×

มหาดไทยจัดระเบียบกลุ่มผู้มีอิทธิพลแบ่งระดับตามความอันตราย ‘อนุทิน’ แนะให้ทำตัวดีๆ เหตุเข้าแล้วออกยากมาก

โดย THE STANDARD TEAM
08.11.2023
  • LOADING...

วันนี้ (8 พฤศจิกายน) อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับนโยบายการปราบปรามผู้มีอิทธิพลว่า เราได้ทำรายชื่อบุคคลที่ต้องเฝ้าระวัง (Watchlist) ของกลุ่มผู้มีอิทธิพล โดยแบ่งตามระดับความอันตรายของแต่ละกลุ่มชัดเจน แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เนื่องจากไม่ต้องการทำให้บุคคลเหล่านั้นรู้สึกว่าถูกคุกคาม แต่เรารู้ดีว่าใครเป็นใคร มีพฤติกรรมอย่างไร ซึ่งเมื่อเข้ามาอยู่ในบัญชีนี้แล้วจะต้องถูกตรวจสอบพฤติกรรม รวมถึงสอดส่องเส้นทางการเงิน บัญชี และการเสียภาษี 

 

“เมื่อเข้ามาอยู่ในบัญชีแล้ว ไม่ใช่ว่าทำดี มีพฤติกรรมดี แล้วจะหลุดจากบัญชีไปง่ายๆ เพราะกว่าจะเข้ามาอยู่ได้จะมีคณะกรรมการพิจารณา ดังนั้นถ้าจะออกต้องให้คณะกรรมการพิจารณาเช่นกัน ดังนั้นทำตัวดีๆ อย่าให้เข้ามาในบัญชีจะเป็นการดีที่สุด” อนุทินกล่าว

 

ถึงเวลาเร่งบังคับใช้กฎหมายปืนเข้มงวด

อนุทินยังกล่าวถึงความคืบหน้าในการควบคุมอาวุธปืนด้วยว่า กระทรวงมหาดไทยปฏิบัติตามหน้าที่ มีหน้าที่ขึ้นทะเบียน ออกใบอนุญาต ทั้งครอบครอง พกพา กระทรวงมหาดไทยเป็นฝ่ายปกครอง ส่วนฝ่ายบังคับใช้กฎหมายคือ ตำรวจ ซึ่งประชาชนคนไทยมีการครอบครองปืนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย กว่า 10 ล้านกระบอก 

 

อนุทินกล่าวต่อว่า ประเทศไทยเป็นนิติรัฐ ไม่ใช่บ้านป่าเมืองเถื่อน เหตุใดคนไทยถึงถือครองปืนมากขนาดนั้น เราต้องสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่า สิ่งที่จะปกป้องความปลอดภัยของประชาชนคือกฎหมายและรัฐ ไม่ใช่อนุญาตให้ประชาชนพกปืนเพื่อป้องกันตัวเอง แล้วหาปืนมาพกกันจนแพร่หลาย เพียงเพราะสามารถหาได้ง่าย 

 

“เมื่อผมมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มันต้องไม่เป็นเช่นนั้น ปืนต้องไม่ใช่ทางเลือกของประชาชน และกระทรวงมหาดไทยจะทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด เราต้องควบคุมการครอบครองปืน หน่วยงานภาครัฐต้องเอาจริงเอาจัง กฎหมายมีอะไรบ้างต้องบังคับใช้อย่างเข้มงวดได้แล้ว” อนุทินกล่าว 

 

ยุคปราบผู้มีอิทธิพล คุมเข้มครอบครองปืน

สำหรับการปราบปรามผู้มีอิทธิพลและการครอบครองอาวุธปืนเป็นนโยบายที่กระทรวงมหาดไทยในยุคของรัฐบาลเศรษฐาให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อจัดระเบียบสังคม เสริมสร้างสวัสดิภาพความปลอดภัย รักษาความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงภายใน รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาภัยคุกคาม เพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพในทุกพื้นที่ของประเทศ

ในอดีตรัฐบาลหลายยุคหลายสมัยเคยมีการปราบปรามผู้มีอิทธิพล เช่น สมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีการตั้งกรรมการอาชญากรรมวินัย เพื่อรับเรื่องร้องทุกข์ของประชาชนที่เดือดร้อนจากโจรผู้ร้าย และผู้มีอิทธิพลยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นำกฎหมายมาบังคับใช้อย่างเด็ดขาด โดยอนุญาตให้มีการประหารชีวิตผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติดและคดีวางเพลิง

และที่เห็นจะเป็นที่กล่าวถึงมากที่สุดคือยุคของ ทักษิณ ชินวัตร ที่มีการประกาศนโยบายปราบปรามยาเสพติดที่ผูกโยงกับการปราบปรามผู้มีอิทธิพล และในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มียุทธการปราบปรามผู้มีอิทธิพล มีรายชื่อที่ถูกขึ้นบัญชีดำกว่า 6,000 ราย 

 

นิยามคำว่า ผู้มีอิทธิพล

กระทรวงมหาดไทยเคยมีคำนิยาม ‘ผู้มีอิทธิพล’ ในปี 2529 ไว้ว่า ผู้กระทำความผิดด้วยตนเอง เป็นผู้ใช้ จ้างวาน สนับสนุน โดยกระทำการอยู่เหนือกฎหมาย หรือกระทำด้วยประการใดๆ ที่มิชอบด้วยกฎหมาย กดขี่ ข่มเหง รังแกประชาชน ที่เป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

 

ขณะที่ศูนย์ข้อมูลอาชญากรรมและการฟอกเงิน เคยมีการทำวิจัยแยกกลุ่มผู้มีอิทธิพลเป็น 4 กลุ่ม คือ 1. ผู้มีอิทธิพลระดับท้องถิ่น 2. ผู้มีอิทธิพลประเภทข้าราชการ 3. ผู้มีอิทธิพลจากผู้ประกอบธุรกิจการค้า และ 4. ผู้มีอิทธิพลที่พัฒนามาจากนักเลงหัวไม้

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X