วันนี้ (14 กันยายน) อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำและเยี่ยมให้กำลังใจผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดหนองคาย โดยขับเครื่องบินส่วนตัวไปยังท่าอากาศยานอุดรธานี
อนุทินเปิดเผยก่อนเดินทางลงพื้นที่ว่า สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดหนองคาย มีปริมาณน้ำสูง 1.40 เมตร และท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ เกิดจากปริมาณน้ำโขงสูงขึ้นจากการไหลมาจากจังหวัดเชียงราย และหากมีฝนมาเติมจะทำให้มีน้ำท่วมสูงขึ้นอีกประมาณ 20-30 เซนติเมตร ก็จะทำให้น้ำเอ่อล้นเข้าในพื้นที่ตัวเมือง
โดยการลงพื้นที่ในวันนี้จะดูถึงแนวทางการป้องกันและเยียวยาประชาชนในพื้นที่ว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง และถึงแม้ว่าประเทศจีนและ สปป.ลาว จะปล่อยน้ำจากเขื่อนลงแม่น้ำโขง แต่ความสามารถในการระบายน้ำจะยังระบายได้ดี ไม่เหมือนแม่น้ำสายเล็กที่มักจะมีสิ่งกีดขวาง ติดเกาะ ติดแก่ง ติดถนน ติดสะพาน
อนุทินระบุอีกว่า หากไม่มีการระบายน้ำจากจีนและ สปป.ลาว หรือพายุเข้ามาเติมปริมาณน้ำ ก็จะบริหารจัดการน้ำได้ไม่เกินความสามารถ ส่วนการเตรียมแผนรับมือการอพยพประชาชนในพื้นที่ หากเกิดสถานการณ์เช่นเดียวกับในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ยืนยันว่าเรื่องทรัพยากรเครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ และอาหาร ไม่มีปัญหา เนื่องจากเตรียมระดมไว้อยู่แล้ว รวมถึงการจัดเตรียมสถานที่พักพิง ซึ่งอยู่ในแผนเผชิญเหตุของผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด มีการเตรียมแผนอพยพประชาชน และประชาสัมพันธ์ให้มากที่สุด
แต่ที่ผ่านมาไม่ได้ติดตามตรวจสอบแต่ละบ้าน เพราะเป็นเรื่องยากที่จะให้ประชาชนออกจากบ้านเรือน เนื่องจากมีทรัพย์สินอยู่ในบ้าน จึงต้องจัดหาสถานที่อพยพที่อยู่ใกล้บ้านหรือสามารถมาดูแลบ้านได้ และที่สำคัญผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และอาสาสมัคร ต้องจัดเวรยามดูแลทรัพย์สินเพื่อให้ประชาชนมั่นใจ
“อย่าไปบอกว่าง่าย ไม่มีอะไรง่าย แต่จะทำให้เจ้าหน้าที่รัฐมีเหตุผลในการทำความเข้าใจกับประชาชน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องรักษาชีวิตของประชาชนก่อน ขณะเดียวกันก็ต้องเข้าใจประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐจะต้องทำให้เกิดความปลอดภัยในทรัพย์สินของประชาชนมากที่สุด เจ้าหน้าที่บ้านเมืองต้องเข้มงวดกวดขัน” อนุทินกล่าว
อนุมัติงบเยียวยาเชียงใหม่-เชียงราย 100 ล้านบาท
ส่วนการเยียวยาประชาชนหลังสถานการณ์น้ำเข้าสู่ปกติ อนุทินระบุว่า คำว่าเยียวยามันบอกอยู่ในตัวอยู่แล้ว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ไม่ใช่การชดใช้ และจากการที่นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่จังหวัดเชียงรายวานนี้ (13 กันยายน) ก็เร่งอนุมัติงบประมาณช่วยเหลือให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย จังหวัดละ 100 ล้านบาททันที และสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง ดูแนวทางการเยียวยาบ้านเรือนประชาชนที่เสียหาย ควรออกมาในรูปแบบใด โดยให้ไปหารือกับสำนักงบประมาณและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนน้อยที่สุด
อนุทินยืนยันว่า เมื่อประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะมีงบทดรองจ่ายเพื่อใช้ในการดูแลช่วยเหลือประชาชน และหากงบดังกล่าวหมด สามารถขอเพิ่มได้เร็ว เพราะถือว่าเป็นความจำเป็นเร่งด่วน