เกิดอะไรขึ้น:
อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยอยู่บนเส้นทางการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากการยกเลิกข้อจำกัดการเดินทางควบคู่กับการฉีดวัคซีนโควิดในประเทศได้มากขึ้น ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 ประเทศไทยจะยกเลิกข้อกำหนดให้ตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทางสำหรับผู้เดินทางเข้ามาทุกกลุ่ม แต่ยังตรวจ RT-PCR เมื่อมาถึงประเทศไทย และการตรวจ ATK ด้วยตนเองในวันที่ 5 หลังเดินทางมาถึง
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาวางแผนเสนอต่อศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ให้ยกเลิกการตรวจ RT-PCR เมื่อเดินทางมาถึง และเปลี่ยนมาใช้วิธีการตรวจด้วย ATK (โดยสถานพยาบาลรับรองผลการตรวจ) ซึ่งคาดว่าจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 และจะเสนอให้ยกเลิกไทยแลนด์ พาส (Thailand Pass) โดยนักท่องเที่ยวทุกคนไม่ต้องลงทะเบียนว่าจะเดินทางเป็นนักท่องเที่ยวประเภท Test & Go แซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) หรือกักตัว (Quarantine) ซึ่งคาดว่าจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565
อย่างไรก็ดี SCBS คาดว่าจะเห็นความต้องการเดินทางที่ค้างจากช่วงก่อนหน้า (Pent-up Demand) จำนวนมากหลังจากการท่องเที่ยวไทยตกอยู่ในภาวะซบเซามานาน 2 ปี ในปี 2563-2564 ทั้งนี้จากข้อมูลของ Google Travel Insights ดัชนีความต้องการเดินทาง ซึ่งเป็นเครื่องชี้วัดความต้องการเดินทาง ชี้ให้เห็นว่าแนวโน้มการเดินทางมายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2565 ในระหว่างวันที่ 1-26 มีนาคม จำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศของ AOT ต่ำกว่าระดับก่อนเกิดโควิด 92% (เทียบกับ -94% ในเดือนกุมภาพันธ์) SCBS ตั้งสมมติฐานว่าจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศของ AOT จะเพิ่มขึ้นจาก 0.95 ล้านคนในปี FY2564 สู่ 9 ล้านคนในปี FY2565 จากนั้นจะเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดสู่ 50 ล้านคนในปี FY2566
นอกจากนี้กระทรวงคมนาคมจะเสนอให้ ครม. พิจารณาอนุมัติการมอบหมายให้ AOT เป็นผู้รับผิดชอบดูแลและบริหารจัดการท่าอากาศยานภูมิภาค 3 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานกระบี่ อุดรธานี และบุรีรัมย์ แทนกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ในเดือนเมษายน 2565 ซึ่งยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับรูปแบบผลตอบแทนที่จะให้กับ ทย. อย่างเป็นทางการ
ในเบื้องต้น SCBS จึงประเมินว่าการบริหารท่าอากาศยานเหล่านี้จะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผลประกอบการของ AOT เนื่องจากการดำเนินงานของท่าอากาศยานสามแห่งนี้มีขนาดเล็ก โดยมีผู้โดยสารรวมทั้งหมด ~6.8 ล้านคนในปี FY2562 หรือ ~5% ของจำนวนผู้โดยสารทั้งหมดของ AOT จึงมองว่าประโยชน์ที่จะได้รับคือการเสริมความแข็งแกร่งให้กับคลัสเตอร์สนามบินในประเทศไทย พร้อมกับการบริหารจัดการปริมาณจราจรที่ดีขึ้น โดยการยกระดับท่าอากาศยานบางแห่งให้สามารถรองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศได้โดยตรง
กระทบอย่างไร:
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น AOT ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.72%MoM สู่ระดับ 66.00 บาท ดีกว่า SET Index ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.75%MoM สู่ระดับ 1,697.86 จุด
มุมมองระยะสั้น:
SCBS ประเมินผลประกอบการใน 2QFY65 (มกราคม-มีนาคม 2565) ว่าผลขาดทุนปกติของ AOT จะลดลง YoY และ QoQ จากการคาดว่าการเดินทางภายในประเทศจะเพิ่มขึ้นจากแรงหนุนมาตรการกระตุ้น ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ ของรัฐบาลในเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2565 และมีผู้โดยสารระหว่างประเทศเดินทางเข้ามามากขึ้นหลังจากรัฐบาลกลับมาเปิดใช้มาตรการ Test & Go อีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์
เนื่องจากปริมาณผู้โดยสารระหว่างประเทศเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนผลประกอบการของ AOT ดังนั้นแนวโน้มที่ดีขึ้นจะช่วยหนุนให้ขาดทุนปกติของ AOT ลดลง YoY และ QoQ ใน 3 ไตรมาสข้างหน้าใน 2Q-4QFY65 (มกราคม-กันยายน 2565)
มุมมองระยะยาว:
SCBS คาดว่าขาดทุนปกติจะลดลงจาก 1.53 หมื่นล้านบาท ในปี FY2564 สู่ 1.0 หมื่นล้านบาท ในปี FY2565 และจะพลิกกลับมามีกำไรปกติที่ 1.38 หมื่นล้านบาท ในปี FY2566
สำหรับปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญใน FY2565 จะมาจากจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศที่แข็งแกร่ง และโครงการพื้นที่เชิงพาณิชย์ใหม่ ซึ่ง SCBS มองว่าสองปัจจัยนี้จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนและสร้าง Upside ให้กับผลประกอบการ โดยคาดว่า AOT จะประกาศโครงการพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่มีศักยภาพในปี FY2565 หลังจากแก้ไขข้อตกลงเกี่ยวกับระยะเวลาการใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุเสร็จ
ซึ่งการแก้ไขข้อตกลงดังกล่าวจะสร้างเสถียรภาพให้กับสิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุด้วยการขยายระยะเวลาการใช้ประโยชน์เป็น 30 ปี (จาก 11 ปี) ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจและการลงทุนเพื่อเพิ่มรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบินให้กับ AOT ในอนาคต