วันนี้ (28 กันยายน) ที่กระทรวงสาธารณสุข อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงข้อเสนอเรื่องลดระยะเวลาการกักตัว 14 วันให้กับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ว่ามีการหารือในเรื่องนี้ ทั้งในที่ประชุมของกระทรวงสาธารณสุขและในที่ประชุมของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. แต่ยังไม่ตกลง เพราะอยู่ระหว่างประเมินผลประสิทธิภาพการทดสอบหาเชื้อแบบใหม่ ซึ่งทดลองกับกลุ่มตัวอย่างหลัก 100 คนไปแล้ว ได้ผลลัพธ์น่าพอใจ แต่สมควรต้องทดลองเพิ่มไปเป็นหลักพันคน หรือจนกว่าจะมั่นใจว่าวิธีการนี้ได้ผลน่าเชื่อถือ 100%
“ปัจจุบันนี้ประเทศไทยใช้วิธี RT-PCR ซึ่งถือว่าดีมาก ทั้งนี้ วิธีการที่กำลังอยู่ระหว่างศึกษาเป็นการตรวจเลือด และได้ให้นโยบายไว้คือ ต้องทำทุกอย่างให้เป็นประโยชน์ ถ้าสามารถลดระยะเวลาการกักตัวเหลือน้อยกว่า 14 วันได้ โดยที่ไม่กระทบกระเทือนเรื่องความปลอดภัย นับเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะช่วยลดงบประมาณที่ต้องใช้ในการกักตัว” อนุทินกล่าว
อนุทินกล่าวต่อไปอีกว่า ปัจจุบันได้พูดคุยในเรื่องการคลายล็อกเพิ่มเติม ไปจนถึงค่อยๆ เปิดประเทศ เพื่อการท่องเที่ยวและทำธุรกิจ ซึ่งประเทศที่จะได้เข้ามาก็ต้องดูที่ความสามารถในการควบคุมโรคระบาดของประเทศนั้นด้วย หากไม่พบผู้ติดเชื้อ ย่อมมีโอกาสเข้ามาในประเทศไทยมากกว่าประเทศที่ยังพบการระบาดอยู่ แต่ที่สำคัญเมื่อถึงวันนั้นนักท่องเที่ยวหรือนักธุรกิจต้องปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด บอกให้ใส่หน้ากาก ก็ต้องใส่หน้ากาก
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงการช่วยเหลือด้านสาธารณสุขกับประเทศเมียนมา ซึ่งกำลังประสบปัญหากับการควบคุมโควิด-19
อนุทินตอบว่า ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปหาข้อมูลแล้วว่า ประเทศไทยสามารถช่วยอะไรได้บ้าง โดยห้ามกระทบกับคนไทย แต่การช่วยเหลือจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีการขอมาจากทางการเมียนมาเท่านั้น เพราะต้องคำนึงถึงเรื่องของการทูตด้วย
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล