×

คุยกับ ‘อภินันท์ บัวหภักดี’ คนในภาพ ‘ดาวสยาม’ ที่ถูกอ้างเป็นเหตุล้อมปราบ ‘6 ตุลา 19’

14.10.2022
  • LOADING...
อภินันท์ บัวหภักดี

THE STANDARD ร่วมสัมภาษณ์ อภินันท์ บัวหภักดี บุคคลในภาพประวัติศาสตร์ ละครแขวนคอ ก่อนนักศึกษาถูกรัฐกล่าวหากระทั่งเกิดการล้อมปราบ ‘6 ตุลา 19’ โดยสัมภาษณ์ขณะเข้าร่วมกิจกรรม Thammasat Walking Tour นำบรรยายโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ กฤษฎางค์ นุตจรัส หนึ่งในแกนนำนักศึกษายุค ‘6 ตุลา 19’ 

 

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 ภายหลังกิจกรรม ‘รำลึก 46 ปี 6 ตุลา 2519’ ที่ลานประติมากรรม หน้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ ในช่วงเช้า

 

ในเวลาต่อเนื่องกัน มีกิจกรรม Thammasat Walking Tour โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ กฤษฎางค์ นุตจรัส เดินนำบรรยายตามจุดต่างๆ ที่เกิดเหตุความรุนแรงภายในมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 

 

กิจกรรมนี้มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมขบวนเพื่อฟังบรรยายจำนวนมาก และมีหลายคนใช้อุปกรณ์ถ่ายทอด Facebook Live เนื้อหาใน Walking Tour ครั้งนี้ด้วย

 

ชาญวิทย์และกฤษฎางค์นำบรรยายตั้งแต่หน้าหอประชุมใหญ่, สนามฟุตบอล หน้าตึกคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี, ลานโพธิ์, ลานปรีดี พนมยงค์, ตึกโดม, ตึกสถาบันภาษา มาถึงหน้าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

 

จุดที่มีความสำคัญมากสำหรับ Thammasat Walking Tour ครั้งนี้คือ ลานโพธิ์ เพราะมีบุคคลที่อยู่ในภาพประวัติศาสตร์ การแสดงละครการเมือง ที่ถูกนำไปเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ดาวสยาม นำมาสู่ข้อกล่าวหาว่านักศึกษาหมิ่นเบื้องสูง และมีการล้อมปราบ เช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 

 

กฤษฎางค์กล่าวว่า ลานโพธิ์จุดนี้เป็นจุดที่แสดงละคร เพื่อเรียกร้องให้นักศึกษาหยุดสอบในตอนนั้น แล้วมีละครแขวนคอจากกรณีพนักงานการไฟฟ้าถูกฆ่าแขวนคอที่จังหวัดนครปฐม เพราะไปติดโปสเตอร์ขับไล่จอมพลถนอม กิตติขจร 

 

การแสดงละครมีขึ้นในวันที่ 4 ตุลาคม 2519 และช่วงเย็นวันเดียวกันนั้นประชาชนได้อพยพเข้ามาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อหลบภัยจากกลุ่มกระทิงแดง เป็นจุดเริ่มต้น หลังจากนั้น วันรุ่งขึ้น ‘สื่อ’ ของฝ่ายตรงข้ามก็ระบุว่า นักศึกษาเล่นละครแขวนคอรัชทายาทในขณะนั้น เป็นที่มาของข้ออ้างในการเข้าปราบปรามในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 

 

กิจกรรม Walking Tour ครั้งนี้ ‘อภินันท์ บัวหภักดี’ อดีตนักศึกษาซึ่งเป็นบุคคลในภาพการแสดงละครการเมืองดังกล่าว ได้เดินทางมาร่วมบรรยายที่ลานโพธิ์ด้วย 

 

รวมถึง ‘อรวรรณ นารากุล’ สมาชิกสภานักศึกษาธรรมศาสตร์ ในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ปัจจุบันเป็นนักแปล ก็ได้มาเล่าเหตุการณ์ด้วยว่า วันที่ 4 ตุลาคม 2519 ทำหน้าที่เป็นพิธีกรบนเวทีที่มีการจัดกิจกรรมแสดงละครแขวนคอ วันนั้นผู้จัดละครให้อภินันท์แสดง เพราะตัวเล็ก เป็นนักกีฬา การแสดงไม่ใช่การแขวนคอจริง แต่ใช้สายรัดรัดหน้าอก แล้วมีสายข้างหลังขึ้นไปแขวนกับกิ่งไม้ ส่วนการแต่งหน้า เพื่อให้สมจริงกับเหตุการณ์พนักงานการไฟฟ้าเสียชีวิตมาแล้ว 2 วันแล้วจึงมีคนไปเจอ กิจกรรมการแสดงละครวันนั้นไม่มีใครคิดเลยว่าจะถูกนำไปบิดเบือน ส่วนตัวเชื่อว่าภาพที่ลงในหนังสือพิมพ์ดาวสยามฉบับ 5 ตุลาคม 2519 มีการแต่งภาพ ส่วนภาพที่เผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ยังได้รับการยืนยันเมื่อไม่กี่วันนี้จากช่างภาพว่า ก่อนตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์บ่ายวันที่ 4 ตุลาคม 2519 ไม่มีการแต่งภาพ 

 

หลังจากกฤษฎางค์แนะนำให้ผู้ฟังบรรยายรู้จัก ‘อภินันท์ บัวหภักดี’ แล้ว อภินันท์ได้เล่าย้อนถึงการแสดงละครการเมืองขณะนั้นว่า เป็นกิจกรรมนักศึกษา เพื่อขับไล่จอมพลถนอม กิตติขจร 

 

📸 ไต่สวนช่างภาพ ‘ดาวสยาม’ ในศาล 📸

 

ผู้สื่อข่าว THE STANDARD ถามว่า คุณอภินันท์เชื่อว่าภาพในหนังสือพิมพ์ดาวสยามมีการแต่งภาพหรือไม่

 

อภินันท์กล่าวว่า ในการไต่สวนในศาล คนถ่ายภาพที่ได้รับการเผยแพร่ในหน้า 1 หนังสือพิมพ์ดาวสยาม ก็มาให้การด้วยว่าเขามาถ่ายภาพการแสดงละครแขวนคอ 

 

ช่างภาพคนนั้นบอกว่า เขาเป็นฟรีแลนซ์ของหนังสือพิมพ์ดาวสยาม พอเขาถ่ายภาพเสร็จ เอาม้วนฟิล์มส่ง แล้วก็กลับบ้าน เขาให้การว่าไม่รู้เรื่อง 

 

ศาลถามว่า ตอนถ่ายภาพ คุณรู้สึกไหมว่าภาพที่เห็นมีความเหมือนใครอย่างไรหรือไม่ 

 

ช่างภาพตอบว่า มีความเป็นปกติ ไม่มีอะไรผิดปกติ เขาถ่ายภาพเสร็จก็ส่งฟิล์มไป จากนั้นฟิล์มจะถูกทำอะไรอย่างไรหรือไม่ เขาไม่ทราบ เนื่องจากเขาเป็นเพียงช่างภาพฟรีแลนซ์ของหนังสือพิมพ์ 

 

ศาลถามว่า ระหว่างมีการแสดงละครแขวนคอ เห็นคนดูละครขณะนั้นรู้สึกอย่างไร ช่างภาพตอบว่า คนดูก็ดูธรรมดา ไม่ได้ดูมีอะไรผิดแปลกจากการแสดงทั่วไป ไม่มีใครในระหว่างการแสดงนั้นบอกว่าเหมือนบุคคลใด

 

📸 วันนั้นตั้งใจจะไปดูหนัง ไม่ได้เตรียมมาเล่นละคร 📸

 

ผู้สื่อข่าว THE STANDARD ถามว่า ใครเป็นคนเลือกเครื่องแต่งกายที่สวมใส่ในวันแสดงละคร

 

อภินันท์กล่าวว่า ไม่มีใครเป็นคนเลือก วันนั้นใส่กางเกงสีเขียวที่ยืมเขามา ส่วนเสื้อสีเขียวๆ นั้นก็เดินหาในชุมนุมนาฏศิลป์และการละคร เพราะไม่มีใครบอกว่าต้องใส่อะไร ในชุมนุมมีอุปกรณ์อะไรก็หยิบขึ้นมาใส่ ไม่มีใครมาแต่งหน้าเป็นพิเศษ มีเพียงนักแสดงที่อยู่ในชมรมด้วยกันเป็นคนแต่งหน้าอย่างรวดร็ว ไม่มีใครมาคอสตูมเป็นพิเศษ ทำเองทั้งนั้น เราเคยแสดงละครเล็กๆ มา เราก็ทำเองได้ 

 

อภินันท์กล่าวว่า วันนั้นตั้งใจจะไปดูหนัง ไม่ได้เตรียมตัวไปแสดงละคร

 

เป็นนักกีฬา แต่เห็นความทุกข์ยากของชาวบ้านเช่นเดียวกับเพื่อนในธรรมศาสตร์

 

อภินันท์เล่าว่า ตอนนั้นเป็นนักกีฬา ซึ่งโรงยิมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กับองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) และชุมนุมต่างๆ ก็อยู่ใกล้ๆ กัน เราเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ก็เห็นอะไรเหมือนกันกับเพื่อน แม้ว่าความคิดทางการเมืองจะแตกต่างกันบ้าง แต่ก็ไม่ได้แตกต่างกันมาก เราเห็นชาวบ้านที่เข้ามาในธรรมศาสตร์จำนวนมาก แล้วก็เห็นความเดือดร้อน เห็นความทุกข์ยาก 

 

ด้วยความที่เราเป็นนักกีฬา เกือบจะแข่งกีฬามหาวิทยาลัยอยู่แล้ว แต่ถ้ามีอะไรที่ช่วยได้เราก็อยากจะช่วย ทั้งช่วยเพื่อนและช่วยประชาชนข้างนอกด้วย 

 

วันนั้นจริงๆ ก็ไม่ได้ตั้งใจไปเล่นละครนะ วันนั้นตั้งใจไปดูหนัง จะไปดู TORA! TORA! TORA! (โตรา โตรา โตร่า) แต่เพื่อนที่นัดกันคนนั้นเขาไม่มา ไม่อย่างนั้นคงไปดูหนังกันแล้ว  

 

ก็เลยเดินโฉบไปชุมนุมนาฏศิลป์และการละคร ก็เห็น ‘เฮียวิโรจน์’ วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ นักศึกษาปี 4 คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ สมาชิกชุมนุมนาฏศิลป์และการละคร กำลังซ้อมละครแขวนอยู่ 

 

เราก็เป็นคนหนึ่งในชุมนุมนาฏศิลป์และการละคร แม้จะห่างๆ ไป 

 

ในที่สุด ‘เฮียวิโรจน์’ ก็บอก ไม่ไหวแล้ว ทดลองแขวนแล้วเจ็บ จะต้องมีอีกคนหนึ่งมาช่วยกันเปลี่ยนระหว่างแสดง เขาก็ถามหาคนโน้นคนนี้คนนั้น แต่ละคนก็มีบทบาทในการแสดงอยู่แล้ว 

 

เราก็ดูอยู่ เห็นว่าไม่มีใคร ก็เลยอาสาเล่นเอง เป็นความสมัครใจ ไม่ได้คิดอะไรหรือเกี่ยวอะไรกับเรื่องที่เขากล่าวหาแม้แต่น้อย เราไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าบทการแสดงจะเป็นอย่างไร 

 

เราคิดอย่างเดียวว่า เราจะช่วยให้การแสดงนี้สำเร็จไป ก็เลยขึ้นไปช่วยเปลี่ยนเป็นตัวละครที่ถูกแขวนคอ 

 

ตอนนั้นใส่เสื้อผ้าแต่งตัวอย่างรวดเร็ว เอาอะไรมาโปะหน้าเพื่อให้ดูเหมือนคนเจ็บ เพราะแสดงละครเป็นคนที่ถูกแขวนคอ เขาก็ต้องเจ็บ แต่งตัวไม่เกิน 10 นาที แล้วก็มาแสดงละครแขวนคอที่ลานโพธิ์ ตรงนี้เลย

 

📸 ทนายกฤษฎางค์ถามถึงข้อกล่าวหาต่างๆ ในช่วง 6 ตุลา 19 📸

 

กฤษฎางค์ถามอภินันท์ว่า เป็นความจริงหรือไม่ที่ ‘อุทิศ นาคสวัสดิ์’ ซึ่งได้ล่วงลับไปก่อนเวลาอันสมควรแล้ว ได้กล่าวหาว่า อาจารย์ลาวัณย์ อุปอินทร์ (ดาวราย) มาแต่งหน้าแต่งตาให้อภินันท์ให้เหมือนรัชทายาทในขณะนั้น 

 

อภินันท์กล่าวว่า “ความจริงแล้วคนที่แต่งหน้าให้ชื่อ ‘เจ๊ก้อย’ เป็นนักแสดงอยู่ในชมรมด้วยกัน แล้วก็แต่งหน้าแบบโปะอย่างรวดร็ว ส่วนอาจารย์ลาวัณย์ ดาวราย ตอนนั้นไม่รู้จักว่าเป็นใคร ไม่เคยเจอหน้ากัน จนกระทั่ง 30 ปีต่อมา ผมเป็นผู้สื่อข่าว ไปสัมภาษณ์ท่าน ท่านเป็นศิลปินแห่งชาติ เจอหน้าท่านยังคุยกันว่าเราถูกจับมาเจอกันได้อย่างไร ไม่รู้จักอาจารย์เลยครับ”

 

📸 ไขข้อกล่าวหา ทมยันตีระบุ นักศึกษาตั้งใจเลือกนักแสดงหน้าคล้ายรัชทายาท 📸

 

กฤษฎางค์ถามว่า เป็นความจริงอย่างที่ ‘ทมยันตี’ ได้กล่าวหาหรือไม่ว่า ชมรมนาฏศิลป์และการละครคัดเลือกอภินันท์ เพราะดูจากทรงรูปร่างใบหน้ามีส่วนคล้ายรัชทายาทในขณะนั้น 

 

อภินันท์กล่าวว่า “การกล่าวหาดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะไม่รู้ตัวว่าจะมาแสดง 

 

“อย่างที่บอกว่า ตั้งใจไปดูหนัง แล้วในที่สุดเห็น ’เฮียวิโรจน์’ ทดลองแขวนแล้วเขาบอกว่าเจ็บ จะหาคนมาช่วยแสดง ผมดูอยู่จึงเสนอตัวเอง”

 

📸 วิทยุยานเกราะ บทบาทสื่อของรัฐบาล และหนังสือพิมพ์ บทบาทสื่อเอกชน 📸

 

ทนายกฤษฎางค์กล่าวว่า หลังจากอภินันท์เล่นละคร คืนนั้นก็มีการประโคมข่าวจาก อุทิศ นาคสวัสดิ์, พล.ท. อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, วิทยุยานเกราะ, ทมยันตี, สมัคร สุนทรเวช และอีกหลายๆ คน ซึ่งก็กล่าวหาอภินันท์ ขอถามคำถามหนึ่งซึ่งหากยากที่จะตอบก็สามารถที่จะไม่ตอบ คำถามคือ รู้สึกเสียใจหรือไม่ ที่ได้ร่วมแสดงละครในวันนั้น 

 

อภินันท์กล่าวว่า มีความเสียใจ แต่ไม่ใช่อะไรที่เราตั้งใจ และไม่ใช่ความผิดพลาด แต่มีคนที่ตั้งใจจะเอาพล็อตนี้ไปฆ่าคน เราตั้งใจทำอย่างหนึ่ง แต่มีคนเห็นว่ามีช่องจะทำอีกอย่างหนึ่ง จึงใช้เครื่องมือสื่อสารของรัฐทั้งหมดไปหลอกลวงประชาชน เอาเครื่องมือสื่อสารของรัฐ อย่างที่คนเห็นว่าเป็นการก่ออาชญากรรมโดยรัฐ เป็นแบบนี้เลย 

 

เครื่องมือสื่อสารของรัฐทั้งหมดเลย ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ รวมทั้งเอกชนที่เป็นหนังสือพิมพ์ด้วย ตามกันหมดเลย 

 

เราก็เสียใจ เพราะเหมือนเราเป็นเหตุให้เพื่อนเราเสียชีวิต เป็นเหตุร้ายซึ่งถาโถมเข้ามาในชีวิตเราอย่างแรง ก็เสียใจมาก แต่ว่าจริงๆ เราไม่ได้มีเจตนาอย่างนั้น นี่คือเจตนาที่ถูกคนที่คิดร้ายบิดเบือนเจตนาเอาไปสร้างสถานการณ์ที่รุนแรงมาก เพราะฉะนั้นคนที่จะต้องถูกพิพากษาว่าผิดก็ควรจะต้องถูกพิพากษาว่าผิด ไม่ใช่มีการนิรโทษกรรมแล้วตีรวมว่าใครที่กระทำผิดในวันนั้นได้รับการนิรโทษกรรม ซึ่งไม่ใช่การนิรโทษกรรมให้เรา เพราะเราไม่ได้ผิด คนที่ผิดคือคนที่บิดเบือนเจตนารมณ์วันนั้น บิดเบือนภาพนั้นว่าเป็นภาพอีกอย่างหนึ่ง คนนี้จะต้องถูกลงโทษอย่างแรง 

 

📸 ถูกควบคุมตัวในวันที่ 6 ตุลา 19 📸

 

‘วัฒนา ชัยชนะสกุล’ อุปนายก อมธ. ในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมฟังบรรยายใน Walking Tour ถามว่า คุณอภินันท์ได้แสดงความบริสุทธิ์ใจด้วยการมอบตัวและถูกจับใช่หรือไม่ 

 

อภินันท์ตอบว่า ใช่ เพราะไม่ได้หนีไปไหน หลังแสดงละครวันที่ 4 ตุลาคม 2519 แล้ว ก็อยู่ที่ธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ตุลา 19 ทั้งๆ ที่ปกติไม่ค่อยได้ร่วมม็อบสักเท่าไร แต่วันที่ 6 ตุลาก็อยู่ที่นี่ 

 

ผู้สื่อข่าว THE STANDARD ถามว่า ตอนถูกควบคุมตัวในวันที่ 6 ตุลา 19 บรรยากาศเป็นอย่างไร เผชิญอะไรบ้าง อยู่คุกไหน ออกมาประกอบอาชีพอะไร

 

อภินันท์กล่าวว่า “คล้ายๆ กับเพื่อนทุกคน แต่กรณีผม คือรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อยากจะเอาตัวออกไปก่อน จึงให้ตำรวจมาติดต่อ ตำรวจอยู่ข้างนอกม็อบ แล้วก็ติดต่อกับกรรมการศูนย์กลางนิสิตฯ บอกให้นำตัวไปพบนายกฯ รวมทั้งคณะกรรมการศูนย์ฯ ด้วย รวมทั้งหมด 6 คน ก็ฝ่าแนวกระสุนออกมาจาก อมธ. ใกล้โรงยิม ออกมาก็มีกระสุนปืนยิงข้ามหัวมาตลอด มาผ่านลานโพธิ์ตรงนี้ ออกประตูท่าพระจันทร์ มีตำรวจรออยู่ ไปถึงบ้าน ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ก็ถูกล็อกแล้ว 

 

“หลังจากนั้นถูกพาไปโรงพัก แล้วผมติดคุก อยู่ในคุกบางขวางเป็นหลัก เกือบ 2 ปีจากวันที่ 6 ตุลา 19 ก็เข้าคุกอยู่ในคุกตลอด หลังจากนั้นก็กลับมาเรียนจนจบปริญญาตรี แล้วออกไปประกอบอาชีพสื่อมวลชน อาชีพที่ตัวเองชอบเป็นช่างภาพ นักเขียนสารคดี”

 

ผู้ร่วมใน Walking Tour คนหนึ่งถามว่า ในฐานะช่างภาพ มองว่าเทคโนโลยีสมัยนั้นแต่งภาพได้หรือไม่ 

 

อภินันท์กล่าวว่า เทคโนโลยีสมัยนั้นเก่งกว่าสมัยนี้ในบางเรื่อง โดยเฉพาะในภาพขาว-ดำ ส่วนเรื่องคนทำภาพหรือไม่ เราไม่แน่ใจจริงๆ แล้วภาพนั้นก็หายไปแล้ว หลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 วันนั้น ห่างไปสักช่วงหนึ่งกองพิสูจน์หลักฐานก็โดนไฟไหม้ เข้าใจว่าหลักฐานตรงนั้นก็หายไปหมดเลย 

 

ก่อนจบ Walking Tour กฤษฎางค์กล่าวขอบคุณอภินันท์ที่มาเล่าเรื่องนี้ในโอกาสครบรอบ 46 ปี และมองว่าไม่ได้เป็นความผิดของนักศึกษา เพราะถึงไม่ทำอะไร ฝ่ายรัฐเขาก็ทำอยู่แล้ว

 

“ผมบอกเพื่อนฝูงว่า ไม่ต้องโทษตัวเองเรื่องแสดงละคร เพราะถึงไม่มีละคร มันก็ปราบ พอมีละคร มันก็ว่าเป็นเรื่องหมิ่นเบื้องสูง เมื่อ 46 ปีที่แล้วก็มีเรื่อง 112 เช่นเดียวกับทุกวันนี้ ทุกวันนี้แม้แต่แต่งชุดไทยก็ผิด 112” กฤษฎางค์กล่าวในระหว่าง Walking Tour 

 

กฤษฎางค์ นุตจรัส หนึ่งในแกนนำนักศึกษายุค ‘6 ตุลา 19’ เป็น ‘นายกสโมสรนักศึกษาธรรมศาสตร์’ ในปีการศึกษา 2521 ตำแหน่งนี้มีเพียงปีเดียว เป็นตำแหน่งคล้าย อมธ. แต่เนื่องจากบรรยากาศทางการเมืองหลัง 6 ตุลา 19 ผู้มีอำนาจไม่ต้องการให้มีสภานักศึกษา และ อมธ. จึงมีตำแหน่งดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หลังจากปีนั้นจึงมี อมธ. ตามปกติ 

 

ปัจจุบันกฤษฎางค์เป็นหนึ่งในคณะกรรมการจัดงานรำลึก 6 ตุลา 19 ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่มีคำสั่งแต่งตั้งขึ้นโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกอบด้วยศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน และผู้บริหารมหาวิทยาลัย ร่วมกันจัดงานรำลึก 6 ตุลา ต่อเนื่องทุกปี ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และเขายังเป็นทนายความของนักเคลื่อนไหวหลายคนในปัจจุบันด้วย 

 

อภินันท์ บัวหภักดี เป็นนักศึกษาปี 2 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาชิกชุมนุมนาฏศิลป์และการละคร ขณะเกิดเหตุการณ์ ‘6 ตุลา 19’ ปัจจุบันเป็นช่างภาพ นักเขียนสารคดี

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising