×

AOT ปล่อยเช่าที่ดินทำเลทองรอบสนามบิน 6 แห่ง รวมพื้นที่ 2,512 ไร่ มูลค่าพัฒนาโครงการกว่า 2.8 หมื่นล้านบาท หวังดันไทยเป็น ‘ฮับการบิน’

29.04.2025
  • LOADING...
ที่ดินทำเลทองรอบสนามบิน 6 แห่งของ AOT เปิดให้เอกชนเช่าพัฒนาโครงการมูลค่ากว่า 28,800 ล้านบาท

AOT เปิดคลัง ‘ที่ดินเปล่า’ ปล่อยเช่าเอกชนเข้าลงทุน ในทำเลทองรอบสนามบิน 6 แห่ง ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 46 แปลง คิดเป็นพื้นที่รวม 2,512 ไร่ หวังปั้น Aviation Hub แห่งภูมิภาค สร้างศูนย์กลางเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Hub) ผ่านอสังหา ศูนย์การค้า คลังสินค้า โรงแรม สนามกีฬา ที่อยู่อาศัยระดับพรีเมียม รับเทรนด์ท่องเที่ยวฟื้นตัว – ทุนต่างชาติย้ายเข้าไทย

 

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) หรือหุ้น AOT ซึ่งประกอบธุรกิจท่าอากาศยานของประเทศไทย โดยมีท่าอากาศยานในความรับผิดชอบ 6 แห่ง คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง-เชียงราย ล่าสุดได้ประกาศแผนครั้งสำคัญ ซึ่งจะมีผลต่อสัดส่วนรายได้ในอนาคต

 

โดย AOT ประกาศยุทธศาสตร์สำคัญเพื่อเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจ ด้วยการปล่อยเช่าแปลงที่ดินว่าง ทำเลทองรอบสนามบินใหญ่ 6 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 46 แปลง คิดเป็นพื้นที่รวม 2,512 ไร่ เพื่อให้นักลงทุนนำไปพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร โดยพื้นที่ดังกล่าวมีมูลค่าการพัฒนาโครงการสูงถึง 28,800 ล้านบาท 

 

ปล่อยเช่าที่ดิน รับแผนพัฒนาสนามบิน ให้บริการผู้โดยสาร 244 ล้านคนต่อปี 

 

ปวีณา จริยฐิติพงศ์ รักษาการผู้อำนวยการใหญ่ AOT กล่าวว่า การจัดงาน ‘AOT Property Showcase: The Six Pillars of Opportunity ในวันนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ของ AOT ในการพัฒนาและบริหารจัดการท่าอากาศยานให้ก้าวสู่ระดับโลก

 

ทั้งนี้ งานโชว์เคสครั้งนี้เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี ที่จัดขึ้นในรูปโชว์เคส โดยนำสินทรัพย์ด้านอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในการดูแลของ AOT มารวมให้ผู้ที่เห็นโอกาสและนักลงทุนที่สนใจได้รับรู้มากขึ้น และลำดับต่อไปจะมีการนัดชมพื้นที่จริงอีกครั้งในทั้ง 6 สนามบิน 

 

ที่ดินทำเลทองรอบสนามบิน 6 แห่งของ AOT เปิดให้เอกชนเช่าพัฒนาโครงการมูลค่ากว่า 28,800 ล้านบาท

 

ปวีณากล่าวว่า ปี 2567 สนามบินทั้ง 6 แห่งของ AOT มีผู้ใช้บริการชาวไทยและต่างชาติ เป็นยอดรวมกัน ทั้งสิ้น 119 ล้านคน มากกว่า 732,000 เที่ยวบิน อีกทั้ง ยังมียอดการขนส่งสินค้า 1.42 ล้านตัน ขณะเป้าหมายภายในปี 2575 ทุกสนามบินจะมีผู้โดยสารรวมกันมากถึง 244.5 ล้านคน จากแผนพัฒนาและขยายพื้นที่สนามบินใหม่ๆ ในทุกๆ แห่ง เช่น เทอร์มินัล 3 สนามบินดอนเมือง ,การพัฒนาอาคารเครื่องบินส่วนบุคคล (Private Jet Terminal) และ แผนลงทุนสร้าง Seaplane Terminal แห่งแรกในไทย ที่สนามบินภูเก็ต เป็นต้น 

 

ทั้งนี้ แผนพัฒนาและขยายสนามบินสะท้อนโอกาสทางเศรษฐกิจที่จะต่อยอดได้หลายรูปแบบ เช่น ศูนย์โลจิสติกส์ คลังสินค้า โรงแรม ศูนย์ประชุม ศูนย์การค้า โรงพยาบาล สนามกีฬา รวมถึงโครงการด้านที่อยู่อาศัยและเมืองอัจฉริยะสมัยใหม่ 

 

 

สำหรับพื้นที่ว่างเปล่าที่พร้อมนำมาพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ของ AOT มีทั้งสิ้น 46 แปลง คิดเป็นพื้นที่รวมกว่า 2,512 ไร่ มูลค่าการพัฒนาโครงการกว่า 28,800 ล้านบาท โดยพื้นที่ดังกล่าวจะเปิดให้เอกชนเข้ามายื่นความประสงค์ และ AOT จะดำเนินการคัดเลือกอีกครั้งในกรณีที่มีผู้สนใจพื้นที่เดียวกันมากกว่า 1 ราย โดยรูปแบบการทำสัญญาจะเป็นการเช่าระยะยาว เวลาสัมปทานสูงสุดถึง 30 ปี 

 

สำหรับ 6 เสาหลักแห่งโอกาสการลงทุน (The Six Pillars of Opportunity) มีทั้งที่ราชพัสดุ และที่ดินกรรมสิทธิ์ แปลงศักยภาพมากถึง 46 แปลง รวม 2,512 ไร่ ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นส่วนของพื้นที่ราชพัสดุ Leasehold ที่ AOT เช่าจากกรมธนารักษ์ร้อยละ 73 และเป็นพื้นที่กรรมสิทธิ์แบบ Freehold ที่ AOT ถือกรรมสิทธิ์เอง ประกอบด้วย

 

  1. ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (BKK): แปลง ‘Airport Business’ 4 แปลง รวม 548 ไร่ (Leasehold) ที่ดินทำเลทองภายในสนามบิน ใกล้ศูนย์ขนส่งสาธารณะ ติดถนนสุวรรณภูมิ 4 และถนนสุวรรณภูมิ 2 เชื่อมต่อกับถนนลาดกระบัง และถนนบางนา-ตราด และห่างจากอาคารผู้โดยสารเพียง 9 นาที แปลง A2, B, C และ D เหมาะสำหรับ Medical Hub & Wellness Center / Convention Hall & Exhibition Center / Hotel & Residential Area และแปลง ‘ศูนย์บริการและสนับสนุนกิจการท่าอากาศยาน’ ที่ดิน (Freehold) 7 แปลง ขนาดรวม 462 ไร่ มีถนนและสะพานยกระดับเชื่อมจากภายนอกเข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เข้าออกผ่านทางถนนลาดกระบัง-วัดศรีวารีน้อย ได้ด้วยถนน 4 เลน และห่างจากอาคารผู้โดยสารเพียง 15 นาที เหมาะสำหรับ Logistics & Transportation Hub ศูนย์จัดการสินค้าเกษตร Hotel & Residential Area

 

  1. ท่าอากาศยานดอนเมือง (DMK): อาคาร Junction Building พื้นที่เชิงพาณิชย์ 12,000 ตารางเมตร พื้นที่จอดรถ 3 ชั้น รองรับการใช้งานกว่า 1,000 ช่องจอด และมีโครงการพัฒนาต่อเนื่องเป็นโรงแรม และอาคารจอดรถเพิ่มเติม 

 

  1. ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (CNX): ที่ดิน 3 แปลง ทำเลทองรวม 19 ไร่ (Leasehold) ติดถนนเชียงใหม่ – หางดง เดินทางถึงอาคารผู้โดยสารเพียง 13 นาที ในย่านชุมชน และสถานีขนส่งจังหวัด เหมาะสำหรับ Hotel & Residential Area / Office & Business Center / Commercial & Lifestyle Complex

 

  1. ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (CEI): ที่ดินแปลงสวยขนาดใหญ่ บนที่ตั้งของสนามบิน รวม 762 ไร่ เดินทางถึงอาคารผู้โดยสารภายใน 5 นาที และเดินทางเข้าออกเมืองสะดวก ติดถนนเชื่อมต่อเมืองและสนามบิน เหมาะสำหรับ Hotel & Residential Area / Office & Business Center / Commercial & Lifestyle Complex / Premium Outlet / Logistics & Transportation Hub

 

  1. ท่าอากาศยานภูเก็ต (HKT): ที่ดินแปลงเด่น 7 แปลง รวม 192 ไร่ (Freehold) ใกล้ถนนเทพกษัตรี – ในยาง แปลงทำเลทองที่ติดถนนหลักเข้าสู่ตัวเมืองภูเก็ต เดินทางถึงอาคารผู้โดยสารเพียง 6 นาที รองรับกิจกรรมหลากหลายในการพัฒนา อาทิ Hotel & Residential Area / Convention Hall & Exhibition Center / Medical Hub & Wellness Center

 

  1. ท่าอากาศยานหาดใหญ่ (HDY): ที่ดิน 4 แปลงใหญ่ 15 แปลงย่อย รวม 502 ไร่ (Leasehold) ที่ดินให้เลือกพัฒนาที่ตั้งภายในและภายนอกสนามบิน ติดถนนหลักเชื่อมต่อเมืองและสนามบิน เดินทางถึงอาคารผู้โดยสารเพียง 5 นาที เหมาะสำหรับ Hotel & Residential Area / Office & Business Center / Commercial & Lifestyle Complex / Logistics & Transportation Hub

 

พาณิชย์

 

ดึงอสังหาช่วยผลักดันไทยเป็น Aviation Hub แห่งเอเชีย 

 

ด้วยทำเลที่ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ ติดถนนสายหลัก ใกล้สนามบิน และเชื่อมโยงด้วยโครงสร้างพื้นฐานระดับประเทศ พื้นที่เหล่านี้จึงพร้อมพัฒนาให้กลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจใหม่และกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว ซึ่งสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในการผลักดันประเทศไทยสู่การเป็น Aviation Hub แห่งภูมิภาคเอเชีย 

 

โดยโครงการนี้จะเป็นแรงผลักดันสำคัญในการสร้างศูนย์กลางเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Hub) ในหลายภูมิภาคของประเทศ สร้างการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อม เสริมสร้างมูลค่าเศรษฐกิจฐานราก และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของท่าอากาศยานไทยในระดับสากลได้ 

 

ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการโครงการ TDRI Economic Intelligence Service สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึกในงานนี้ โดย ดร.กิริฎา กล่าวว่า ภายใต้โลกมีความไม่แน่นอนสูง จากนโยบายใหม่ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ นอกจากจะทำให้โลกแบ่งเป็นขั้วมากขึ้นแล้ว ยังทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของเงินทุน ทุนมนุษย์ และสายพานการผลิตที่ชัดเจนยิ่งขึ้นด้วย 

 

ซึ่งโอกาสจะวิ่งเข้าสู่ประเทศที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด เช่นประเทศไทย สะท้อนจากยอดขอรับสิทธิส่งเสริมการลงทุน BOI ของต่างชาติ ที่สูงเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักๆ ที่ต้องอาศัยการขนส่งทางอากาศ ได้แก่ 

 

  1. กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ 
  2. ชิ้นส่วนยานยนต์ 
  3. ไบโอเทคโนโลยี 

 

ด้าน ศิโรตม์ ดวงรัตน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานพัฒนาธุรกิจและการตลาด) AOT กล่าวว่า การที่ AOT มุ่งเน้นการใช้ทรัพย์สินอย่างชาญฉลาดภายใต้แนวคิดการสร้างมูลค่าเพิ่มจากสินทรัพย์นั้น เป็นการสร้างประโยชน์จากทรัพย์สินที่มีอยู่ ให้เป็นรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการด้านการบินเพิ่มเติม และตอบโจทย์การเติบโตของเมือง ศูนย์กลางการเดินทาง และการเชื่อมโยงโลจิสติกส์ 

 

โดยในส่วนของการเตรียมความพร้อม AOT ได้กำหนดอัตราค่าเช่าที่ดิน เริ่มต้นตั้งแต่ 4 บาทต่อตารางวาต่อเดือน ถึง 240 บาทต่อตารางวาต่อเดือน พร้อมจัดเตรียมระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็น สิทธิ์การเช่า และรูปแบบธุรกิจที่ยืดหยุ่น เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ ภายใต้ระบบที่โปร่งใส ยืดหยุ่น และเป็นธรรม 

 

 

ด้าน ยงยุทธ ชัยพรหมประสิทธิ์ กรรมการอิสระและประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง AOT และนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของไทย ได้ร่วมแชร์ประสบการณ์ในงานนี้ โดยระบุว่า 3 ปัจจัยในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ให้สำเร็จ ประกอบด้วย 

 

  1. โลเคชัน ซึ่งทั้ง 6 สนามบิน นับว่าอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ 
  2. ราคาต้นทุน ถ้าต้นทุนถูก สิ่งที่พัฒนาต้องเหมาะสม ถ้าต้นทุนแพง ต้องหาโปรดักต์ที่คุ้มค่าต่อการลงทุน 
  3. ปัจจัยแวดล้อม เช่น Catchment Area มีคนอยู่ คนใช้จ่าย มากน้อยแค่ไหนในพื้นที่นั้นๆ 

 

“มองว่าพื้นที่ทั้ง 6 สนามบินนั้นภาคเอกชนสามารถพัฒนาโครงการได้หลากหลายรูปแบบ เช่น ศูนย์การค้า คลังสินค้า โรงแรม สนามกีฬา ที่อยู่อาศัยระดับพรีเมียม เป็นต้น” ยงยุทธกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising