วันนี้ (18 สิงหาคม) อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือ ศบค.ชุดใหญ่ ในวันพรุ่งนี้ว่า จะมีการเสนอมติคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเรื่องการลดระดับสถานการณ์โควิด จากโรคติดต่อร้ายแรงมาเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าหากโควิดกลายเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวังแล้วจะมีการกลับมาใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมโรคหรือไม่ อนุทินกล่าวว่า ก็เป็นส่วนประกอบหนึ่งที่ต้องพิจารณา เพราะพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฉุกเฉิน ที่ใช้ปัจจุบันเป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ประกาศใช้ โดยข้อมูลและมติของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติที่ให้โควิดเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง เป็นการเปลี่ยนจากสีแดงเป็นสีส้มอ่อน ซึ่งอาจจะเป็นแนวทางในการประกอบการตัดสินใจของการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อีกแนวทางหนึ่งได้ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของที่ประชุม ศบค.
เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าสถานการณ์ขณะนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด อนุทินกล่าวว่า ยังมีผลหลายอย่าง อย่าไปมองว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะมาจำกัดสิทธิเสรีภาพ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกัน เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถูกนำมาใช้เพื่อควบคุมโรคระบาดเท่านั้นเอง การมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้การดูแลรักษาผู้ป่วยคล่องตัวมากขึ้น เมื่อมีความต้องการยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์หรือวัคซีน ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็จะมีแนวทางปฏิบัติที่รวดเร็ว ซึ่งการมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็เท่ากับมี ศบค. อะไรเร่งด่วนก็เข้าสู่ที่ประชุม ศบค. ซึ่งมีทุกภาคส่วนร่วมพิจารณา ทั้งนายกรัฐมนตรี, ตำรวจ, ทหาร, อาจารย์, แพทย์, ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์ คมนาคม และพาณิชย์ ทุกอย่างรับรู้ด้วยกันหมด ทำให้ผู้ปฏิบัติงานสบายใจและมั่นใจที่จะดำเนินการได้ เหมือนกับมีหลักพิงให้กับข้าราชการที่ต้องไปดูแลประชาชน หากไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทุกอย่างก็ต้องเป็นไปตามระเบียบพัสดุ ทั้งนี้ หากประชาชนดูแลตนเองไม่ให้มีอาการรุนแรงในอนาคต สามารถปรับลดการบังคับใช้กฎหมายได้
ส่วนเวลาที่เหมาะสมในการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะใกล้เข้าสู่การเลือกตั้งแล้ว อนุทินกล่าวว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในกรณีนี้ไม่ได้กระทบวิถีชีวิตใครเลย น่าจะเป็นสิ่งที่ดีด้วยซ้ำ สามารถรวมความร่วมมือของหน่วยงานข้าราชการต่างๆ ซึ่งพวกข้าราชการต่างๆ ได้ดูแลประชาชนได้อย่างเต็มที่ หากอนาคตจะพิจารณายกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็เป็นข้อมูลหนึ่งที่ลดระดับจากโรคติดต่อร้ายแรงเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง ก็น่าจะเป็นแนวโน้มที่ดี
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ประเทศอังกฤษรับรองวัคซีนป้องกันโควิดตัวใหม่ ที่สามารถต้านเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนและสายพันธุ์เดิมได้ในตัวเดียวกัน จะมีการพิจารณานำเข้ามาใช้ในประเทศไทยหรือไม่ อนุทินกล่าวว่า มีคณะกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันที่ประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิร่วมกันพิจารณา หากเห็นชอบก็จะมีการเสนอให้รัฐบาลได้พิจารณา อะไรที่เป็นประโยชน์พร้อมที่จะดำเนินการให้กับประชาชน เรื่องนี้เป็นเรื่องทางการแพทย์ ก็ต้องมีหลักทางการแพทย์เป็นตัวนำในการที่จะนำวัคซีนมาให้กับประชาชน ต้องมีขั้นตอน