×

เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล คุณมีผู้นำหรือรัฐบาลแบบไหน มันก็สะท้อนถึงค่าของคุณ

15.10.2021
  • LOADING...
เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

ด้วยความรักในความเป็นส่วนตัว และอึดอัดทุกครั้งเมื่อต้องตกเป็นข่าวในพื้นที่สาธารณะ การออกมาปรากฏตัวผ่านสื่อของ เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ในแต่ละครั้งจึงสงวนไว้ให้กับเรื่องที่สำคัญเท่านั้น หนึ่ง คือการงานที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์และผลงานศิลปะโปรเจกต์ใหม่ๆ และ สอง คือการแสดงจุดยืนทางการเมือง ไปจนถึงวิพากษ์วิจารณ์รัฐไทย 

 

ด้านการทำงาน เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนว่าเจ้ยประสบความสำเร็จในฐานะผู้กำกับระดับโลก มีคนมากมายเข้าใจและชื่นชอบผลงานของเขา ภาพยนตร์ยังพาให้เขาได้เดินทางไปในหลายประเทศทั่วโลก ขณะที่เรื่องการเมือง การที่เจ้ยเลือกแสดงออกบนจุดยืนของการวิพากษ์วิจารณ์ ต่อต้านระบอบอำนาจนิยมของรัฐไทย ได้นำมาซึ่งความเกลียดชังต่อเขา รวมถึงการถูกข่มขู่คุกคามที่สร้างความเจ็บปวดจนทำให้ถอดใจ ประกาศเลิกทำหนังในเมืองไทยไปเมื่อปี 2558

 

ในปี 2564 ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด สถานการณ์ดุเดือดทางการเมือง และการบริหารจัดการของรัฐไทยที่หนักข้อขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่เกิดขึ้นในอีกซีกโลกหนึ่งคือ ภาพยนตร์เรื่องล่าสุด Memoria ที่ถ่ายทำในประเทศโคลอมเบีย ได้พาเจ้ยกลับไปยืนบนเวทีคานส์อีกครั้ง หลังสิ้นเสียงการปรบมือที่ยาวนานจากผู้ชม เจ้ยเลือกที่จะใช้ช่วงเวลาที่สำคัญบนเวทีไปกับการส่งเสียง ‘ปลุก’ รัฐบาลไทยและรัฐบาลโคลอมเบียให้ตื่นขึ้นและทำงานเพื่อประชาชน 

 

อีกหนึ่งเดือนต่อมา เขาส่งจดหมายเปิดผนึกถึงผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม หลังมีมติปลด สุชาติ สวัสดิ์ศรี ออกจากตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ โดยนิยามการกระทำของบุคคลผู้ร่วมตัดสินในกรณีนี้ว่าเป็น ‘ก้าวที่ตกต่ำในการพัฒนาวัฒนธรรมของประเทศไทย’ 

 

“หากเราบอกว่าประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แล้วเรายังได้ผู้นำหรือกลุ่มผู้บริหารประเทศแบบนี้ แปลว่าตัวเรานี่แหละที่ผิด เหมือนคำพูดที่บอกว่า “You get what you deserve.” คุณมีผู้นำหรือรัฐบาลแบบไหน มันก็สะท้อนถึงค่าของคุณ” 

 

นี่คือเหตุผลที่เจ้ยย้ำกับ THE STANDARD POP อย่างหนักแน่นว่า ต่อให้ ‘เสียง’ ที่เราตั้งใจส่งไปถูกมองผ่าน แต่เราจำเป็นต้องแสดงให้พวกเขาได้เห็นว่า เราในฐานะประชาชนไม่ยอมรับผู้นำประเทศที่มีมาตรฐานตกต่ำเช่นนี้ 

 

 

มองย้อนกลับไป อะไรที่ปลุกให้คุณเริ่มต้นตื่นตัวทางการเมือง 

อืม (นิ่งคิด) คงตั้งแต่ตอนที่ใส่เสื้อเหลืองออกไปร่วมชุมนุมกับม็อบขับไล่ทักษิณ โดยปกติเราไม่ค่อยใส่ใจเรื่องมวลชนหรือการขับเคลื่อนทางการเมืองสักเท่าไร แต่นั่นเป็นครั้งแรกที่รู้สึกว่าตัวเองมีส่วนร่วมด้วย แต่ในขณะเดียวกันเราก็สัมผัสได้ถึงอันตรายของการสะกดจิตหมู่ 

 

หลังจากนั้นก็เกิดสภาวะหลายๆ อย่างขึ้นในตัวเรา รวมถึงสภาวะตาสว่างด้วย ทำให้เข้าใจว่าทุกอย่างเป็นเรื่องของการค้นหาสิ่งที่เราคิดว่าเป็นข้อมูลความจริง แม้กระทั่งปัจจุบันก็บอกไม่ได้หรอกว่าข้อมูลไหนคือความจริง เรียกได้ว่ามันต้องใช้ความเชื่อล้วนๆ 

 

ตัวเราเองไม่ได้ยึดติดกับสีอะไร เพราะรู้สึกว่าสีก็เป็นภาพลวงและเป็นการสะกดจิตหมู่เหมือนกัน ทำให้เราโน้มเอียงไปทางคนรุ่นใหม่มากขึ้น เพราะรู้สึกว่าเขาไม่ได้ยึดโยงกับสีอะไร ตรงกันข้าม เขาพยายามจะทำลายคอนเซปต์ของการแบ่งคนด้วยเฉดสีลงด้วยซ้ำ และเขาเองก็ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องของอำนาจทางการเมืองเท่ากับแกนนำม็อบในอดีต แทบจะไม่มีผู้นำม็อบเลยด้วยซ้ำ 

 

จุดเปลี่ยนในเรื่องความเชื่อทางการเมืองของคุณ หรือที่คุณนิยามว่าคือ ‘สภาวะตาสว่าง’ เกิดขึ้นได้อย่างไร 

จากการอ่านหนังสือ โดยเฉพาะหนังสือต้องห้ามหลายๆ เล่ม รวมถึงการได้เดินทางไปในภาคอีสาน ที่นั่นเราเจอคนหลายกลุ่มมาก ทั้งชาวบ้านที่รักทักษิณ และชาวบ้านที่ไม่ได้รักทักษิณ มันทำให้เราย้อนกลับมาทบทวนและมองเห็นว่าการออกไปร่วมชุมนุมเป็นกระบวนการหนึ่งของการเรียนรู้ เราจึงรู้สึกไม่ดีทุกครั้งที่มีคนตั้งแง่กับคนที่เคยออกไปร่วมชุมนุมทางการเมืองครั้งอื่นๆ ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นม็อบพันธมิตรหรือกองทัพคนเป่านกหวีดก็ตาม 

 

เราจะรู้สึกไม่ดีเวลาเห็นคนที่ไปขุดรูปเก่าๆ ของคนที่เคยออกไปร่วมชุมนุมในตอนนั้นออกมาแล้วโพสต์ประจาน เพราะมันเป็นการแบ่งแยก ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วมันคือการเรียนรู้ของทุกๆ คนนั่นแหละ เพียงแต่ว่าการเรียนรู้ของแต่ละคนอาจเกิดในสปีดที่แตกต่างกัน 

 

รวมถึงการนิยามคนว่าเป็น ‘สลิ่ม’ ด้วยใช่ไหม 

เราไม่มายด์ที่จะเรียกใครว่าสลิ่มนะ แต่การไปขุดอดีตของคนอื่นขึ้นมาประณามหรือด้อยค่าเขา เรารู้สึกว่ามันไม่ถูกต้อง คนเราเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา วันนี้คิดอย่างหนึ่ง พรุ่งนี้ก็อาจจะคิดอีกอย่างหนึ่ง ดังนั้นการพยายามจะตีกรอบว่าคนนั้นเป็นอย่างนั้นอย่างนี้จึงดูเป็นการพยายามโจมตีคนอื่นเพื่อให้รู้สึกว่าตัวเราเองดีกว่าเขา 

 

 

ปัจจุบันคุณไปร่วมชุมนุมทางการเมืองบ้างไหม 

ไปบ่อย ไปถ่ายวิดีโอด้วย เราอยากรู้ว่าม็อบที่ไม่มีแกนนำจะมีหลักในการจัดการอย่างไร หลังจากตาสว่าง เราได้ไปร่วมชุมนุมในหลายๆ ประเทศเลย ที่ประทับใจมากคือบราซิล ตอนนั้นมีการชุมนุมประท้วงที่ได้ยึดเอาพื้นที่ของสำนักงานเทศบาลในเมืองแห่งหนึ่งไว้ มีคนมาร่วมชุมนุมเยอะมาก โดยเฉพาะนักศึกษา แล้วเขามีการจัดการที่เป็นระเบียบมาก มีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ 

 

ตอนนั้นเรายังคิดอยู่เลยว่า เมืองไทยจะมีอย่างนี้ไหม แต่ก็คิดว่าคงไม่มีทาง เพราะว่าพอมีประท้วงทีไร ทหารก็จะออกมาทำรัฐประหารทุกครั้ง สังคมจึงไม่เกิดการเรียนรู้ในการประท้วง แต่พอปีที่แล้วเกิดการชุมนุมทางการเมืองโดยคนรุ่นใหม่ เขาได้พัฒนาระบบการสื่อสารกับกลุ่มผู้ร่วมชุมนุมขึ้นมา โดยใช้สื่อออนไลน์ และมีการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ มีการนำเอาศิลปะมาใช้เยอะมาก เราจึงหลงใหลในม็อบนี้มาก และสงสัยว่าเขาเรียนรู้มาจากไหน เพราะที่ผ่านมาการประท้วงในบ้านเราไม่ได้มีกระบวนการให้เรียนรู้มากนัก 

 

คุณได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กรณีถอดถอน สุชาติ สวัสดิ์ศรี ออกจากศิลปินแห่งชาติ เพราะอะไรประเด็นนี้ถึงสำคัญสำหรับคุณ 

เรามองว่าการพยายามกำจัดคนเห็นต่างหรือการวัดค่าของคนโดยยึดตามมาตรฐานศีลธรรมของตัวเองเป็นพื้นฐานของการทำลายประเทศ ซึ่งในอดีตหลายๆ ประเทศก็ถูกทำลายเพราะวิธีการแบบนี้ เราจึงรู้สึกว่าทั้งๆ ที่มีตัวอย่างมากมายในประวัติศาสตร์โลก แต่คนกลุ่มนี้ที่มีกันอยู่ไม่กี่คนยังจะเลือกทำแบบนี้ แปลว่าพวกเขาช่างมืดบอดเหลือเกิน 

 

เราจึงออกมาถามคำถามว่า วุฒิภาวะของคนที่รับหน้าที่บริหารสิ่งที่มันอยู่ใกล้ตัวเราอย่างเรื่องวัฒนธรรม ทำไมถึงได้มาตรฐานตกต่ำขนาดนี้ โอเค คุณอาจจะบอกว่าในโลกนี้ยังมีประเทศที่การเมืองเลวร้ายอย่างเช่นเมียนมาและเกาหลีเหนืออยู่ แต่ประเทศเหล่านี้ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยไง หากเราบอกว่าประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แล้วเรายังได้ผู้นำหรือกลุ่มผู้บริหารประเทศแบบนี้ แปลว่าตัวเรานี่แหละที่ผิด เหมือนคำพูดที่บอกว่า “You get what you deserve.” คุณมีผู้นำหรือรัฐบาลแบบไหน มันก็สะท้อนถึงค่าของคุณ เหมือนการที่เราได้ประยุทธ์มาบริหารประเทศก็เพราะว่าประชาชนเป็นอย่างนี้ 

 

เราคิดถึงคำพูดนี้ ก็เลยรู้สึกว่าต้องเขียนจดหมายแล้ว เพื่อที่จะบอกตัวเองว่าฉันไม่ใช่ ฉันยังทำอะไรได้อยู่ และเพื่อสะท้อนสิ่งที่หลายๆ คนกำลังออกไปที่ท้องถนนเพื่อจะบอกว่าเรายังมีสิทธิ์มีเสียงอยู่ 

 

 

แต่ดูเหมือนว่าคนที่คุณเขียนจดหมายไปหา เขาไม่ได้ให้ความสนใจเสียงของคุณสักเท่าไร 

เรารู้สึกว่าเขาเหลิงในอำนาจ เขากำลังมีความเข้าใจผิดว่าอำนาจอยู่ที่เขา ทั้งที่จริงๆ แล้วในระบอบประชาธิปไตย อำนาจอยู่ที่ประชาชน เขาต่างหากที่เป็นผู้ต้องรับใช้ประชาชน แต่ตอนนี้ทุกอย่างมันกลับกัน เขาคิดว่าเขาคือเจ้านาย ส่วนประชาชนคือทาสที่เขาจะทำอะไรก็ได้ ทั้งๆ ที่เขาใช้ภาษีประชาชน เขากำลังทำงานให้ประชาชน

 

ในทางกลับกัน ถ้าประเทศนี้เป็นบริษัท เราในฐานะคนเสียภาษี ถือเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนที่จ่ายเงินเดือนให้เขา หลังจากพิจารณานโยบายต่างๆ ที่เขาทำมา เราคงจะไล่กลุ่มคนพวกนี้ออกไปแล้ว เพราะมันทำให้ประชาชนลำบาก เราต้องใช้เวลาออกมาก่นดาคนกลุ่มเล็กๆ เหล่านี้เพื่อให้เขาเข้าใจว่าเขากำลังทำสิ่งที่มันไม่ถูกต้อง แทนที่จะใช้เวลาไปทำมาหากิน โดยเฉพาะในเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ยุคโควิด 

 

อย่างไรก็ตาม เรามองว่าสังคมกำลังเปลี่ยน เรามองเห็นความหวัง ซึ่งก่อนหน้านี้มันไม่มีความหวัง เพียงแต่ประชาชนอาจจะต้องทำงานหนักกว่าปกติ 

 

 

 

ช่วงไหนที่คุณรู้สึกว่าความหวังในการเปลี่ยนแปลงสังคมริบหรี่ที่สุด 

คงเป็นช่วงที่เราตัดสินใจไปทำหนังที่โคลอมเบีย หลังจากเหตุการณ์รัฐประหารครั้งล่าสุด เราทำหนังเรื่อง รักที่ขอนแก่น แล้วเริ่มถูกทหารเข้ามาแทรกแซง มีคนรอบตัวถูกเรียกไปปรับทัศนคติ และมีหลายครอบครัวที่ปะทะกันเรื่องความคิดทางการเมืองจนนำไปสู่จุดที่ครอบครัวแตกสลาย เรารู้สึกเสียใจเพราะว่ามันอยู่ใกล้ตัวมาก เราอยู่เชียงใหม่ ขับรถผ่านหน่วยราชการ เห็นทหารเกณฑ์ชาวบ้านมานั่งฟัง มาร่วมทำกิจกรรมเพื่อจะเปลี่ยนแปลงความคิด ตรงนั้นติดป้ายไว้หราเลยว่าเป็นกิจกรรมเชิงยุทธศาสตร์จิตวิทยา ไม่มีปิดบังอะไรทั้งสิ้น 

 

นี่มันเป็นความคิดของเผด็จการโดยสันดานอย่างซื่อสัตย์ เราคิดว่ากองทัพไทยกำลังป่วยหนักมาก ทหารถูกฝึกมาให้รู้จักแต่การปราบปราม การสร้างความสงบ เขาจึงเห็นความคิดที่แตกต่างของประชาชนเป็นศัตรูที่ต้องปราบปราม การที่เขามีความคิดความเชื่อแบบนี้ มันจึงยิ่งตอกย้ำว่าไม่มีที่ทางของทหารในการเมืองไทย แต่อย่างไรก็ตามมันเสือกมีในประเทศนี้ 

 

และอีกหลายๆ เรื่องที่ทำให้เรารู้สึกตกใจว่ามันยังมีความคิดแบบนี้อยู่อีกเหรอ เราคุยกับชาวบ้าน เขาเล่าให้ฟังว่า จริงๆ แล้วเขาจะเลือกอีกพรรคหนึ่ง แต่ว่าต้องเลือกพรรคทหาร เพราะว่ามีคนมาที่บ้านแล้วเอาเงินให้เขา 500 บาท ถ้าเขาไม่เลือกแล้วมันจะเป็นบาป เพราะเขารับเงินมาแล้ว นี่คือความคิดของคนที่อาศัยอยู่ในเมืองของจังหวัดขอนแก่นนะ ไม่ใช่ในชนบทเลยด้วย 

 

แล้วคุณตอบชาวบ้านกลับไปว่าอย่างไร 

เราพยายามหักห้ามใจตัวเองไว้ เพราะรู้สึกว่าเราควรเคารพในไอเดียของเขา แน่นอนว่าเราพยายามพูดแหละว่ามันไม่จริง ทำไมคิดอย่างนั้น แต่ว่าพอพูดไปได้ไม่นานเราต้องรีบหุบปากตัวเอง เพราะว่าเราไม่สามารถที่จะเอาความคิดของเราไปครอบใครได้

 

เราเชื่อว่าคนเราไม่ได้เปลี่ยนกันได้ภายในเวลาหนึ่งหรือสองนาที การที่คุณบอกว่านักการเมืองโกง ทักษิณจะมาซื้อประชาชนด้วยประชานิยม นักการเมืองชอบคอร์รัปชัน เราก็คิดว่าคุณพูดถูกต้อง แต่ในขณะเดียวกันสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นได้ในสังคมที่คนยังนับถือผีกันอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องเรียนรู้กันไป กว่าทุกคนจะเข้าใจอาจต้องใช้เวลาอีกหลายเจเนอเรชัน 

 

ประชานิยมเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว การกระจายทรัพยากร การกระจายอำนาจ มันต้องผ่านการต่อรอง และชาวบ้านก็ต้องมีอำนาจในการขอด้วย มันต้องให้เวลาคนได้เรียนรู้ กลไกมันกำลังถูกสร้างอยู่ แต่จู่ๆ ทหารเข้ามายึดอำนาจแล้วปัดล้มหมดเลย นี่คือความหายนะที่เราไม่อาจยอมรับได้ 

 

 

 

คุณคิดเห็นอย่างไรกับคนที่ยังฝักใฝ่ในรัฐบาลทหาร ซึ่งพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งที่คอยค้ำยันอำนาจเผด็จการ 

เราพยายามมองเขาเป็นครอบครัวเดียวกัน เพราะว่าคนในครอบครัวเราก็เป็น ไม่ต่างจากคนอื่นเลย เรามองว่ามันเป็นเรื่องของความแตกต่างระหว่างวัย ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนว่าสลิ่มคือคนยุคไหนวัยไหน กลไกของโลกจะทำให้คนพวกนี้ค่อยๆ หมดไปอยู่แล้ว ก็อยู่ที่เวลา แต่ในขณะเดียวกันเราต้องเข้าใจด้วยว่า เราต่างคนต่างอยู่ในกะลาของตัวเอง หรืออาจจะเรียกว่าบับเบิลก็ได้ 

 

คนรุ่นใหม่พยายามจะเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เพราะว่าเป็นสถาบันที่ไม่สามารถถูกพูดถึงอย่างตรงไปตรงมาได้ ต้องพูดกันด้วยความระมัดระวัง ซึ่งหากพูดเรื่องสถาบัน นอกจากเรื่องกฎหมายแล้วยังมีเรื่องของความเชื่อเข้ามาอีกด้วย ไหนจะสื่อต่างๆ ที่รายล้อมระหว่างที่เราเติบโตขึ้นมา ซึ่งล้วนกลั่นกรองภาพพจน์ของสถาบันมาแล้วทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเราจึงมองว่าสถาบันกษัตริย์ในมุมมองของคนไทยหลายๆ คนไม่ต่างกับความเชื่อทางศาสนา เวลาเราพูดคุยกันเรื่องศาสนา หลายครั้งเราจึงไม่สามารถคุยกันด้วยเหตุผลได้ 

 

แม้แต่ในศาสนาเดียวกันยังมีนิยามที่แตกต่างกันออกไป “ฉันเชื่อในพระเจ้า” “ฉันเชื่อในพระเยซู” “พระเยซูของฉันคืออย่างนี้” “คุณไม่เข้าใจหรอกถ้าคุณไม่ได้ประสบอย่างฉัน” เพราะฉะนั้นเราจึงมองว่าเราไม่สามารถจะไปอธิบายเขาว่าอย่างนั้นอย่างนี้ได้เพราะตรรกะมันคนละพื้นฐานกัน  

 

จริงไหมที่การเดินทางไปต่างประเทศบ่อยๆ ทำให้ได้เรียนรู้ชีวิตที่แตกต่างในพื้นที่อื่นๆ ช่วยให้มองโลกกว้างขึ้น เข้าใจความเป็นพลเมืองโลก และเข้าใจว่าประเทศไทยไม่ได้ดีที่สุด 

พูดยาก ถ้าดูจากคนรอบตัวแล้ว แม้แต่คนที่เรียนศิลปะมาด้วยกันที่ชิคาโก จบปริญญาโท เห็นโลกมามากมาย สุดท้ายยังเป็นสลิ่ม หรืออย่างคนใกล้ตัว ทำงานด้วยกัน ซึ่งเรารักเขามากและเขาก็เดินทางไปในหลายประเทศมากกว่าเราด้วยซ้ำ เป็นคนที่จิตใจสวยงามมาก แต่ก็ยังเป็นสลิ่มอยู่ดี เพราะฉะนั้นเราคงพูดไม่ได้จริงๆ ว่าการเดินทางมันช่วยได้ขนาดนั้น 

 

เราคิดว่าการเดินทางไม่ใช่ประเด็นแล้ว คุณนั่งอยู่ที่บ้านตอนนี้ คุณเข้าถึงข้อมูลในต่างประเทศได้เยอะมาก รวมถึงการได้มาซึ่งความรู้สึกว่าเราต้องรับผิดชอบร่วมกัน หรือเราอยู่ร่วมกันได้ในเสียงที่แตกต่างกัน ของแบบนี้มันคงต้องเจอด้วยตัวเอง หรือเจออะไรสักอย่างที่ทำให้ตาสว่างเอง 

 

 

 

 

จริงไหมที่ประเทศเราเป็นประเทศเล็กๆ ไม่ค่อยมีผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ การจะหวังให้ประเทศต่างๆ ในโลกช่วยกดดันเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจึงไม่ใช่เรื่องง่าย 

หมายถึงการแทรกแซงของสหรัฐอเมริกาใช่ไหม ก็จริงในแง่ที่ว่าไม่ว่าประเทศไหนก็ตามที่เขาเข้าไปแทรกแซง ย่อมจะต้องมีผลประโยชน์ เขาอาจจะพูดว่าเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่เราต้องช่วยกัน หรือเรื่องของสิทธิสตรีก็ตาม แต่จริงๆ แล้วโดยพื้นฐานสหรัฐอเมริกาก็เป็นเหมือนบริษัทหนึ่งนั่นแหละ ในการที่เขาจะก้าวขาเข้าไปในประเทศไหนก็ตาม บริษัทก็จะต้องได้ประโยชน์อะไรสักอย่าง เพราะฉะนั้นกับประเทศไทยก็เหมือนกัน 

 

สิ่งที่เราห่วงก็คือ การเข้ามาของจีน มหาอำนาจอีกประเทศหนึ่งหรืออีกบริษัทหนึ่งซึ่งกำลังเข้ามามีสัมพันธ์ทางอำนาจกับไทย เวลาพูดถึงจีน เราไม่ควรพูดถึงในแง่พื้นที่ทางกายภาพเท่านั้น แต่เรามองว่ามันคือประเทศที่กำลังแผ่ขยายอิทธิพลครอบงำประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งไทยก็เป็นส่วนหนึ่ง ไม่ต่างจากการเข้ามาของสหรัฐอเมริกาในยุคสงครามเย็น เพียงแต่ช่วงนี้สหรัฐอเมริกาไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเทศไทยมากแล้ว แถลงข่าวแต่ละครั้งก็ดูจะเป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติมันน่าผิดหวังอยู่ 

 

ดังนั้นถ้าจะตอบคำถามว่าประเทศไทยเป็นประเทศเล็กๆ ไม่ค่อยมีใครสนใจจริงไหม เราว่าไม่นะ เรายังเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพมาก แต่ว่ามันจะถูกกุมโดยใครเท่านั้นแหละ ซึ่งการที่เราเขียนจดหมายถึงผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรมเพราะความรู้สึกนี้ด้วย สิ่งที่คุณทำมันไม่ถูกต้อง มันเป็นการพยายามปลูกฝังประชาชนด้วยว่าประชาชนต้องฟัง ประชาชนจะต้องถูกกดไปตลอด เรื่องการปลูกฝังการใช้อำนาจของผู้นำประเทศไทยในตอนนี้ อีกนัยหนึ่งเหมือนเป็นการเตรียมตัวเพื่อให้จีนได้เข้ามาปกครองอย่างง่ายดายขึ้น ซึ่งมันเกิดขึ้นแล้วที่ฮ่องกง ที่นั่นมีกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติเป็นข้ออ้างในการปราบปรามประชาชน ซึ่งเป็นคำคำเดียวกับที่ทางรัฐบาลไทยกำลังใช้อยู่ตอนนี้เลย สะท้อนว่ารัฐบาลนี้กำลังพยายามกดประชาชนให้เป็นคนที่สยบยอมต่ออำนาจ ซึ่งมันก็มาพร้อมกับการเตรียมพร้อมทางเศรษฐกิจอย่างเช่น ทางรถไฟที่เชื่อมไปจีน หรือทางรถไฟในมเมียนมาที่กำลังสร้างอยู่ด้วย 

 

คุณร่วมงานกับชาวต่างชาติเยอะ ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องการเมืองกันบ้างไหม 

ไม่ค่อยบ่อยหรอก แต่จะมีอยู่เหตุการณ์หนึ่งที่เรายังจำได้จนถึงทุกวันนี้ ช่วงที่เราทำหนังเรื่อง แสงศตวรรษ มีเพื่อนต่างชาติถามเราเกี่ยวกับสถาบันต่างๆ รวมถึงการมีอยู่ของทหารในการเมืองไทยด้วย เราก็ตอบเขาไปด้วยตรรกะที่ถูกป้อนมา ก็คือเรื่องของความสงบเรียบร้อย ประเทศไทยไม่เหมือนประเทศอื่น ประชาธิปไตยของไทยต่างจากของประเทศอื่น ส่วนใหญ่เวลาเขาได้ยินแบบนี้เขาจะเงียบนะ แล้วพอเราเติบโตขึ้นทางความคิด นึกย้อนกลับไปเราก็ได้เข้าใจว่า อ๋อ เพราะเขาเคารพในความคิดของเรา ถึงแม้เขาอาจจะคิดว่าไอ้นี่มันเอาไม่อยู่ กู่ไม่กลับแล้วก็ตาม แต่เขาก็ไม่พูดมันออกมา หรือต่อให้ตอนนั้นเขาจะอธิบายอะไรให้เราฟัง เราก็คงไม่มีทางเข้าใจ และคงจะดื้อดึงในความคิดที่ว่าประเทศไทยพิเศษกว่าใครอยู่ดี ตอนนี้พอเราเจอคนอื่นที่ยังมีความคิดแบบนี้ เราก็พยายามจะเคารพในความคิดของเขาแบบเดียวกับที่เราเคยได้รับมา ไม่ไปกดดันหรือสั่งสอนให้เขาต้องเปลี่ยนแปลง

 

ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของคุณ Memoria ได้รับการ Standing Ovation ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์นานถึง 14 นาที อยากถามว่าแล้วสำหรับคุณ ใครคือคนที่คุณอยาก Standing Ovation ให้มากที่สุด 

อืม (นิ่งคิด) คงจะต้องเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่นี่แหละ คือเราไม่สามารถจะหาอะไรที่ unexpected ได้เท่าพวกเขา เราชอบในการที่เขาออกมาถามคำถาม เพราะเราเชื่อเสมอว่า คำถามก่อให้เกิดการเติบโต เพราะคำตอบเปลี่ยนไปได้เสมอเมื่อโลกเปลี่ยน แต่คำถามนี่แหละที่จะเป็นจุดเคลื่อนโลก เพราะฉะนั้นเราต้องขอบคุณที่คนกลุ่มนี้กล้าออกมาตั้งคำถาม

 

ภาพ: t_Burning 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X