เฟซบุ๊ก AOT Official ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) โพสต์ข้อความเมื่อช่วงเที่ยงวันนี้ (18 มี.ค.) อ้างอิง นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. โดยกล่าวว่าตามที่ปรากฏการทักท้วงการดำเนินงานของ ทอท. ในการจัดทำข้อกำหนดและรายละเอียดการให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร 4 สนามบิน ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ท่าอากาศยานภูเก็ต, ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ และการบริหารโครงการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยเลือกประมูลแบบสัญญาเดียว (Master Concession) ว่ามีลักษณะผูกขาดและอาจจะไม่สอดคล้องกับกฎหมายร่วมทุนฉบับใหม่นั้น ทอท. ขอย้ำว่าการจัดทำข้อกำหนดและรายละเอียดของทั้งสองโครงการได้พิจารณาข้อมูลดังนี้
1. การเปิดเสรีเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากร (Duty Free Pick-up Counter) เป็นการยุติการผูกขาดธุรกิจร้านค้าปลอดอากร โดยสามารถเห็นตัวอย่างได้จากการเปิดเสรี Pick-up Counter ที่ท่าอากาศยานภูเก็ต คาดว่าหลังเปิดเสรี Pick-up Counter ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะเป็นจุดเริ่มต้นของการแข่งขันในธุรกิจร้านค้าปลอดอากรที่สำคัญของประเทศไทย
2. รูปแบบของการให้สิทธิประกอบกิจการเพียงรายเดียวเหมาะสมแล้ว เนื่องจากการให้สิทธิโดยแยกประมูลตามหมวดสินค้าจะไม่ส่งผลดีต่อประเทศชาติ ร้านค้าปลอดอากรไม่เหมือนการค้าปลีก ท่าอากาศยานมี Contact Gate ที่เปรียบเสมือนประตู และแต่ละ Contact Gate สามารถรองรับเครื่องบินได้ในแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกัน ดังนั้นการไหลเวียนของผู้โดยสารในท่าอากาศยานจึงแตกต่างจากห้างสรรพสินค้า จึงมีความสุ่มเสี่ยงหากแยกสัญญาแล้วทำให้ผู้ประกอบการบางรายมีปัญหาเมื่อปริมาณและการไหลเวียนของผู้โดยสารมีการเปลี่ยนแปลงไป อาจเกิดความแตกต่างในด้านโปรโมชันและมาตรฐานการให้บริการ ทำให้ผู้โดยสารสับสนและอาจเกิดการผูกขาดในรายสินค้านั้นๆ ได้
3. การรวมสัญญาของโครงการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรทั้ง 4 ท่าอากาศยานจะทำให้ผู้ชนะการประมูลมีอำนาจต่อรองกับผู้แทนจำหน่ายสินค้าได้มาก จึงจำเป็นต้องคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวผู้บริหาร ทอท. ให้ข้อมูลผู้สื่อข่าวว่าขณะนี้ทาง ทอท. ได้พิจารณาเลื่อนการขายซองประมูลโครงการประมูลร้านสินค้าปลอดอากร 4 สนามบินและโครงการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ของสนามบินสุวรรณภูมิออกไปก่อนแล้ว จากกำหนดการเดิมจะเปิดขาย 19 มีนาคมนี้ คาดว่าจะใช้เวลาอีก 1-2 สัปดาห์ก่อนจะเดินหน้าตามกรอบเวลาเดิมที่วางเอาไว้ โดยจะรอทุกฝ่ายออกมาชี้แจงเหตุผลให้ครบถ้วน ซึ่งทาง ทอท. พิจารณาแล้วว่าการเปิดสัมปทานสองโครงการไม่ใช่กิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นต่อการประกอบการท่าอากาศยานถึงขั้นถ้าไม่มีแล้วจะไม่สามารถให้บริการสนามบินได้ จึงไม่ถือว่าเข้าข่ายของ พ.ร.บ. ร่วมทุนฯ พ.ศ. 2562 และ ทอท. ได้จัดตั้งคณะกรรมการกลางเข้ามาตรวจสอบการประมูลแล้ว
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: