×

‘อภิสิทธิ์’ โพสต์ 9 ข้อคิดวิกฤตโควิด-19 ชี้หากสาธารณสุขยังมีปัญหา เศรษฐกิจไม่ฟื้น รัฐต้องทุ่มงบแก้ปัญหา

02.04.2020
  • LOADING...

วันนี้ (2 เมษายน) อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ Facebook แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการระบาดของโรคโควิด-19 โดยอภิสิทธิ์บอกว่า มีแฟนเพจหลายคนอยากให้ตนเองแสดงทัศนะต่อปัญหาวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งช่วงที่ผ่านมาตนเองพยายามหลีกเลี่ยงการแสดงความคิดเห็นในทางสาธารณะ ไม่ใช่เพราะไม่ห่วงใยกับสภาพปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น แต่ได้เลือกให้ความเห็นเป็นการส่วนตัวกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่ประสงค์

 

อภิสิทธิ์กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ว่า เราอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่เคยประสบมาก่อน และความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ยังมีจำกัด เช่น ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครสรุปได้ชัดเจนทั้งหมดเกี่ยวกับหนทางการติดต่อของโรค คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้หน้ากากอนามัย หรือความเป็นไปได้ที่บุคคลสามารถติดเชื้อซ้ำ ทุกฝ่ายจึงจำเป็นจะต้องเข้าใจความยากลำบากของผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ จึงหลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์ในทางสาธารณะต่อมาตรการต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ดี เมื่อรัฐบาลได้ประกาศภาวะฉุกเฉินมาเป็นเวลากว่าหนึ่งสัปดาห์แล้ว และดูจะตั้งหลักได้ทั้งในการกำหนดมาตรการต่างๆ รวมถึงการสื่อสารที่เป็นเอกภาพมากขึ้น 

 

อภิสิทธิ์ได้โพสต์ 9 ข้อคิดเห็นในประเด็นหลักๆ เกี่ยวกับการระบาดของโรคโควิด-19 ดังนี้

 

  1. เราต้องไม่มองการบริหารสถานการณ์นี้เหมือนเป็นทางเลือกระหว่างการแก้ปัญหาเศรษฐกิจกับการแก้ปัญหาด้านสาธารณสุข เพราะแท้ที่จริงแล้วสองเรื่องนี้ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ในขณะนี้ เนื่องจากตราบใดที่ปัญหาด้านสาธารณสุขไม่คลี่คลายไปอย่างชัดเจน ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะปกติ เพราะผลกระทบต่อฝ่ายต่างๆ และการขาดความเชื่อมั่น จะทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไม่ได้ ในทางกลับกัน หากไม่มีมาตรการทางด้านเศรษฐกิจรองรับที่ดีพอ ปัญหาด้านสาธารณสุขก็จะจัดการไม่ได้ เพราะความจำเป็นของผู้คนที่จะอยู่รอดทางเศรษฐกิจจะส่งผลต่อความร่วมมือกับมาตรการต่างๆ หรือการหยุดการเคลื่อนย้ายเพื่อจัดระยะห่างทางสังคมก็จะไม่ประสบความสำเร็จ การทำงานของทั้งฝ่ายเศรษฐกิจและฝ่ายสาธารณสุขจึงต้องประสานกันอย่างใกล้ชิด โดยมีเป้าหมายเดียวคือการสร้าง ‘สุขภาวะ’ ให้กับสังคมและประชาชน

 

  1. สถานการณ์ของไทยในขณะนี้คล้ายๆ กับหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนคือไม่เลวร้ายเท่ากับจีนเมื่อต้นปีหรือโลกตะวันตกในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลมาจากความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขไทยและบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ เช่น วัฒนธรรมการดำรงชีวิต หรือแม้แต่สภาพภูมิอากาศ ขณะเดียวกันเราก็ยังไม่สามารถที่จะหยุดยั้งการติดเชื้อที่เติบโตขึ้นประมาณวันละร้อยกว่าคนได้ ซึ่งหากดำเนินต่อไป แรงกดดันที่มีต่อระบบสาธารณสุขจะทำให้เกิดความสูญเสียที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและสุ่มเสี่ยงต่อการเข้าสู่สภาวะที่ควบคุมไม่ได้ เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศ นอกจากนี้มีข้อเท็จจริงที่เราต้องตระหนักคือ จำนวนคนที่ได้รับการตรวจว่าติดเชื้อหรือไม่ในไทยถือว่าน้อยมาก และยังมียอดสะสมจำนวนที่รอผลการตรวจมากพอสมควร นอกจากนี้การที่เราเลือกตรวจเฉพาะผู้ที่มีอาการบ่งบอกว่าเราน่าจะมีผู้ที่ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการและไม่ถูกยืนยันเป็นผู้ติดเชื้อประมาณ 4 เท่าของจำนวนที่รายงานในปัจจุบัน ซึ่งคนเหล่านี้สามารถแพร่เชื้อไปยังคนอื่นได้

 

  1. จากข้อเท็จจริงดังกล่าว มาตรการจัดระยะห่างทางสังคมจึงยังต้องดำเนินต่อไปและด้วยความเข้มงวดกวดขันมากขึ้น ขณะที่การลงทุนที่เร่งด่วนที่สุดคือความพร้อมของระบบสาธารณสุขไม่ว่าจะเป็นการเตรียมห้องดูแลผู้ป่วยหนัก เครื่องช่วยหายใจ อุปกรณ์ป้องกันสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เวชภัณฑ์ สถานที่กักกันสำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงหรือผู้ที่ต้องได้รับการเฝ้าดูอาการ บุคลากรและอาสาสมัครที่สามารถสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขได้ โดยการยกเว้นภาษี เร่งรัดขั้นตอนการนำเข้าและการอนุญาตหรือแม้แต่สร้างมาตรการจูงใจให้เกิดการผลิตในประเทศเพิ่มขึ้น

 

  1. ที่เร่งด่วนที่สุดคือการจัดหาชุดตรวจเชื้อโควิด-19 ให้มากพอที่จะนำไปสู่การสุ่มตรวจประชากรที่ไม่มีอาการได้อย่างกว้างขวาง เพราะแม้มาตรการทางสังคมจะประสบความสำเร็จในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันแล้ว การจะให้การใช้ชีวิตและเศรษฐกิจกลับไปสู่ภาวะปกติจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีการตรวจอย่างกว้างขวางเพื่อนำไปสู่การแยกตัวของผู้ติดเชื้ออย่างเคร่งครัด หากไม่สามารถดำเนินการได้ก็จะเกิดการระบาดรอบสองตามมาเหมือนกับที่เริ่มมีปัญหาแล้วในบางประเทศ จนถึงปัจจุบันความขาดแคลนของชุดตรวจเป็นที่ปรากฏชัดซึ่งต้องเร่งแก้ไข

 

  1. รัฐบาลต้องทุ่มกำลังทางด้านงบประมาณไปสู่การช่วยเหลือให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถที่จะอยู่รอดได้ทางเศรษฐกิจ มาตรการที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันต้องให้มั่นใจว่าเกิดความครอบคลุม รัฐบาลน่าจะเริ่มปรับระบบการช่วยเหลือทั้งหมดเข้าสู่หลักการการประกันรายได้ให้คนไทยทุกคนเพื่อให้การสนับสนุนของรัฐบาลนั้นไม่ลักลั่น ตกหล่น หรือซ้ำซ้อน มาตรการเหล่านี้นอกเหนือจากจะเป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนแล้ว ยังต้องมีเป้าหมายในการช่วยลดภาระให้แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งจะต้องมีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมอื่นๆ เพื่อให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตไปได้

 

  1. สำหรับแหล่งเงินที่จะต้องใช้นั้น ฐานะการเงินการคลังของรัฐบาลไทยมีความเข้มแข็งเพียงพอจึงควรเร่งการสร้างความมั่นใจด้วยการแสดงแหล่งที่มาของเงินเริ่มต้นจากการปรับลดงบประมาณในปีงบประมาณ 2563 ทั้งหมดที่ไม่สามารถใช้ได้ตามปกติในช่วง 6 เดือนที่เหลือ แล้วออกกฎหมายโอนมาเป็นงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตโควิด-19 เป็นการเฉพาะ นอกเหนือจากจะได้เงินหลายแสนล้านบาทจากตรงนี้แล้ว ยังเป็นการส่งสัญญาณให้ประชาชนมองเห็นว่าทุกกระทรวงและหน่วยราชการตระหนักถึงความจำเป็นในการบริหารเงินในยามวิกฤตได้เป็นอย่างดี หากจำนวนเงินไม่พอจึงจะใช้วิธีการกู้เงินเพิ่มซึ่งยังอยู่ในวิสัยที่จะกระทำได้มากพอสมควร

 

  1. การดำเนินการเกี่ยวกับงบประมาณและการกู้เงินนั้น หากนายกรัฐมนตรีจะเชิญผู้นำฝ่ายค้านปรึกษาหารือเป็นพิเศษและสามารถนำไปสู่ความร่วมมือของรัฐบาลและฝ่ายค้านในการอนุมัติเรื่องนี้อย่างรวดเร็ว นอกเหนือจากจะเป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาแล้ว ยังจะช่วยให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในระบบการเมืองการบริหารของประเทศมากขึ้น

 

  1. ในการดำเนินการของรัฐบาลในทุกเรื่องในช่วงนี้ แม้จะมีอำนาจพิเศษ แต่ต้องไม่ปิดกั้นการตรวจสอบและการมีส่วนร่วมของประชาชน ควรทำทุกเรื่องอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา ให้เกิดความโปร่งใส

 

  1. เมื่อวิกฤตนี้ผ่านพ้นไป กลไกและโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมตลอดจนการใช้ชีวิตของผู้คนคงไม่กลับไปเหมือนเดิม รัฐบาลควรจัดให้มีการศึกษาถึงแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้ประเทศไทยและคนไทยต่อไป 

 

“ท้ายที่สุดนี้ผมขอเป็นกำลังใจให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาในครั้งนี้โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และผู้ประกอบอาชีพอื่นๆ ที่ต้องเสียสละและเผชิญความเสี่ยงเพื่อให้สังคมไทยเดินหน้าต่อไปได้ และหวังว่าพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนร่วมมือร่วมแรงร่วมใจ เพื่อให้ประเทศของเราฟันฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปได้” อภิสิทธิ์โพสต์ทิ้งท้าย

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X