×

AOT เปิดงบการเงินไตรมาส 3/2562 กำไรหาย 8.57% มูลค่ากว่า 500 ล้านบาท

โดย THE STANDARD TEAM
14.08.2019
  • LOADING...
AOT

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย เปิดเผยงบการเงินสำหรับไตรมาส 3 และรอบ 9 เดือน (ต.ค. 2561 – มิ.ย. 2562) ในภาพรวมพบว่าท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งมีจำนวนเที่ยวบินรวม 676,925 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 3.12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่งผลให้ในไตรมาส 3/2562 บริษัทมีกำไรสุทธิ 5,883.06 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 551.10 ล้านบาท หรือ 8.57% โดยมีรายได้รวมเพิ่มขึ้น 419.64 ล้านบาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้น 745.14 ล้านบาท และภาษีเงินได้เพิ่มขึ้น 219.50 ล้านบาท 

 

เมื่อเจาะดูเฉพาะรายได้จะพบว่า AOT มีรายได้จากการขายหรือการให้บริการเพิ่มขึ้น 253.96 ล้านบาท คิดเป็น 1.71% มาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการการบิน 272.07 ล้านบาท หรือ 4.17% ส่วนใหญ่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์ ในขณะที่รายได้เกี่ยวกับกิจการการบินลดลง 18.11 ล้านบาท หรือ 0.22% รายได้อื่นเพิ่มขึ้น 165.68 ล้านบาท หรือ 55.79% ค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้น 745.14 ล้านบาท หรือ 9.96% ส่วนใหญ่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุ สำหรับค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้เพิ่มขึ้น 219.50 ล้านบาท หรือ 17.80% โดยส่วนหนึ่งเกิดจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ ซึ่งไม่สามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้

 

ส่วนกำไรสุทธิสำหรับงวด 9 เดือน (ต.ค. 2561 – 30 มิ.ย. 2562) คิดเป็น 19,905.19 ล้านบาท ลดลง 18.25 ล้านบาท หรือ 0.09% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายได้จากการขายหรือการให้บริการเพิ่มขึ้น 1,842.61 ล้านบาท หรือ 4.02% จากการเพิ่มขึ้นทั้งรายได้เกี่ยวกับกิจการการบิน 686.78 ล้านบาท หรือ 2.65% และรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน 1,155.83 ล้านบาท หรือ 5.81% เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสาร รายได้อื่นเพิ่มขึ้น 142.44 ล้านบาท หรือ 12.44% ค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้น 1,549.43 ล้านบาท หรือ 6.92% ส่วนใหญ่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายผลประโยชน์พนักงาน ค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุ และค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย สำหรับค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้เพิ่มขึ้น 453.69 ล้านบาท หรือ 9.90%

 

ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2562 AOT มีหนี้สินรวมทั้งสิ้น 36,386.20 ล้านบาท ลดลงจากวันที่ 30 กันยายน 2561 จำนวน 7,053.23 ล้านบาท หรือ 16.24%

 

ในรายงานยังเปิดเผยสถานการณ์ภาพรวมของอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย โดยระบุว่าภาพรวมอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยระหว่างเดือนตุลาคม 2561 – มิถุนายน 2562 เติบโตขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แม้ว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในภาพรวมชะลอตัว แต่ภาครัฐยังคงมีการใช้มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง โดยได้ขยายเวลามาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียม Visa on Arrival ให้กับนักท่องเที่ยว จากเดิมสิ้นสุดในเดือนเมษายน 2562 เป็นสิ้นสุดในเดือนตุลาคม 2562 โดยนักท่องเที่ยวชาวจีนยังคงเป็นสัญชาติหลักที่เดินทางเข้าออกประเทศไทย 

 

นอกจากนี้การขยายตัวของสายการบินต้นทุนต่ำทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เดินทางทางอากาศจากราคาบัตรโดยสารเครื่องบินที่ถูกลง อีกทั้งการที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (The International Civil Aviation Organization – ICAO) ได้เข้ามาตรวจสอบมาตรฐานการบริหารความปลอดภัยทางด้านการบินของประเทศไทย พบว่าระดับประสิทธิผลของการนำมาตรฐาน ICAO ที่ใช้บังคับในประเทศไทยเพิ่มขึ้นและสูงกว่าค่ามาตรฐานที่ ICAO กำหนด จากการแก้ไขมาตรฐานการบริหารความปลอดภัยด้านการบินของประเทศไทยที่มีมาอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ได้รับการปลดธงแดงในปี 2560 ทำให้เส้นทางการบินมีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการบินและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X