วันนี้ (16 กันยายน) ที่รัฐสภา อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการลงพื้นที่น้ำท่วมว่า การช่วยเหลือต่างๆ ในเรื่องอาหาร เวชภัณฑ์ ที่พักพิง และเครื่องมือเครื่องจักร ที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้าน ตอนนี้ยืนยันได้ว่าพร้อมและเราจะระดมพลเข้าไป ซึ่งในจังหวัดเชียงรายก็จะหนักหน่อย เพราะมีโคลนหรือดินที่เข้าไปอยู่ในบ้าน ต้องเร่งทำความสะอาด เอาออกมาให้หมดก่อนที่จะแห้ง และถ้าเป็นดินเหนียวก็จะยาก
ส่วนเรื่องการช่วยเหลือ วันนี้เวลา 14.00 น. นายกรัฐมนตรีเรียกประชุมเพื่อตั้งศูนย์บัญชาการแห่งชาติเรื่องภัยพิบัติน้ำท่วม ส่วนข้อสั่งการที่ตนได้รับจากนายกฯ มาตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน คือ เร่งเข้าไปสำรวจความเดือดร้อนของประชาชน และให้กระทรวงมหาดไทยนำเสนอเรื่องบัญชีเป็นรายครัวเรือนว่าแต่ละครัวเรือนจะได้รับการเยียวยาจากรัฐบาลอย่างไรบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องของเม็ดเงิน และเรามีแนวทาง มาตรการอยู่แล้ว และทางกระทรวงมหาดไทยที่กำกับดูแลการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รวมถึงการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.)
ทั้งนี้นายกฯ ได้สั่งการให้ตนไปให้นโยบายกับคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่ง ให้หาวิธีช่วยเหลือเยียวยา เช่น ค่าไฟ ค่าน้ำ ในพื้นที่ประสบภัย ถ้าไม่ต้องจ่ายเงินในเดือนกันยายนได้ก็ทำเลย ถ้าทำไม่ได้หรือผิดกฎอะไรก็จะลดอัตราค่าใช้ไฟฟ้าและน้ำประปาของประชาชน ซึ่งกำลังเร่งประชุมคณะกรรมการอย่างเร่งด่วน ฉะนั้นในเรื่องการเยียวยาเราเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่
อนุทินกล่าวต่อว่า เรื่องการป้องกันต้องยอมรับว่าในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทั้งหลาย เรื่องของการวางแผนป้องกันอุทกภัยจะอยู่ที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ดังนั้นกระทรวงมหาดไทย เรื่องงบป้องกันถูกตัดหมดเลย คงต้องมานั่งคุยกันใหม่ สำหรับงบประมาณปี 2569 ถ้าไม่ให้ทำเรื่องการป้องกัน ก็ต้องไปอัดงบป้องกันที่ สทนช. และต้องเพิ่มองคาพยพต่างๆ ให้เขาสามารถทำเรื่องป้องกันได้
“กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตอนนี้หนักไปที่บรรเทาแล้ว เพราะเรื่องการป้องกันถูกดึงอำนาจออกไปหมดเลย สร้างฝายสักฝายยังไม่ได้เลย อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมวันนี้คงต้องนำเรื่องนี้หยิบยกขึ้นมาหารือ เพราะเป็นกฎหมายก่อนหน้าที่รัฐบาลชุดนี้จะเข้ามาบริหาร ก่อนหน้ารัฐบาลชุดที่แล้วด้วยซ้ำ” อนุทินกล่าว
อนุทินยังกล่าวอีกว่า ในพื้นที่ริมแม่น้ำโขง จังหวัดหนองคาย และนครพนม ทางผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัย เมื่อประกาศก็จะมีเงินทดรองในการเยียวยาช่วยเหลือชาวบ้านโดยที่ไม่ต้องรอการอนุมัติใดๆ ถ้าวงเงินใช้หมดแล้วไม่พอก็ทำเรื่องขยาย เหมือนเชียงรายที่ได้ดำเนินการก่อนหน้า และนายกฯ ก็ได้ให้ความเห็นชอบ ส่วนเรื่องเงินชดเชยความเสียหายจะมีเกณฑ์อยู่ ถ้ามีความเสียหายของบ้านเรือนคาดว่าจะประมาณ 49,000 บาท ย้ำว่างบประมาณมีเพียงพอ แต่เราต้องพยายามหาวิธีการวางแผนป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดอุทกภัยซ้ำซากมากกว่า ซึ่งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ
อนุทินยังย้ำถึงงบประมาณที่ใช้บริหารสถานการณ์และเยียวยาประชาชนว่า มีเพียงพออยู่แล้ว ทั้งงบประมาณสำหรับภัยพิบัติ รวมถึงงบกลาง ที่นายกฯ สามารถใช้ดุลพินิจอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน หากจำเป็นเร่งด่วนหรือฉุกเฉิน ยืนยันว่างบประมาณมีเพียงพอ แต่จากนี้ต้องหาวิธีการวางแผนป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำซาก เนื่องจากมีทั้งปัจจัยภายในและภายนอกที่ต้องพูดคุยเจรจากับต่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่หลายกระทรวงเข้ามาเกี่ยวข้อง