เริ่มแล้วอย่างเป็นทางการ การประชุมรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก (Asia Pacific Parliamentary Forum-APPF) ครั้งที่ 30 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ จัดประชุมระหว่างวันที่ 26-29 ตุลาคม ที่อาคารรัฐสภา
ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในฐานะประธานการประชุม APPF ครั้งที่ 30 เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม ระบุว่า ในนามรัฐสภาไทย ข้าพเจ้ามีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับและส่งความปรารถนาดีจากประชาชนชาวไทยมายังผู้เข้าร่วมการประชุมประจำปี ครั้งที่ 30 ของรัฐสภาภาคพื้นแปซิฟิก โดยประเทศไทยภาคภูมิใจที่ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดประชุมรัฐสภาภาคพื้นแปซิฟิกอีกเป็นครั้งที่ 2 เราใช้ความพยายามทั้งหมดในการทำให้การพำนักอยู่ในกรุงเทพฯ ของท่านได้รับความสำราญใจ และมีผลิตผลตั้งแต่มีการจัดตั้งขึ้นเมื่อต้นทศวรรษ 1990
APPF ได้มีส่วนอย่างมากในการพัฒนาความร่วมมืออย่างบังเกิดผล การติดต่อสื่อสารกันอย่างใกล้ชิด และความเข้าใจซึ่งกันและกันในบรรดารัฐสภาที่เป็นสมาชิก ความผูกพันใกล้ชิดแห่งมิตรภาพและความร่วมมือที่เราได้หล่อหลอมไว้ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จะส่งเสริมความพยายามร่วมกันของเราเพื่อนำมาซึ่งการฟื้นฟูหลังโควิด ซึ่งจะนำไปสู่ความเติบโตและความมั่งคั่งรุ่งเรืองในภูมิภาค
การนำประเด็นเรื่อง ‘รัฐสภาและการพัฒนาอย่างยั่งยืนหลังโควิด’ มาเป็นหัวข้อการประชุมของเรา มาจากการตระหนักว่า โควิดเป็นมากกว่าวิกฤตด้านสุขภาพ โรคระบาดนี้ส่งผลร้ายต่อชีวิตเกือบทุกด้านของเรา โดยมีผลกระทบรุนแรงต่อความก้าวหน้าไปสู่เป้าหมายแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน
“นั่นเป็นเหตุผลว่า เหตุใดเรา ในฐานะที่เป็นตัวแทนของประชาชน จึงมาร่วมประชุมกัน ณ ที่นี้ในวันนี้ เรามุ่งหมายที่จะเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วน และยึดมั่นในพันธกิจที่จะสร้างภูมิภาคนี้ขึ้นใหม่ให้มีความมั่นคงเข้มแข็ง โดยการมุ่งไปที่การฟื้นฟูอย่างสมดุล ยั่งยืน และมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และดำเนินการให้บรรลุวาระ 2030 ของสหประชาชาติภายในช่วงเวลาที่เหลือของทศวรรษแห่งการดำเนินการอย่างจริงจัง” ชวนกล่าว
ชวนกล่าวด้วยว่า ตนขอแบ่งปันแนววิธีการดำเนินงาน 2 แนวด้วยกันในการเร่งรัดให้บรรลุเป้าหมายแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศไทย
- แนววิธีการแรกคือ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงดำริไว้เพื่อวัตถุประสงค์แห่งการสร้างสมดุลในชีวิต 4 ด้านด้วยกัน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม
- แนววิธีการที่สอง ได้แก่ ตัวแบบเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG ซึ่งเป็นที่ยอมรับแล้วอย่างกว้างขวางสำหรับการฟื้นฟูภูมิภาคหลังโควิด
ทั้งนี้ ในฐานะผู้แทนของปวงชน APPF ยึดถือพวกเขาเหล่านี้เป็นศูนย์กลาง โดยการส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ความเป็นเอกภาพ และการดูและอย่างครอบคลุมทุกฝ่ายโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เราสามารถเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสได้
สำหรับการประชุมครั้งนี้ กลุ่ม Young Parliamentarians Caucus แห่งประเทศไทยจะเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย เพื่อส่งเสริมหลักการไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลังตามแนวทางของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP)
ท้ายที่สุดนี้ ตนมีความมั่นใจว่าช่วงเวลา 3 วันแห่งการพิจารณาถกเถียงจะนำไปสู่ข้อมติอย่างเป็นรูปธรรมและมีสาระ ซึ่งจะตามมาด้วยการดำเนินงานในทางปฏิบัติ เมื่อกล่าวเช่นนี้แล้ว ตนมีความยินดีที่จะประกาศเปิดประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นแปซิฟิกครั้งที่ 30 อย่างเป็นทางการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมครั้งนี้มีประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้แทนประเทศ สมาชิกทั้ง 28 ประเทศจากอนุภูมิภาคต่างๆ ในเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งได้แก่ ออสเตรเลีย, กัมพูชา, แคนาดา, ชิลี, จีน, โคลัมเบีย, เอกวาดอร์, คอสตาริกา, ฟิจิ, อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น, สาธารณรัฐเกาหลี, สปป.ลาว, มาเลเซีย, หมู่เกาะมาร์แชลล์, เม็กซิโก, ไมโครนีเซีย, มองโกเลีย, นิวซีแลนด์, ปาปัวนิวกินี, เปรู, ฟิลิปปินส์, รัสเซีย, สิงคโปร์, ไทย, สหรัฐอเมริกา, เวียดนาม และบรูไนดารุสซาลาม เข้าร่วมการประชุมอย่างพร้อมเพรียง
นอกจากนี้ ยังมี ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Dr.Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ร่วมกล่าวถ้อยแถลงด้วย