เหตุผลที่ 1. แน่นอนว่า ปัจจุบันนั้นโลกผันเปลี่ยนไปตามวันและเวลา เทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เข้ามามีบทบาทสำคัญกับมนุษย์ในทุกๆ จังหวะของชีวิต สิ่งเหล่านั้นก่อให้เกิดทั้งประโยชน์ ในขณะเดียวกันเองก็ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ และอุตสาหกรรมสังคมที่เราต้องเรียนรู้ไว้ในยุคนี้คือยุคของ Digital Disruption ที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทอย่างมาก ส่งผลกระทบในวงกว้าง ไม่เว้นแม้แต่ในวงการอสังหาริมทรัพย์ที่ต่างต้องมีการปรับตัวเพื่ออยู่รอดและตอบโจทย์ในสิ่งที่คนยุคนี้ใฝ่หา โดยทาง AP เองก็เกิดการตั้งคำถามขึ้นว่า ‘เราจะสร้างบ้านที่มีคุณภาพ และเข้าถึงความต้องการที่แท้จริงของมนุษย์ในอนาคตได้อย่างไร’ จึงเป็นที่มาของการนำเอาวิธีคิดแบบ Design Thinking ตามแบบฉบับมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเข้ามาพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์กร
เหตุผลที่ 2. แล้วการเสริมศักยภาพมนุษย์ด้วยวิธีคิดแบบ Design Thinking คืออะไร? ต้องเริ่มต้นทำความรู้จักกับ Design Thinking ก่อน เพราะมันคือกระบวนการคิดเชิงการออกแบบที่ใช้การทำความเข้าใจในปัญหาต่างๆ อย่างลึกซึ้ง โดยมีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง แบ่งกระบวนการความคิดนี้เป็น 5 ขั้นตอน
เริ่มต้นจาก ‘Empathize’ การทำความเข้าใจถึงความต้องการแฝงที่ซ่อนอยู่ในใจผู้บริโภคผ่านการพูดคุยและสังเกตพฤติกรรมผู้บริโภค ถัดไปคือการ ‘Define’ ค้นหาปัญหาให้ถูกจุด ชัดเจน ซึ่งจะเป็นจุดตั้งต้นของการหาวิธีการแก้ไขปัญหาที่แตกต่าง ในขั้นตอนที่ 3 ที่เรียกว่า ‘Ideation’ คือค้นหาแนวทางใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหา เครื่องมือต่างๆ จะนำมาช่วยเปิดมุมมอง ฉีกกรอบแนวคิด ความเชื่อ หรือข้อจำกัดต่างๆ กระบวนการไม่ได้จบแค่การได้มาซึ่งไอเดียเท่านั้น แต่ที่สำคัญคือ พอได้ไอเดียมาแล้วนั้น เราจะทำให้ไอเดียนั้นเป็นจริงได้แค่ไหน ต้องกล้าลองและต้องกล้าล้มเหลว
ลำดับที่ 4 ‘Prototyping’ คือการนำไอเดียที่ได้มาสร้างแบบจำลองด้วยต้นทุนที่ต่ำ เพื่อเตรียมเข้าสู่กระบวนการสุดท้ายคือการ ‘Test’ ทดสอบจริงกับผู้บริโภค เพื่อดูผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งถ้าไอเดียนั้นยังไม่ตอบสิ่งที่ผู้บริโภคมองหา กระบวนการจะวิ่งย้อนกลับไปเริ่มต้นใหม่ที่การทำความเข้าใจถึงความต้องการที่ซ่อนอยู่ของผู้บริโภค จนกว่าจะได้สิ่งที่ใช่ และตอบโจทย์ผู้บริโภค
สิ่งเหล่านี้สำคัญกับเยาวชนไทยอย่างไร? คุณลองคิดถึงคำว่า ‘เยาวชนคืออนาคตของชาติ’ ดูสิ และการมีวิธีคิดแบบ Design Thinking จะช่วยให้พวกเขาคิดไปถึงอนาคตได้กว้างไกล มองปัญหาได้อย่างรอบด้าน กล้าลอง กล้าเสี่ยง จนกว่าจะหาสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ตัวเขาและคนรุ่นหลังต่อๆ ไป หากเรามองวิธีการทำธุรกิจในอดีต เรามักจะใช้ระบบวิธีคิดที่อาศัยเพียงข้อมูลสถิติย้อนหลัง เพื่อคาดการณ์สิ่งที่อาจเกิดขึ้นไปข้างหน้า แต่ในปัจจุบัน ข้อมูลในอดีตเพียงอย่างเดียวไม่สามารถนำมาพัฒนานวัตกรรมที่สามารถเปลี่ยนชีวิตได้ ถ้าเราจะต้องอยู่ในโลกใบใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม ระบบวิธีคิดของเราก็ต้องไม่เหมือนเดิม เราจำเป็นจะต้องหาวิธีที่จะทำให้เราสามารถคิด ทำความเข้าใจ และหาวิธีตอบโจทย์ความต้องการที่คนอื่นยังมองไม่เห็นให้ได้
เหตุผลที่ 3. และแน่นอนว่า AP ได้นำหลักสูตร Design Thinking มาถ่ายทอดให้กับนักศึกษาฝึกงานทั้ง 50 คน ในโครงการ ‘AP Open House 2018’ ถือเป็นโจทย์ของความท้าทายที่นักศึกษาฝึกงานได้รับ กล่าวคือการประยุกต์ใช้กระบวนการคิด Design Thinking กับการออกแบบพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อพัฒนาการอยู่อาศัยในอนาคต และนี่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่อาจจะสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อผู้บริโภคในภายภาคหน้า
เหตุผลที่ 4. โดยในโครงการ AP Open House จะแบ่งกลุ่มนักศึกษาฝึกงานออกเป็นสองความสนใจ สองโปรแกรม อันได้แก่ โปรแกรมที่เน้นความถนัดทางด้านวิศวกรรมโยธา และโปรแกรมที่เน้นความถนัดในเรื่องการตลาด และตลอดระยะเวลาในการฝึกงาน 60 วัน นักศึกษาทุกคนจะได้ทำงานอย่างเต็มที่ ลงมือปฏิบัติจริง เพื่อให้สมกับคำว่า ‘ชีวิตจริง ยิ่งกว่าทฤษฎี’
เหตุผลที่ 5. สิ่งที่น่าจับตามองที่สุดของโครงการ AP Open House คือในแต่ละปีจะรับนักศึกษาฝึกงานเพียงปีละ 50 คนเท่านั้น แน่นอนว่า จำนวนที่นั่งดังกล่าวเป็นที่หมายปองของนิสิตนักศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ ทั้งนี้ยังมีการวัดผลของการฝึกงานผ่านการนำเสนอโปรเจกต์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความจริงจังและมุ่งหวัง เพื่อที่จะพัฒนาน้องๆ นักศึกษาทุกคนอย่างแท้จริง และนี่คือส่วนหนึ่งของผลตอบรับจากโครงการ AP Open House
ภูริพัฒน์ ลิมวัฒนานนท์ นักศึกษาฝึกงานโปรแกรมวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยมหิดล “ชอบโครงการนี้ตั้งแต่เห็นหลักสูตร การันตีว่าจะได้ฝึกงานตรงกับสิ่งที่เรียนมาจริงๆ”
วิลาวัณย์ ละอองดี นักศึกษาฝึกงานโปรแกรมการตลาดและการขาย จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “ไม่ลังเลเลยตอนสมัคร เป็นโอกาสที่ดีที่ได้ลงมือทำงานในสนามจริง”
และนี่คือหนึ่งในโปรแกรมที่ บมจ.เอพี ไทยแลนด์ ผู้นำในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อคนเมืองสร้างสรรค์ขึ้น เพื่อมุ่งพัฒนาศักยภาพ ‘คน’ ที่จะเป็นเฟืองชิ้นสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศชาติให้ก้าวไกลยิ่งๆ ขึ้นไป