×

อนุทินระบุ ติดต่อบริษัทขายวัคซีน Johnson & Johnson ไม่ได้ เผยเจรจาซื้อ Pfizer ปีนี้รวม 20 ล้านโดส

โดย THE STANDARD TEAM
30.06.2021
  • LOADING...
อนุทิน ชาญวีรกูล

วันนี้ (30 มิถุนายน) อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยขอให้รัฐบาลนำเข้าวัคซีนโควิดชนิด mRNA เข้ามาเพิ่มเติม เพื่อรับมือสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ว่า หลังจากที่เราลงนาม Term Sheet ไปแล้วเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ขณะนี้อยู่ในการเจรจาร่วมกับวัคซีน Pfizer ขั้นสุดท้าย เป็นการทำสัญญาซื้อขาย (DSA) ซึ่งยังมีบางข้อความที่สำนักอัยการสูงสุดกำลังเร่งตรวจสอบอยู่ และเร่งให้กรมควบคุมโรคเจรจา เพื่อไม่ให้กระทบการจัดส่งวัคซีน Pfizer ตาม Term Sheet ว่าเขาจะส่งให้เราในไตรมาส 4 

 

อนุทินระบุว่า วัคซีน Pfizer เป็นชนิด mRNA ที่ใกล้มือมากที่สุด ล็อตนี้ 20 ล้านโดส อย่างไรก็ตาม ทางศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็กำลังศึกษาวัคซีนชนิด mRNA เช่นกัน เราก็ต้องส่งกำลังใจไปให้มีความสำเร็จโดยเร็ว

 

อนุทินกล่าวว่า การพิจารณาเรื่องวัคซีนในประเทศไทยจะต้องผ่านความเห็นจากคณะกรรมการวิชาการวัคซีน ที่มี ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ, นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ รวมถึง ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ เป็นคณะทำงานประชุมร่วมกันทุกวัน เพื่อวางแนวทางเรื่องการใช้วัคซีนใด วิธีใด ห่างกันอย่างไร แล้วแจ้งมติมายัง สธ. เพื่อให้แพทย์ปฏิบัติตาม แม้แต่อธิบดีกรมการแพทย์จะฉีดวัคซีนตามใจตัวเอง หรือแพทย์จะฉีดตามความเชื่อส่วนตัวก็ไม่ได้ ตนและ สธ. มีหน้าที่ปฏิบัติตามแนวทาง หากคณะกรรมการบอกว่าต้องซื้อวัคซีนชนิดใดเพิ่ม ก็จะต้องไปเร่งนำเข้า ครม. หางบประมาณมาเพิ่มเติม และพยายามจัดหามาให้มากที่สุด

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า วัคซีนชนิด mRNA ในปีนี้ จะได้รับสูงสุดที่ 20 ล้านโดสหรือไม่ อนุทินกล่าวว่า สำหรับปีนี้ ทางบริษัท Pfizer ที่เจรจาร่วมกัน เขาระบุไว้ 20 ล้านโดส แต่เราก็ติดต่อกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนทุกเจ้า เพื่อเตรียมไว้สำหรับปีหน้าให้รองรับสายพันธุ์อื่นๆ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนใดที่ผลิตขึ้นมาครอบคลุมสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) และเดลตา (อินเดีย) เพียงแต่ว่ายังสามารถป้องกันเจ็บป่วยรุนแรง เสียชีวิตได้ วัคซีนทุกชนิดยังยืนอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน

 

ส่วนความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเจรจากับประเทศอื่นเพื่อซื้อวัคซีนชนิด mRNA เข้ามาเพิ่มเติม อนุทินกล่าวว่า ต้องดูตามกฎหมายว่าระบุอย่างไร ว่าผู้นำเข้าวัคซีนได้จะต้องเป็นใคร เช่น ต้องเป็นผู้ได้รับการจดทะเบียนให้นำเข้ามาเท่านั้น อย่างหากเราจะซื้อวัคซีนชนิด mRNA เราต้องติดต่อกับบริษัท Pfizer ประเทศไทยเท่านั้น แม้กระทั่งวัคซีนที่สหรัฐอเมริกาจะบริจาคให้เรา 1.5 ล้านโดส ในสัญญาก็ต้องมีบริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เข้ามาเอี่ยว

 

“ผมก็ถามว่าไม่ได้นำสต๊อกมาจากโกดังของรัฐบาลสหรัฐฯ หรือ เขาก็ว่าไม่ใช่ ที่ Pfizer ต้องเข้ามาเอี่ยวเพราะต้องเอามาจากโรงงานของเขา ทุกวันนี้วัคซีนทุกขวดในประเทศไทยต้องวิ่งตรงมาจากโรงงาน ไม่ได้ออกจากสต๊อกหรือโกดังที่ไหน ออกจากโรงงานก็ขึ้นเครื่องมาเมืองไทย ซึ่งเป็นการการันตีความปลอดภัยว่าวัคซีนนี้ไม่ได้หลุดไปอยู่ที่อื่นมาก่อน ผมเองก็ต้องถามว่าเก็บดีเท่าโรงงานผลิตหรือเปล่า ผมก็ต้องสงสัย” อนุทินกล่าว

 

อนุทินกล่าวว่า ตอนนี้ก็อยากประกาศคนหาย วัคซีน Johnson & Johnson ที่เราก็เตรียมลงนามสัญญา Term Sheet แต่ก็ไม่สามารถติดต่อกับบริษัท แจนเซ่น-ซีแลก จำกัด ได้ อันนี้เป็นความผิดเราหรือไม่ เพราะเราเร่งแล้ว อย่างไรก็ตาม คาดว่าทางบริษัทผู้ผลิตวัคซีนอาจเกิดปัญหา ซึ่งเราก็มีข้อมูลจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติในเรื่องนี้เช่นกัน มีคณะกรรมการวิชาการทางการแพทย์เตือนมา เราก็ต้องฟัง เพราะเราจะไม่เอาประชาชนมาเป็นหนูทดลอง

 

“การฉีดวัคซีนเพื่อความปลอดภัย เราต้องฟังคณะกรรมการวิชาการวัคซีน ซึ่ง สธ. ทำมาโดยตลอด นอกจากนั้น วัคซีนไข้หวัดใหญ่เองก็ต้องผ่านความเห็นคณะกรรมการเช่นกัน ไม่มีการเอาอารมณ์มาตัดสินใจเรื่องวัคซีน ต้องมีที่ให้หลังพิง” อนุทินกล่าว

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X