×

จบในแอปเดียว ‘อนุทิน-พวงเพ็ชร’ เปิดโอกาสผู้สูงอายุ-พิการ เช็กเบี้ยยังชีพผ่านแอป ‘ทางรัฐ’ เพิ่มทางเลือกเข้าถึงรัฐบาลดิจิทัล

โดย THE STANDARD TEAM
27.11.2023
  • LOADING...

วันนี้ (27 พฤศจิกายน) เวลา 10.00 น. ที่กระทรวงมหาดไทย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดบริการตรวจสอบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการบนระบบพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชน (Citizen Portal) หรือแอปพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’ โดยมี พวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย รวมถึงข้าราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน 

 

ก้าวสู่ยุครัฐบาลดิจิทัล

 

อนุทินกล่าวว่า วันนี้เป็นวันที่น่ายินดีที่จะได้เปิดการให้บริการตรวจสอบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และเบี้ยความพิการบนระบบพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชน (Citizen Portal) หรือแอปพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความตั้งใจตามนโยบายรัฐบาลที่จะปรับเปลี่ยนการบริหารประเทศให้เข้าสู่ยุครัฐบาลดิจิทัล โดยเมื่อข้อมูลทั้งหลายถูกนำเข้าสู่ระบบออนไลน์แล้ว ประเทศก็จะได้ทั้งการบริหารงานที่โปร่งใส และการให้บริการที่สะดวกสบายสำหรับประชาชน

 

อนุทินกล่าวอีกว่า การนำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างสรรค์บริการ ทั้งการพัฒนาบริการเดิมและเสริมบริการใหม่ จะช่วยลดขั้นตอนการติดต่อราชการที่ซ้ำซ้อนลง และสามารถตอบสนองความต้องการของคนยุคนี้ในการเข้าถึงบริการของรัฐได้ตลอด 24 ชั่วโมง 

 

ลดปัญหาที่เราทุกคนเคยมีประสบการณ์ของความหงุดหงิดเวลาอยากจะทำอะไรนอกเวลาราชการแล้วทำไม่ได้ ต้องมาเสียเวลาเพื่อไปติดต่อราชการตามเวลาราชการ จะทำให้ความรู้สึกแบบนั้นหายไป เมื่อเราเข้าสู่ความเป็นรัฐบาลดิจิทัลโดยสมบูรณ์ จะเป็นการรวมศูนย์บริการภาครัฐให้เป็นพอร์ทัลกลาง ก็ถือว่าเป็น Game Changer เป็นปัจจัยที่จะทำให้รัฐบาลดิจิทัลเกิดขึ้นได้จริง 

 

ทั้งนี้ การที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้นำระบบเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการให้บริการตรวจสอบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการ รองรับผู้ใช้งานกว่า 14 ล้านคน ถือว่าสอดคล้องกับอัตลักษณ์ในการทำงานของกระทรวงมหาดไทยเป็นอย่างยิ่ง คือ การทำงานด้วยความทันโลก ทันสมัย ทันท่วงที สามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม สนองตอบความต้องการของประชาชน

 

เปรียบ ‘แอปทางรัฐ’ เป็นซูเปอร์แอปของภาครัฐ

 

ขณะที่พวงเพ็ชรกล่าวว่า วันนี้เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีส่วนร่วมในการสนับสนุนนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่มุ่งพัฒนาให้ข้าราชการและหน่วยงานมีความทันโลก ทันสมัย เป็นที่พึ่งพาของประชาชน

 

“การที่กระทรวงมหาดไทยได้ให้เกียรตินำบริการตรวจสอบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการมาไว้ในแอปพลิเคชันทางรัฐ สะท้อนถึงการก้าวสู่องค์กรดิจิทัลที่มีความสอดคล้อง คล่องตัว เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่จะผลักดันให้แอปพลิเคชันทางรัฐเสมือนซูเปอร์แอปของภาครัฐ ที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ในแอปพลิเคชันเดียว” พวงเพ็ชรกล่าว

 

ผลักดันระบบกลางของประเทศ

 

ด้าน ขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า สืบเนื่องจากปัญหาที่ประชาชนทั่วไปไม่ทราบ หรือไม่สามารถคำนวณหาช่วงเวลาที่ต้องไปยืนยันตัวตนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้อย่างถูกต้อง มีความเสี่ยงในการไปยืนยันตัวตนล่าช้ากว่าที่ระเบียบกำหนด ส่งผลให้ได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุล่าช้าและจำนวนเงินเบี้ยยังชีพที่ได้รับน้อยลงกว่าสิทธิที่ควรจะได้ หรือต้องการทราบข้อมูลการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยความพิการในแต่ละเดือน ก็จำเป็นที่จะต้องเดินทางมาสอบถามข้อมูลจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก และยิ่งถ้าต้องการข้อมูลจากหลายหน่วยงานก็ต้องเดินทางไปหลายแห่งอีก จึงเป็นการสร้างภาระค่าใช้จ่ายและความยุ่งยากให้กับประชาชนที่ต้องการความสะดวก 

 

แอปพลิเคชันที่รวบรวมบริการที่สำคัญของภาครัฐไว้ที่เดียว 

 

แอปพลิเคชันทางรัฐ คือแอปพลิเคชันที่รวบรวมบริการที่สำคัญของภาครัฐมาไว้ในแอปพลิเคชันเดียว ที่ให้บริการประชาชนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย โดยในปัจจุบันแอปพลิเคชันทางรัฐมีบริการที่พร้อมให้บริการประชาชนกว่า 134 บริการ โดยมีบริการจากภาครัฐที่น่าสนใจมากมาย เช่น บริการตรวจสอบสิทธิประกันสังคม สิทธิการรักษาพยาบาล เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด สิทธิหลักประกันสุขภาพ 

 

รวมถึงฐานข้อมูลการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการที่จะเปิดตัวในวันนี้ เป็นการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 รวมถึงแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2566-2570 ซึ่งรัฐบาลมีเจตนารมณ์มุ่งผลักดันให้แผนนี้เป็นระบบกลางของประเทศ ที่รวบรวมงานบริการภาครัฐไว้ในแหล่งเดียว เพื่อให้ประชาชนได้รับประสบการณ์ที่ดีในการติดต่อราชการผ่านทางออนไลน์

 

‘รัฐบาลดิจิทัล’ นโยบายหลักเพื่อไทย

 

รัฐบาลดิจิทัลเป็นการนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้เป็นกลยุทธ์สำคัญในการยกระดับการทำงานภาครัฐให้มีความทันสมัย เพื่อสร้างบริการที่มีคุณค่าสู่ประชาชน ด้วยการทำงานอย่างเป็นระบบและพึ่งพาทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานอิสระ ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน และปัจเจกบุคคลที่มีบทบาทในฐานะผู้ให้และผู้ใช้ข้อมูล รวมถึงร่วมสรรค์สร้างสาระที่จำเป็นและสำคัญต่อการให้บริการของภาครัฐ 

 

ทั้งนี้ ตลอด 9 ปีที่ผ่านมาในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกกฎหมายผลักดันรัฐบาลดิจิทัล จัดทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ตลอดจนสั่งให้หน่วยงานรัฐพัฒนาแอปพลิเคชันและบริการออนไลน์จำนวนมากเพื่อพัฒนาภาครัฐเป็นรัฐบาลดิจิทัล 

 

ขณะเดียวกัน การพัฒนารัฐบาลดิจิทัลเป็นหนึ่งในนโยบายที่พรรคเพื่อไทยได้หาเสียงไว้เช่นกัน เพื่อประชาชน เพิ่มความโปร่งใสและประสิทธิภาพของภาครัฐ ด้วยการพลิกเปลี่ยนจากรัฐอุปสรรคเป็นรัฐสนับสนุน เพื่อปลดล็อกศักยภาพของประชาชนและผู้ประกอบการให้เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปด้วยกัน และในขณะเดียวกันคือลดช่องทางการคอร์รัปชัน

 

รวมถึงต้องการสร้าง One Stop Service สำหรับการให้บริการภาครัฐ การขออนุญาต อนุมัติต่างๆ จะต้องง่าย สะดวก อยู่ในแพลตฟอร์มเดียว อีกทั้งเพื่อลดดุลพินิจเจ้าหน้าที่ สร้างกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนโดยใช้ระบบเข้ามาเป็นตัวจด เช่น การใช้ Smart Contract เพื่อลดโอกาสในการคอร์รัปชัน และมีการกำหนดระยะเวลาในการอนุมัติให้แน่นอน เพื่อความสะดวก รวดเร็ว และตัดปัญหาการเตะถ่วงและปิดช่องการเรียกเก็บค่าอนุมัติ

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising