การประชุมซัมมิตกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ที่ประเทศปาปัวนิวกินี ปิดฉากลงท่ามกลางบรรยากาศอันอึมครึมจากสงครามการแผ่ขยายอิทธิพลและอำนาจของสหรัฐอเมริกาและจีน ความขัดแย้งนี้ทำให้เวที APEC เกิดความแตกแยกในแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และลงเอยด้วยการไม่มีแถลงการณ์ร่วมต่อประเด็นปัญหาต่างๆ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ซึ่งเดินทางมาร่วมประชุมซัมมิตครั้งนี้ ยอมรับว่าจุดยืนเรื่องการค้าที่ขัดแย้งกันระหว่างสองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทำให้ทุกฝ่ายมาถึงทางตัน แต่นั่นไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจสำหรับเขา
“ผมไม่คิดว่าจะเป็นความประหลาดใจครั้งใหญ่อะไร เมื่อที่ประชุมมีวิสัยทัศน์ที่แตกต่างกันเกี่ยวกับการค้า สิ่งเหล่านั้นทำให้ชาติสมาชิกไม่สามารถบรรลุฉันทามติในแถลงการณ์ร่วม” ทรูโด กล่าวต่อสื่อมวลชนที่มารอฟังแถลงการณ์ร่วมของ APEC อย่างใจจดใจจ่อ
ขณะที่ปาปัวนิวกีนี ซึ่งถูกมองว่า ‘โดนรับน้อง’ ในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC ครั้งแรก ยอมรับว่า การประชุมครั้งนี้ไม่มีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม เพราะความขัดแย้งระหว่าง ‘สองยักษ์’
“หากประเทศมหาอำนาจไม่สามารถตกลงกันได้ เราก็ไม่ควรเสแสร้งว่าตกลงกันได้” ปีเตอร์ โอ’นีลล์ นายกรัฐมนตรีปาปัวนิวกีนีกล่าว
สาเหตุที่รอมชอมไม่ได้
สองยักษ์จากสองภูมิภาคคนละซีกโลกชนประสานงากันเกี่ยวกับประเด็นเนื้อหาที่เขียนลงในเอกสารฉบับสุดท้าย โดยจีนยืนกรานไม่ยอมรับย่อหน้าที่เรียกร้องให้มีการยกเครื่ององค์การการค้าโลก (WTO) ใหม่ รวมถึงคำเตือนเกี่ยวกับกลเม็ดและวิธีปฏิบัติในด้านการค้าที่ไม่เป็นธรรม
เป็นที่ทราบกันดีว่า จีนภายใต้การนำของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง เชิดชูนโยบายส่งเสริมการค้าเสรี และปกป้องกฎระเบียบการค้าโลกในกรอบของ WTO ตรงข้ามกับสหรัฐฯ ในยุคของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มองว่ากฎเกณฑ์ของ WTO ทำให้อเมริกาสูญเสียผลประโยชน์ ดังนั้นเขาจึงต้องการจัดระเบียบการค้าโลกใหม่ ดังจะเห็นได้จากการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ฉีกข้อตกลงการค้าหลายฉบับ รวมถึงหันหลังให้กับความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP และเปิดการเจรจาใหม่กับประเทศคู่ค้า เช่น แคนาดาและเม็กซิโกในข้อตกลง NAFTA
คณะบริหารของทรัมป์กล่าวหาจีนมาตลอดว่าพยายามใช้อำนาจบีบบังคับประเทศคู่ค้าในทางเศรษฐกิจ อีกทั้งใช้นโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมในประเทศเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับสินค้าประเทศอื่น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯ อย่างมหาศาล ส่งผลให้ทรัมป์ตัดสินใจใช้มาตรการภาษีกับสินค้าส่งออกของจีน ขณะที่จีนก็ตอบโต้ด้วยมาตรการเดียวกัน จนจุดชนวนสงครามการค้ามูลค่าหลายหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
แหล่งข่าวเผยกับสำนักข่าว ABC ว่า ในที่ประชุม APEC ครั้งนี้ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม พยายามโน้มน้าวให้สหรัฐฯ และจีนรอมชอมกันในแถลงการณ์ร่วม แต่ก็คว้าน้ำเหลว เพราะการประสานรอยร้าวระหว่างสองประเทศต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง
ชิงความเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
ก่อนถึงบทสรุปของซัมมิต APEC ประจำปี 2018 การประชุม 2 วันล้วนถูกครอบงำด้วยสงครามจิตวิทยาระหว่าง สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน และไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มาร่วมประชุมในฐานะตัวแทนทรัมป์ โดยสปีชของทั้งคู่ต่างแฝงด้วยถ้อยคำโวหารที่พยายามชิงความเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้อย่างชัดแจ้ง
เพนซ์ใช้เวทีนี้กล่าวเตือนประเทศต่างๆ ว่าอย่าได้คล้อยตามโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ หรือ Belt and Road ของจีน เพราะจีนเสนอมอบเงินกู้ให้กับประเทศยากจนเพื่อนำไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการก่อสร้างต่างๆ ซึ่งอาจส่งผลให้หนี้สาธารณะพอกพูนจนเกิดวิกฤตขึ้นได้
ผู้แทนสหรัฐฯ ยังปรามาสโครงการ Belt and Road ว่าเป็น ‘Constricting Belt’ หรือแถบเศรษฐกิจที่ตีบแคบ และ ‘One-way Road’ หรือเส้นทางวันเวย์ที่จีนจะได้ประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว
นอกจากนี้เพนซ์ยังเชิญชวนให้ชาติต่างๆ หันมาคบค้าสมาคมกับสหรัฐฯ แทน พร้อมย้ำว่าสหรัฐฯ จะไม่ทำให้ประเทศคู่ค้าจมอยู่ใต้กองหนี้ รวมถึงไม่บังคับคู่เข็ญ คดโกง หรือลิดรอนอิสรภาพของประเทศเหล่านั้น
อย่างไรก็ตาม ในสปีชของสีจิ้นผิงต่อบรรดาผู้นำภาคธุรกิจ ระบุว่า โครงการ Belt and Road ไม่ใช่ ‘กับดัก’ และไม่มีวาระซ่อนเร้นแต่อย่างใด แม้จะมีกระแสโจมตีว่าโครงการในดำริของสีจิ้นผิงเป็นเพียง ‘การทูตสมุดเช็ค’ ในภูมิภาค
สีจิ้นผิงยังวิจารณ์นโยบาย ‘America First’ หรือมาตรการกีดกันทางการค้าของทรัมป์ว่าเป็น ‘กลยุทธ์ที่ไม่มองการณ์ไกล’ ซึ่งท้ายที่สุดจะต้องล้มเหลวไม่เป็นท่า
ออสเตรเลียกับบทบาทกาวใจ?
สกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย กล่าวว่า การดีเบตที่เผ็ดร้อนระหว่างสองชาติมหาอำนาจไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ พร้อมเตือนว่า การกล่าวเกินจริงเกี่ยวกับความตึงเครียดที่เป็นอยู่อาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงได้
“เขตเศรษฐกิจอื่นๆ ยังอยู่รอบโต๊ะประชุม เราแสดงท่าทีอย่างแจ่มชัดแล้วว่าต้องการเห็นปัญหาพิพาทระหว่างจีนและสหรัฐฯ ได้รับการสะสาง” มอร์ริสันกล่าว “เพราะนั่นอยู่ในผลประโยชน์แห่งชาติของเราเช่นกัน และเราได้แสดงจุดยืนเหล่านั้นต่อทั้งสหรัฐฯ และจีนด้วยโอกาสต่างๆ ที่เรามี”
อย่างไรก็ตาม บิล ชอร์เทน ผู้นำพรรคฝ่ายค้านของออสเตรเลีย มองว่า รัฐบาลออสเตรเลียควรเพิ่มบทบาทในการประสานรอยร้าวระหว่างชาติสมาชิก APEC เพราะความขัดแย้งกำลังขยายตัวไปทั่วภูมิภาค
ถึงแม้ความระหองระแหงระหว่างสหรัฐฯ และจีน จะทำให้ทั่วโลกตกอยู่ในความประหวั่นพรั่นพรึง และยิ่งวิตกขึ้นไปอีกเมื่อสีจิ้นผิงและเพนซ์ไม่ได้พูดคุยกันนอกรอบในระหว่างงานเลี้ยงกาลาดินเนอร์เมื่อค่ำคืนวันเสาร์ที่ผ่านมา (17 พ.ย.) แต่เพนซ์ยืนยันต่อผู้สื่อข่าวว่า เขาได้พูดคุยกับสีจิ้นผิง 2 ครั้งในระหว่างการประชุม และทั้งคู่มีบทสนทนาที่ตรงไปตรงมาต่อกัน
เขายังแจ้งกับผู้นำจีนว่า สหรัฐฯ ต้องการปรับปรุงความสัมพันธ์กับจีนให้ดียิ่งขึ้น แต่ขึ้นอยู่กับปักกิ่งว่าจะเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าตามที่วอชิงตัน ดี.ซี. ต้องการหรือไม่
ศึกน้ำลายบนเวที APEC ครั้งนี้จึงอาจเป็นเพียงการเรียกน้ำย่อย เพราะคาดกันว่า สีจิ้นผิงและโดนัลด์ ทรัมป์ จะเผชิญหน้ากันอีกครั้งบนเวทีประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินาในปลายเดือนนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่าถ้อยแถลงของเพนซ์เป็นสาส์นจากทรัมป์เพื่อแสดงให้จีนเห็นว่าสหรัฐฯ จะไม่ยอมถอยในประเด็นการค้า แม้ว่าจีนต้องการลดแรงเสียดทานในที่ประชุม G20 ก็ตาม ซึ่งจะเป็นอย่างไรต่อ ต้องติดตามชนิดตาไม่กะพริบ
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: