วันนี้ (8 ตุลาคม) ที่องค์การเภสัชกรรม อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการปลูกกัญชาทางการแพทย์ในรูปแบบโรงเรือน (Greenhouse) โดยมีคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารองค์การเภสัชกรรม ผู้บริหารในพื้นที่จังหวัดชลบุรีร่วมในพิธี
อนุทินกล่าวว่า เรื่องกัญชาเพื่อการแพทย์เป็นนโยบายที่ต้องทำให้เกิดรูปธรรม เพราะเป็นนโยบายที่ใช้หาเสียง ที่ผ่านมากัญชาถูกตีตรามาตลอดด้วยคำว่า ‘ปุ๊น’ ว่า ‘พี้’ ทั้งที่กัญชามีส่วนดีผสมอยู่มาก โดยเฉพาะสารสกัด THC, CBD ซึ่งมีอยู่ในกัญชงเช่นกัน หน้าที่คือต้องเอาส่วนดีมาก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน ทั้งในเรื่องของสุขภาพและเศรษฐกิจ
อนุทินกล่าวต่อไปว่า ความคืบหน้าในการผลักดันแนวคิด ล่าสุดกฎกระทรวงเกี่ยวกับการคลายล็อกกัญชง น่าจะประกาศใช้ได้ทันปีนี้ ขณะที่ พ.ร.บ. คลายล็อกกัญชา หรือการให้ประชาชนได้ปลูก เมื่อมีผู้รับซื้อ และเป็นไปตามกฎหมาย ผ่านคณะรัฐมนตรีไปแล้วอยู่ในชั้นพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา รอเข้าสู่ชั้นพิจารณาในสภาต่อไป นัยของการผ่านคณะรัฐมนตรีคือ ในคณะรัฐมนตรีมีรัฐมนตรีซึ่งเป็นตัวแทนจากพรรคร่วมหลายพรรค ดังนั้นหวังว่าเมื่อเข้าสภาแล้ว ส.ส. ของพรรคร่วมจะสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้เช่นกัน
ระหว่างรอกฎหมายผ่านตามขั้นตอน กรมการแพทย์แผนไทยได้นำร่องการใช้กัญชา เพื่อการแพทย์ไปแล้ว ออกกฎเกณฑ์ต่างๆ เปิดทางให้นำสารสกัดกัญชาไปใช้ในคลินิกกัญชา ซึ่งตั้งอยู่ในโรงพยาบาลหลายแห่งทั่วประเทศ การจ่ายยา การรักษาเป็นไปภายใต้การดูแลจากแพทย์ที่ผ่านการอบรมมา
“ทั้งนี้ต้องขอบคุณองค์การเภสัชกรรมที่ร่วมแรงร่วมใจ ทำนโยบายจนเกิดความคืบหน้า สำหรับนโยบายกัญชาของกระทรวงสาธารณสุขมีเป้าหมายสำคัญเพื่อประโยชน์ของประชาชน” อนุทินกล่าว
สำหรับโครงการที่จังหวัดชลบุรีนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการในระยะที่ 2 เป็นการปลูกระดับกึ่งอุตสาหกรรม ใช้พื้นที่ในการดำเนินการ 1,552 ตารางเมตร รองรับการปลูกกัญชาได้ประมาณ 1,300 ต้นต่อปี เพื่อศึกษาและพัฒนาวิธีการเพาะปลูก
ตลอดจนพัฒนาสายพันธุ์กัญชาทางการแพทย์ที่ให้สารสำคัญสูงและเหมาะสมกับการปลูกในประเทศไทย จะสามารถลดต้นทุนการผลิตช่อดอกกัญชาในอนาคต โดยเน้น 3 สายพันธุ์ลูกผสมที่จำเป็นทางการแพทย์ ทั้ง CBD เด่น THC เด่น CBD:THC (1:1) และสายพันธุ์ไทย ดำเนินการปลูกในโรงเรือน (Greenhouse) 3 ระบบ ได้แก่
ระบบที่ 1 โรงเรือนแบบลดอุณหภูมิด้วยการระเหยน้ำ (Pad and Fan) จำนวน 1 โรงเรือน โดยการติดตั้งพัดลมดูดอากาศผ่านแผ่นทำความเย็นเพื่อให้น้ำระเหยเป็นไอน้ำ น้ำจะดูดซับพลังงานจากอากาศในรูปของความร้อนแฝง ทำให้อากาศที่สูญเสียความร้อนไปกับการระเหยของน้ำมีอุณหภูมิต่ำลง จึงเป็นระบบที่สามารถลดอุณหภูมิได้และมีต้นทุนต่ำ แต่ไม่สามารถควบคุมความชื้นได้ เหมาะสำหรับปลูกกัญชาทางการแพทย์ในช่วงระยะเจริญทางลำต้น
ระบบที่ 2 โรงเรือนแบบผสมผสานควบคุมอุณหภูมิและความชื้น (Hybrid Air Conditioner and Dehumidifier: HAC) 1 โรงเรือน เป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมอุณหภูมิและความชื้นได้ดี รวมทั้งกรองอากาศและป้องกันโรค อาทิ ราชนิด Botrytis และราแป้ง
โดยระบบ HAC มีการทำงานผสมผสานระหว่าง Compressor ที่ใช้น้ำยาแอร์ ร่วมกับ LiCl solution ซึ่งสามารถทำความเย็นและลดความชื้นได้ดีกว่าการติดตั้ง Air Conditioner อีกทั้งยังใช้พลังงานไฟฟ้าเพียง 19% เมื่อเทียบกับการติดตั้ง Air Conditioner และระบบควบคุมความชื้น (Dehumidifier) ที่เหมาะสม
จึงเหมาะสำหรับปลูกกัญชาทางการแพทย์ในช่วงระยะออกดอก เพื่อให้ได้ช่อดอกกัญชาที่มีคุณภาพ
ระบบที่ 3 โรงเรือนแบบระบายอากาศธรรมชาติ (Open Air) จำนวน 2 โรงเรือน เป็นโรงเรือนแบบเปิด มีหลังคาเพื่อป้องกันหยาดน้ำฟ้าและติดตั้งตาข่ายสำหรับกันแมลงขนาดใหญ่
เป็นโรงเรือนที่ต้นทุนต่ำทั้งราคาโรงเรือนและค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ แต่ไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิและความชื้นได้ ซึ่งจะใช้สำหรับการศึกษาวิจัยวิธีการเพาะปลูกกัญชาในสภาพอากาศธรรมชาติ รวมทั้งคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีสารสำคัญสูงให้เหมาะกับสภาพอากาศในประเทศไทย นอกจากนั้นยังได้ทำการปลูกแบบกลางแจ้ง(Outdoor) เพื่อศึกษา วิจัย พัฒนาควบคู่กันไปด้วยในพื้นที่บริเวณเดียวกัน
การดำเนินการดังกล่าวจะได้องค์ความรู้จากการศึกษาและพัฒนาวิธีการเพาะปลูก ตลอดจนพัฒนาสายพันธุ์กัญชาทางการแพทย์ที่ให้สารสำคัญสูงและเหมาะสมกับการปลูกในประเทศไทย และจะสามารถลดต้นทุนการผลิตช่อดอกกัญชาได้ในอนาคต ทำให้องค์การเภสัชกรรมสามารถนำกัญชามาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้เพิ่มขึ้น อันจะส่งผลให้ผู้ป่วยและประชาชนได้เข้าถึงยาอย่างทั่วถึง อีกทั้งยังจะช่วยลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศได้ต่อไป
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า