่แค่แบรนด์ FMCG สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปเท่านั้นที่ต้องปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์และการให้บริการของตัวเองมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จำนวนมากทั่วโลกต่างก็เริ่มเล็งเห็นถึงเทรนด์ความใส่ใจสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภคและผลกระทบเชิงบวกที่จะเกิดขึ้นกับแบรนด์แล้วเช่นกัน
เมื่อวันอังคารที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ Apple กลายเป็นบริษัทเทคโนโลยีรายล่าสุดที่ได้ออกมาประกาศพันธกิจในการมุ่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ให้ได้ทั้งระบบภายในปี 2030 หรืออีกประมาณ 10 ปีต่อจากนี้ ครอบคลุมทั้งผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาผลิตขึ้นมาจำหน่ายไปจนถึงซัพพลายเชนในวงจรที่ทำธุรกิจร่วมด้วย
นั่นหมายความว่าสินค้าทุกชิ้นของ Apple ที่วางจำหน่ายตั้งแต่ปี 2030 เป็นต้นไปจะต้องไม่ส่งผลกระทบเชิงลบใดๆ ก็ตามให้กับสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศเป็นอันขาด
ทิม คุก ซีอีโอ Apple กล่าวว่า “ภาคธุรกิจทั้งหลายมีโอกาสในการช่วยสร้างอนาคตที่มีความยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากความใส่ใจในโลกที่เราอาศัยอยู่ร่วมกัน
“นวัตกรรมที่อยู่เบื้องหลังเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมของเราไม่ได้แค่สร้างประโยชน์ให้กับโลกเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เราสามารถรังสรรค์ผลิตภัณฑ์โดยใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังช่วยให้เกิดแหล่งพลังงานสะอาดใหม่ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ไปทั่วโลก การมีแผนการรับมือความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศสามารถเป็นพื้นฐานของยุคใหม่ในการสร้างนวัตกรรม สร้างงาน และส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และด้วยความมุ่งมั่นด้านความเป็นกลางทางคาร์บอนของเรา เราหวังว่าจะได้เป็นกำลังเล็กๆ ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่”
Apple ยังได้เปิดเผยโรดแมป 10 ปีในการมุ่งปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ภายในปี 2030 ซึ่งครอบคลุมใน 5 เสาหลักสำคัญ โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ปล่อยคาร์บอนน้อย: Apple จะยังคงใช้วัสดุที่ปล่อยคาร์บอนน้อยและรีไซเคิลได้ในกระบวนการผลิต คิดค้นวิธีใหม่ๆ ในการรีไซเคิลผลิตภัณฑ์ และออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ประหยัดพลังงานมากที่สุด
ตัวอย่างเช่น หุ่นยนต์ Dave ซึ่งเป็นนวัตกรรมการรีไซเคิลที่สามารถถอดแยกชิ้นส่วน Taptic Engine จาก iPhone เพื่อกู้คืนวัสดุสำคัญได้มากขึ้น เช่น แม่เหล็กและทังสเตนที่เป็นธาตุโลหะหายาก รวมทั้งนำเหล็กกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยหลังจากนี้ Appple จะผลิตหุ่นยนต์แยกชิ้นส่วนรุ่นใหม่สำหรับ iPhone ที่ชื่อ ‘Daisy’
2. เพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงาน: มุ่งหาวิธีใหม่ๆ ในการลดการใช้พลังงานในอาคารและสิ่งอำนวยความสะดวกในองค์กร และช่วยให้ซัพพลายเชนทำได้เช่นเดียวกัน
3. มุ่งเน้นแหล่งพลังงานหมุนเวียน: รักษาระดับการใช้พลังงานหมุนเวียนในการดำเนินงานไว้ที่ 100% โดยเน้นการสร้างโครงการริเริ่มและการเปลี่ยนให้ซัพพลายเชนทั้งหมดหันไปใช้พลังงานสะอาด
4. การปรับปรุงด้านกระบวนการและวัสดุ: รับมือกับการปล่อยคาร์บอนด้วยการปรับปรุงเทคโนโลยีในกระบวนการและวัสดุที่ใช้ในสายการผลิต
5. ขจัดคาร์บอน: Apple กำลังลงทุนเรื่องการปลูกป่าและโซลูชันด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ทั่วโลกเพื่อขจัดคาร์บอนออกจากชั้นบรรยากาศ
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: