วันนี้ (18 กุมภาพนธ์) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก แสดงความเสียใจและร่วมไว้อาลัยกรณี นพ.ปัญญา หาญพาณิชย์พันธุ์ อายุ 66 ปี เสียชีวิตจากโควิด-19 โดยติดเชื้อจากคนไข้คลัสเตอร์โต๊ะแชร์
ขณะที่มูลนิธิคุณวีโรกุศลสงเคราะห์-เอ็งเต็กตึ๊ง-มหาสารคาม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า คณะกรรมการบริหารมูลนิธิคุณวีโรกุศลสงเคราะห์ (เอ็ง เต็ก ตึ๊ง) อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ขอแสดงความเสียใจ ไว้อาลัยอย่างยิ่ง แก่ นพ.ปัญญา ที่ปรึกษาและผู้ร่วมก่อตั้ง มูลนิธิคุณวีโรกุศลสงเคราะห์ (เอ็ง เต็ก ตึ๊ง), ที่ปรึกษาและผู้ร่วมก่อตั้งหน่วยแพทย์อาสา มูลนิธิคุณวีโรกุศลสงเคราะห์, ที่ปรึกษาหน่วยกู้ชีพ-กู้ภัยมูลนิธิคุณวีโรกุศลสงเคราะห์ (เอ็ง เต็ก ตึ๊ง)
ทั้งนี้ ช่วงวันที่ 1-11 มกราคมที่ผ่านมา นพ.ปัญญา ปฏิบัติงานที่คลินิกปัญญาการแพทย์, วันที่ 13 มกราคม ช่วงเวลา 18.00-20.00 น. ผู้ป่วยติดเชื้อระลอกใหม่ รายที่ 11 มาตรวจรักษาด้วยอาการไข้, วันที่ 19 มกราคม ช่วงเวลา 09.00-12.00 น. ผู้ป่วยติดเชื้อระลอกใหม่ รายที่ 9 มาตรวจรักษาด้วยอาการไอ ไม่มีไข้, วันที่ 25 มกราคม ช่วงเวลา 18.30-19.00 น. ผู้ป่วยติดเชื้อระลอกใหม่ รายที่ 2 มาตรวจรักษาด้วยอาการไข้สูง
ต่อมาวันที่ 28 มกราคม ช่วงเย็นทราบว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อระลอกใหม่ รายที่ 2 ที่มาให้ตรวจรักษาในวันที่ 25 มกราคม เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล จึงปิดคลินิกและกลับบ้านพัก ไม่ได้ออกไปไหน (แยกห้องนอน เริ่มกักตัวเอง)
ต่อมาวันที่ 29 มกราคม นพ.ปัญญา เข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ครั้งที่ 1 เวลา 20.00 น. รพ.สุทธาเวช แจ้งผลการตรวจ ไม่พบเชื้อโควิด-19 อยู่บ้านพัก ไม่ได้ออกไปไหน, วันที่ 31 มกราคม มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ครั่นเนื้อครั่นตัว คล้ายจะเป็นไข้
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ช่วงเวลา 17.25 น. เข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ครั้งที่ 2 มีไข้ ช่วงเวลา 19.30 น. เข้ารับการรักษาที่ตึกเฉพาะโรค โรงพยาบาลมหาสารคาม เวลา 22.00 น. ผลตรวจยืนยันพบเชื้อโควิด-19
ขณะที่ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณี นพ.ปัญญา เสียชีวิตจากการติดเชื้อจากผู้ป่วยที่ติดโควิด-19 ที่จังหวัดมหาสารคาม ว่าตนรู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้ นพ.ปัญญา จะไม่ใช่แพทย์ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข แต่ก็เป็นแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งไม่ควรเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ โดยได้มอบหมาย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. ลงไปติดตามสอบสวนโรคเรื่องนี้ โดยเฉพาะกรณีผู้ป่วยติดโควิด-19 คือติดเชื้อมาก่อนแล้วไม่ทราบ หรือทราบแต่ไม่อยู่โรงพยาบาลทั้งที่ต้องอยู่ ต้องสอบสวนอย่างละเอียด จริงๆ ตนอยากลงพื้นที่ไปดูเองด้วยซ้ำไป เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่
เมื่อถามว่ากรณีที่เกิดขึ้นส่งผลต่อขวัญกำลังใจบุคลากรทางการแพทย์หรือไม่ อนุทินกล่าวว่า นี่คือความสำคัญของการมีวัคซีนโควิด-19 และนำมาฉีดล็อตแรกให้กับบุคลากรทางการแพทย์ก่อน เพราะจะช่วยป้องกันได้ เราเห็นความสำคัญ ยิ่งบุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ด่านหน้า ต้องเจอผู้ป่วย หากมีวัคซีนป้องกันก็จะลดความรุนแรงได้
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล