วันนี้ (30 มีนาคม) อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวภายหลังการหารือกับเอกอัครราชทูตประเทศจีน พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นไหวและตึกถล่ม ซึ่งทางการจีนบอกว่าการปฏิบัติหน้าที่กู้ภัยของไทยเป็นไปอย่างมาตรฐาน จึงไม่ต้องมีการแนะนำอะไรเพิ่มเติมจากผู้เชี่ยวชาญของจีน เพราะเหตุเกิดมา 48 ชั่วโมงแล้วการเปลี่ยนรูปแบบทำงานไม่น่าจะเกิดประโยชน์อะไร จากนี้ควรใช้เวลาทุกนาที ภายในเวลา 72 ชั่วโมง หาผู้รอดชีวิตให้ได้มากที่สุด
อนุทินเปิดเผยว่า ทางการจีนได้รับฟังกรณีมีผู้รับเหมาชาวจีนมีส่วนร่วมในอาคารที่ถล่ม แต่คงให้ทางการจีนเข้าไปตรวจสอบในหน่วยงานไม่ได้ พร้อมย้ำว่า การพบปะกับเอกอัครราชทูตจีนครั้งนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผู้รับเหมาหรือการค้นหาความจริง เพราะทำไม่ได้อยู่แล้ว แต่เป็นการเข้ามาช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
“ผู้เชี่ยวชาญที่มาพูดคุยกันวันนี้ มาเพื่อประเมินสถานการณ์ แต่ผมได้บอกกลับไปว่าถ้าเกิน 72 ชั่วโมงแล้ว ก็คงต้องลุยเพื่อเคลียร์พื้นที่ให้เร็วที่สุด” อนุทินกล่าว
ส่วนรายงานข่าวที่พบกลุ่มชายชุดดำ หอบแฟ้มเอกสารออกจากพื้นที่เกิดเหตุ จะมีการตรวจสอบหรือไม่นั้น อนุทินระบุว่า วันนี้ได้มีการเซ็นหนังสือแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง มีวิศวกรใหญ่กรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นประธาน นายกสภาวิศวกร และ เป็นหนึ่ง วานิชชัย อาจารย์สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ ร่วมคณะกรรมการสอบ
โดยมุ่งเน้นหาสาเหตุที่ตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม โดยเฉพาะวิศวกร ผู้รับเหมา ผู้คุมงาน เบื้องต้นใช้เวลาตรวจสอบ 7 วัน และไม่ว่าจะหอบแฟ้มใดหนีไปก็ตาม แต่นี่เป็นอาคารของราชการ แบบการก่อสร้างเอกสารการประมูลงาน และสัญญา ก็ยังมีอยู่ที่ สตง.หอบอะไรไปก็ไม่พ้น
ทั้งนี้ หน้าที่ของคณะกรรมการคือการหาความจริงเบื้องต้นว่าเหตุใดตึก 30 ชั้นจึงถล่ม เพราะเป็นตึกใหม่ มีการก่อสร้างหลัง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ที่บัญญัติให้คำนึงถึงปัจจัยแรงต้านแผ่นดินไหว จะมาบอกว่าเพิ่งสร้างแล้วยังไม่เซ็ตตัวไม่ได้ จากนี้ต้องตั้งข้อสงสัยไปที่แบบก่อสร้าง แต่หากถูกต้อง ต้องพุ่งเป้าไปที่การควบคุมงาน
ส่วนที่มีคำถามว่ากรุงเทพมหานคร (กทม.) อนุมัติสร้างตึกนี้ได้อย่างไร อนุทินอธิบายว่า เป็นตึกของราชการ เพียงแจ้ง กทม.เพื่อทราบก็เรียบร้อยแล้ว ส่วนที่เหลือเป็นกระบวนการประมูลของหน่วยงานนั้น ๆ ส่วนผู้ก่อสร้างที่เป็นบริษัทจีนยังไม่ทราบสัดส่วนการทำงานว่ามีเท่าไหร่ เป็นการทำสัญญาแบบกิจการร่วมค้า (JV) ระหว่างไทยและจีน ซึ่งจากนี้ความรับผิดชอบก็ต้องเกิดร่วมกัน หากผู้รับเหมาไทยไม่ผิดก็ต้องไล่บี้กับผู้รับเหมาชาวจีน
อนุทินระบุว่า การตรวจสอบตึกในต่างจังหวัด จะมีโยธาธิการจังหวัดเป็นผู้ตรวจสอบอาคารสาธารณะของหน่วยงานราชการ ส่วนการตรวจสอบอาคารใน กทม.ที่เป็นของเอกชนต่างๆ มีการจ้างเอกชนตรวจสอบเป็นวงรอบอยู่แล้ว ขณะนี้ได้ทำหนังสือขอความร่วมมือ เพื่อให้ตรวจสอบก่อนครบวงรอบ หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว