วันนี้ (23 สิงหาคม) ศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย เปิดเผยว่า อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้มอบหมายให้ทนายความยื่นฟ้อง ณวัฒน์ อิสรไกรศีล พิธีกรผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ชื่อดัง เป็นจำเลยต่อศาลอาญา เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.2029/2564 ในข้อหาหมิ่นประมาทและหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา จากกรณีไลฟ์ผ่านเพจ Facebook ของตน โดยการอ่านข่าวการให้สัมภาษณ์ของอนุทิน กรณีพระราชกำหนดจำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และได้วิพากษ์วิจารณ์ มีถ้อยคำตำหนิ ให้ร้าย สอดแทรก ในระหว่างการอ่านข่าวหรืออ่านข้อความข่าวนั้น เมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา
ซึ่งการเสนอข่าวดังกล่าวเกิดขึ้นจากที่ณวัฒน์ได้พูดโดยมีเจตนาที่จะชี้ชวนให้ประชาชนเข้าใจอนุทินไปในทางที่เสียหาย ว่าเป็นผู้เสนอพระราชกำหนดดังกล่าวเพื่อเป็นการนิรโทษกรรม โดยอ้างบุคลกรทางการแพทย์มาบังหน้าเพื่อให้ตนเองและพวกพ้องพ้นผิดหรือไม่สามารถเอาผิดกับใครได้
ความจริงแล้วณวัฒน์ต้องตรวจสอบก่อนว่ากรณีพระราชกำหนดดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนตั้งคณะกรรมการยกร่างกฎหมาย เพื่อพิจารณากลไกคุ้มครองผู้ทำงานในช่วงภัยพิบัติโรคระบาด โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกฟ้องร้อง ซึ่งเรื่องดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจนหรือได้ศึกษาพิจารณาให้ได้ความกระจ่างหรือแนวทางการดำเนินการ แต่ณวัฒน์กลับด่วนสรุปโดยไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ ซึ่งมิได้เป็นการติชมโดยสุจริต
ทำให้อนุทินต้องเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ซึ่งเจ้าหน้าที่ศาลได้รับคำฟ้องไว้แล้ว โดยกำหนดนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 เวลา 09.00 น.
ทั้งนี้ ในวันเดียวกันอนุทินได้ยื่นฟ้อง วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล เป็นจำเลยต่อศาลอาญา เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.2030/2564 ในข้อหาเดียวกันกับณวัฒน์ จากการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนผ่านเพจ Facebook และช่อง YouTube ของพรรคก้าวไกล กรณีพระราชกำหนดจำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) วิโรจน์ได้วิพากษ์วิจารณ์ มีถ้อยคำตำหนิ ให้ร้ายต่ออนุทิน ในระหว่างการแถลงข่าวและตอบคำถามนักข่าว โดยที่ไม่ใช่การติชมด้วยความเป็นธรรม โดยอาศัยสื่อมวลชนดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ไปยังประชาชนทั่วไป แสดงให้เห็นถึงเจตนาของวิโรจน์ที่จะชี้ชวนสาธารณชนให้เข้าใจอนุทินไปในทางที่เสียหายว่า อนุทินเป็นผู้เสนอพระราชกำหนดดังกล่าวเพื่อเป็นการนิรโทษกรรม โดยอ้างบุคลากรทางการแพทย์มาบังหน้าให้ตนพ้นผิด
ความจริงแล้ววิโรจน์ทราบดีว่ากรณีพระราชกำหนดดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนตั้งคณะกรรมการยกร่างกฎหมาย เพื่อพิจารณากลไกคุ้มครองผู้ทำงานในช่วงภัยพิบัติโรคระบาด โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกฟ้องร้อง ซึ่งเรื่องดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจนหรือได้ศึกษาพิจารณาให้ได้ความกระจ่างหรือแนวทางการดำเนินการ แต่วิโรจน์กลับวิพากษ์วิจารณ์ โดยที่มิได้เป็นการติชมโดยสุจริต เจตนามุ่งร้าย หวังทำลายอนุทินในทางการเมือง ทำลายพรรคภูมิใจไทย ซึ่งมีอนุทินเป็นหัวหน้าพรรค อันอาจเป็นผลต่อการตัดสินใจของประชาชนในการเลือกผู้รับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
การกระทำดังกล่าวของวิโรจน์ ทำให้อนุทินต้องเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ซึ่งเจ้าหน้าที่ศาลได้รับคำฟ้องไว้แล้ว โดยกำหนดนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 เวลา 13.30 น.