เกิดอะไรขึ้น:
วันนี้ (30 กรกฎาคม) บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท AOT มีมติอนุมัติให้ขยายระยะเวลาการปรับปรุงตกแต่งพื้นที่ และเลื่อนระยะเวลาการเริ่มต้นและสิ้นสุดของการอนุญาตประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ ให้กับบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด (KPD) และการอนุญาตให้ประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ภายในอาคารผู้โดยสาร ทสภ. ให้กับบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด (KPS) โดยมีรายละเอียดดังนี้:
- ขยายระยะเวลาของขั้นตอนการดำเนินการปรับปรุงก่อสร้างตกแต่งพื้นที่ประกอบกิจการที่กำหนดไว้เดิมในระยะที่ 1 ออกไปเป็น 18 เดือน ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 (จาก 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564)
- เลื่อนระยะเวลาการเริ่มต้น และสิ้นสุดการประกอบกิจการที่กำหนดไว้เดิมในระยะที่ 2 เป็นตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2575 (จากเดิมที่กำหนดไว้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2575)
- เปลี่ยนแปลงการคำนวณค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำในปีแรก เนื่องจากค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำที่เสนอมาก่อนหน้านี้นั้นคำนวณจากประมาณการจำนวนผู้โดยสารก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
นอกจากนี้ AOT ยังได้ขยายเวลาช่วยเหลือผู้ประกอบการในสนามบิน โดยการเลื่อนชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนในการประกอบกิจการ สำหรับงวดกุมภาพันธ์ถึงกรกฎาคม 2563 และเลื่อนค่าเช่าพื้นที่ ค่าบริการการใช้บริการในอาคาร ค่าบริการสนามบิน และค่าเครื่องอำนวยความสะดวก สำหรับงวดเมษายนถึงกรกฎาคม 2563 ในกับผู้ประกอบการและสายการบิน ณ ท่าอากาศยานภายใต้ความรับผิดชอบของ AOT ทั้ง 6 แห่ง
กระทบอย่างไร:
วันนี้ราคาหุ้น AOT ปรับตัวลง 4.13%DoD สู่ระดับ 52.50 บาท จากระดับ 54.50 บาท และมีผลกระทบต่อ SET Index ลบ 2.96 จุด โดยในวันนี้ SET Index ปิดที่ระดับ 1,315.74 จุด ลดลง 22.61 จุด หรือลดลง 1.69%DoD
มุมมองระยะสั้น:
ประเด็นสำคัญคือข้อ 3 เนื่องจากก่อนหน้านี้ค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำที่กลุ่มคิง เพาเวอร์เสนอ อยู่ที่ 2.35 หมื่นล้านบาทสำหรับปีแรก ซึ่งการคำนวณผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำใหม่จะเป็นการเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำต่อผู้โดยสาร (Sharing Per Head) โดยอิงกับจำนวนผู้โดยสารที่เกิดขึ้นจริงของปีปฏิทินก่อนหน้า
ทั้งนี้ค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำใหม่จะนำมาใช้จนกว่าจำนวนผู้โดยสารจริงของ AOT จะเท่ากับหรือสูงกว่าจำนวนผู้โดยสารตามประมาณการของกลุ่มคิง เพาเวอร์ ในปี 64 ที่ประมาณ 66 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าประมาณการของ SCBS ซึ่งสะท้อนถึงความเสี่ยง Downside ต่อประมาณการค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำและรายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์ของ SCBS
โดยในเบื้องต้น SCBS ประเมินว่า การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อรายได้ของ AOT 6% ในปี FY65 และ 10% ในปี FY66 และมีผลกระทบต่อกำไรปกติที่ 13% ในปี FY65 และ 17% ในปี FY66
มุมมองระยะยาว:
ในระยะยาวยังคงต้องติดตามการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งจะยังคงเป็นปัจจัยกดดันหลักต่อทิศทางผลประกอบการของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังคงต้องติดตามพัฒนาการด้านการคิดค้นวัคซีนต้านโควิด-19 ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการยับยั้งการแพร่ระบาด และทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวสู่ระดับปกติ
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า