×

วายัง อมฤต นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ (บทที่ 1-2)

26.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read

:: คำนำ

     ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์อภิวัฒน์สยามในปีพุทธศักราช 2475 นั้นเป็นเหตุการณ์สำคัญมากเหตุการณ์หนึ่งในประเทศของเรา การเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้นส่งผลกระทบถึงสังคมส่วนใหญ่และปัจเจกชนส่วนย่อยจำนวนมาก เรื่องราวของผู้ที่ต้องเปลี่ยนแปลงชีวิตจากการอภิวัฒน์ครั้งนั้นมีบันทึกไว้มากมาย แต่ละบุคคลล้วนผิดแผกแตกต่างกันไป

     ชีวิตของผู้คนนั้นเป็นแกนกลางของนวนิยายอยู่เสมอโดยเฉพาะนวนิยายประวัติศาสตร์ ดังนั้นการหยิบยกชีวิตของบุคคลที่เคยอยู่ในตำแหน่งที่สูงเด่น หากแต่ต้องผกผันอย่างคาดไม่ถึงมาเล่าใหม่ในครั้งนี้ แม้จะมีความจริงแฝงอยู่หลายประการ แต่การพ้องเคียงกับชีวิตของบุคคลใดก็ตามเป็นเพียงจินตนาการโดยสมบูรณ์ของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว

     อนุสรณ์ ติปยานนท์

 

บทนำ

     เรื่องราวที่ข้าพเจ้าจะเล่าต่อไปนี้หมายใจว่าท่านทั้งหลายจะรับฟังมันจนจบถ้วนกระบวนความ เพราะหากท่านรับฟังมันเพียงครึ่งเพียงกลาง เยี่ยงเด็กหนุ่มที่ปราศจากความอดทนที่จะได้รับรสจูบเป็นครั้งแรกจากหญิงสาวที่เขาพึงปรารถนาเสียแล้ว ท่านก็จะได้รับรู้มันเพียงบางส่วนเสี้ยวเท่านั้นเอง

     ความรักนั้นดีอยู่เมื่อเริ่มต้น ดื่มด่ำในท่ามกลาง และมักปวดร้าวเสมอในบั้นปลาย นั่นคือสิ่งที่ข้าพเจ้าผู้อยู่ในปัจฉิมวัยอยากกล่าวไว้เป็นอุทาหรณ์เช่นนั้น และเรื่องราวของกรมพระฯ ล้วนเป็นเช่นนั้นเสียด้วย การด่วนตัดสินใดๆ ในชีวิตของบุรุษผู้นี้ดูเป็นเรื่องง่าย และข้าพเจ้าก็เห็นบรรดาหนังสือพิมพ์รีคอร์เดอร์เกร่อๆ ที่พิมพ์ขายทั่วไปในยามสงครามชอบกระทำกัน ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจเขียนถึงเรื่องราวเหล่านี้ขึ้นหลังจากที่เอกบุรุษผู้นี้ได้จากโลกของเราไปแล้ว

     เรื่องราวแห่งการผจญภัยอันเปี่ยมล้นด้วยความลี้ลับ เอกอุในเรื่องอัศจรรย์นานา เรื่องราวที่เต็มไปด้วยความหวาดเสียว และมหันตภัยที่แม้ข้าพเจ้าเองก็ยังเสียวสันหลังจวบจนบัดนี้ หากแต่เรื่องราวเหล่านั้นกลับแฝงด้วยกุสุมรสมากมายราวกับมันเป็นวรรณกรรมชั้นดีที่กรมพระฯ มักคัดเลือกมันมาอ่านเสมอในเวลาว่าง ข้าพเจ้าไตร่ตรองและใคร่ครวญอยู่เนิ่นนานว่าข้าพเจ้าควรนำเสนอเรื่องราวที่ว่านี้ไหม และในที่สุดข้าพเจ้าก็ปลงใจ เรื่องราวของชายผู้เคยกุมอำนาจมากที่สุดแห่งกองทัพสยาม หากแต่ใช้ชีวิตในช่วงท้ายอย่างสงบรำงับกับการแปลนิทานปรัมปราที่ไม่มีใครใฝ่ใจจะอ่าน มันเป็นเรื่องราวที่ไม่อาจผ่านเลยไปได้โดยไม่บันทึกถึงมัน

     ในเรื่องราวต่อไปนี้กรมพระฯ ทรงเป็นตัวเอกในเรื่องราวเหล่านี้โดยแน่แท้ และข้าพเจ้าที่แม้จะมีบทบาทอยู่บ้างก็ในฐานะตัวประกอบที่ทำให้เรื่องดำเนินไปได้ ด้วยเหตุนี้เองแม้ว่าทุกอย่างจะเล่าผ่านมุมมองส่วนตนของข้าพเจ้า แต่ขอให้เชื่อใจเถิดว่า ทั้งหมดทั้งปวงนั้นเป็นมุมมองที่ข้าพเจ้าเชื่อว่าหากกรมพระฯ ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ก็คงจะปรารถนาเช่นนั้นเอง

     และด้วยเหตุนี้ภายใต้ตะเกียงหนึ่งดวง ห้องเล็กๆ ในบันดุงและเเฟ้มเอกสารจำนวนมาก ข้าพเจ้าได้เริ่มต้นเขียนเรื่องราวเหล่านี้

 

——————

 

 

บทที่หนึ่ง

      ข้าพเจ้าได้รับจดหมายของกรมพระฯ เป็นครั้งแรกในขณะที่อยู่บนเรือนิชิมารู พนักงานรับใช้ประจำเรือนำจดหมายฉบับนั้นมาให้ในช่วงเช้าขณะที่ข้าพเจ้ากำลังสนทนากับซินยอร์ร่าฟรานเชสก้าอย่างออกรส ในช่วงแห่งสงครามนั้นมีแต่เรือของประเทศญี่ปุ่นที่สามารถแล่นผ่านไปมาในมหาสมุทรอินเดีย และบนเรือเหล่านั้น ท่านจะพบชาวยุโรปได้ก็แต่ชาวเยอรมันและชาวอิตาเลียน

     อย่างไรก็ตาม ซินยอร์ร่าฟรานเชสก้าหาได้เหมือนชาวยุโรปโดยทั่วไปที่สนใจแต่เรื่องราวของตนเองไม่ ในระหว่างบทสนทนาเหนือถ้วยชาอัสสัม หญิงสาวผู้เดินทางพร้อมด้วยสามีขี้โรคที่ยึดอาชีพเป็นพ่อค้ายางพาราในสุมาตรา เล่าให้ข้าพเจ้าฟังถึงเรื่องราวต่างๆ นานาในโลกนี้ นับแต่การค้นพบสุสานตุตันคาเมนของ โฮเวิร์ด คาร์เตอร์ วาระสุดท้ายของพระเจ้าธีบอ วิธีการคล้องช้างในมาลายา รวมถึงเรื่องราวของเหล่าคนหนุ่มที่สำเร็จการศึกษาจากฝรั่งเศส ผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศตนเองไปเมื่อทศวรรษก่อน

     ข้าพเจ้าดื่มด่ำกับเรื่องราวเหล่านั้นของซินยอร์ร่าฟรานเชสก้า จนกระทั่งจดหมายจากกรมพระฯ ถูกวางลงบนโต๊ะ มันเป็นจดหมายในซองสีขาวที่จ่าหน้าถึงข้าพเจ้าอย่างชัดเจน ข้าพเจ้าใช้ผ้าเช็ดปากทำความสะอาดมีดทาเนยก่อนจะใช้มันเปิดซองจดหมายนั้นขึ้น ข้อความในจดหมายเป็นไปอย่างธรรมดาสามัญ หากแต่ว่ามันกลับชักนำข้าพเจ้าให้ได้พบกับบุรุษผู้เคยทรงอำนาจที่สุดคนหนึ่ง บุรุษที่ในยามนี้กลับมีชีวิตอย่างสงบเสงี่ยมเจียมตนเสียเต็มประดา

     ข้าพเจ้ามีนามว่า ไฮน์ริช เบิล ข้าพเจ้าผู้มีอาชีพเป็นนักแปล ข้าพเจ้าผู้รู้ภาษาถึงแปดภาษา และด้วยจดหมายสามัญธรรมดาฉบับนั้นเองที่ทำให้ข้าพเจ้าต้องขวนขวายเรียนรู้ภาษาที่เก้าในที่สุด

     ภาษาแห่งราชอาณาจักรสยาม

 

——————

 

  

บทที่สอง

     หลังเปิดซองและอ่านข้อความในจดหมายแล้ว ข้าพเจ้าขอตัวกับซินยอร์ร่าฟรานเชสก้าอย่างละล่ำละลัก ก่อนจะกลับไปที่ห้องพักอย่างเร่งด่วน เหตุการณ์ในวันนั้นผ่านพ้นมากว่าสามปีแล้ว หากแต่ในมโนสำนึกของข้าพเจ้ามันยังแจ่มชัดอยู่มิรู้คลาย

     ตัวกระดาษจดหมายเป็นกระดาษชั้นดีจากเมืองฟาเบียโน่ทางเหนือของอิตาลี ส่วนหมึกสีดำนั้นไม่ต้องสงสัยเลยว่าเป็นน้ำหมึกจากร้านฟอยล์ในลอนดอน ข้าพเจ้าคุ้นชินกับน้ำหมึกที่ว่านี้เป็นอย่างดี สาเหตุเพราะการทำงานแปลของข้าพเจ้า ทำให้ต้องรับงานเร่งด่วนทางจดหมายอยู่เสมอ และในหลายครั้งที่หมึกนั้นยังหมาดอยู่เสียด้วยซ้ำ ลูกค้าของข้าพเจ้าส่วนใหญ่เป็นชนชั้นสูง ดังนั้นพวกเขาจะใช้หมึกที่แม้จะโดนน้ำหรือเปียกฝนก็หาได้ลบเลือนไม่ และหมึกที่ว่านี้เป็นหมึกชนิดเดียวที่ไม่ว่าสงครามจะดำเนินไปอย่างไร ทั้งฝ่ายสัมพันธมิตรและฝ่ายอักษะย่อมลงความเห็นว่ามันเป็นหมึกที่ดีที่สุด

     ข้อความในจดหมายนั้นกระชับและมีแต่ใจความสำคัญ

     “ข้าพเจ้าได้ทราบจากมิตรสหายสนิทว่าท่านเป็นผู้ที่มีความสามารถเป็นเลิศในด้านการแปล ข้าพเจ้าจึงขอถือวิสาสะทาบทามท่านเป็นผู้แปลเอกสารสำคัญว่าด้วยความทรงจำของข้าพเจ้าในอาณาจักรสยาม หากท่านประสงค์จะตอบรับคำทาบทามของข้าพเจ้า หรือปรารถนาจะทราบรายละเอียดแห่งกิจการงานอันนี้ ขอให้ท่านมองหารถคาดิลแลคสีดำ ซึ่งข้าพเจ้าจะจัดหาไปรับท่านที่ท่าเรือเซมารัง คนขับนั้นเป็นชาวพื้นถิ่นซุนดาน ซึ่งข้าพเจ้ารับประกันว่าเขาจะเก็บความลับทุกอย่างระหว่างเราได้สนิทราวกับก้อนหินที่ปิดปากถ้ำลึกลับในหุบเขาเลยทีเดียว”

     ด้วยความนับถือ

     บี.พี

 

     ข้าพเจ้าไม่เคยพบกับกรมพระฯ มาก่อน แต่กิตติศัพท์ของท่านนั้นปรากฏเนืองๆ ให้ข้าพเจ้าได้สดับ ดังข้าพเจ้าจะเล่าให้ฟังในภายหลัง

     การเปลี่ยนแปลงของสยามนั้นอยู่ในสายตาของโลกมาตลอด ช่วงเวลาไม่ถึงทศวรรษพวกเขาดูจะยังอยู่ในท่ามกลางความไม่แน่นอน หากเปรียบเทียบกับการเข้ายึดครอง และจัดระเบียบแมนจูเรียของมหามิตรเราอันได้แก่ญี่ปุ่นในปี 1931 แล้ว การเปลี่ยนแปลงของสยามในปี 1932 ยังอยู่ในขั้นทารกหัดเดินก็ว่าได้ กระนั้นบุคคลที่ถูกหยิบยกขึ้นเสมอในแวดวงผู้ใฝ่ใจทางการเมืองในดินแดนแถบนี้จะละเลยนามของกรมพระฯ หาได้ไม่ เขาเป็นผู้ที่ทรงอำนาจที่สุดก่อนการเปลี่ยนแปลงของสยาม และจนบัดนี้แม้ว่าเขาจะใช้ชีวิตที่สมถะและเงียบสงบอยู่ที่บันดุงแล้วก็ตาม รัฐบาลแห่งสยามที่บางกอกก็หาได้เคยไว้ใจเขาไม่ ทารกที่หัดเดินย่อมหวาดกลัวผู้ใหญ่ที่เข้มแข็งแม้ว่าเขาจะใช้ไม้เท้าแทนขาอันทรงพลังแล้วก็ตาม

     เรือนิชิมารุเดินทางมาถึงท่าเรือเซมารังในยามบ่ายของอีกสองวันต่อมา ข้าพเจ้าลงจากเรือเป็นคนสุดท้ายเพื่อให้แน่ใจว่ารถแคดิลแลคสีดำจะยังคอยข้าพเจ้าอยู่ และมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ชายคนขับทำสัญญาณมือแสดงความเคารพข้าพเจ้ามาแต่ไกลก่อนจะสาวเท้ามาที่สะพานเดินเรือ เขากล่าวคำว่า “เซลามัต ดาตัง” แล้วฉวยหีบไม้ที่ใส่เสื้อผ้าทั้งสองใบของข้าพเจ้าตรงไปยังท้ายรถที่เปิดอยู่ ผิวสีของเขานั้นดำขลับราวกับสีที่ได้จากลูกมะเกลือ ในขณะที่ฟันของเขานั้นขาวสะอาดราวกับงาช้าง เขาแนะนำตัวว่าชื่อของเขานั้นคือมามัต หลังการนั้นเขาเปิดประตูรถให้ข้าพเจ้าขึ้นนั่งก่อนจะขับออกไปโดยไม่มีบทสนทนาอื่นอีก

     รถแล่นบนถนนเล็กๆ มาตลอดทาง ทหารญี่ปุ่นตั้งด่านตรวจก่อนถึงเมืองปัตตาเวีย พวกเขามีทีท่าขึงขังแต่เมื่อข้าพเจ้ายื่นหนังสือเดินทางเยอรมันให้ดู พวกเขาก็มีท่าทีเป็นมิตรโดยทันที

     หลังการเข้ายึดครองดินแดนแถบนี้ในเดือนมีนาคม หลายอย่างถูกจัดการอย่างรวดเร็ว ข้าพเจ้าแลเห็นเรือนนอนของทหารและค่ายกักกันพวกดัตช์ตั้งอยู่ตลอดทาง พวกญี่ปุ่นเป็นชนที่ชื่นชอบความสมบูรณ์แบบไม่ต่างจากเรา แต่ขณะเดียวกันก็พร้อมจะผ่อนปรนกับสิ่งที่ไม่จำเป็น ดังข้าพเจ้าได้เห็นพ่อค้าเร่ขายอาหารตามวารงหรือตลาดย่อยๆ ตลอดทางด้วยเช่นกัน วิถีชีวิตประจำวันยังดำเนินไปแบบที่เคย อาจมีการเปลี่ยนแปลงบ้างจากธงชาติดัตช์เป็นธงชาติญี่ปุ่นบนยอดเสา แต่กระนั้นมันก็หาได้กระทบต่อผู้คนในดินแดนนี้เลย

     รถของเราแล่นผ่านต้นก้ามปูตามแนวถนนมาจนถึงโรงแรมแห่งหนึ่งในเมืองปัตตาเวีย ข้าพเจ้าลงจากรถและออกกำลังขาไปมา ในขณะที่ชายคนขับเปิดท้ายรถนำหีบสัมภาระของข้าพเจ้าออกมา ก่อนจะถือมันด้วยแขนอันเต็มไปด้วยกล้ามเนื้อของเขาไปยังชั้นสามอันเป็นชั้นบนสุดของโรงแรม “กรมพระฯ ได้จองห้องชั้นที่ดีที่สุดของโรงแรมนี้ไว้ให้ หวังว่าคุณจะชอบอากาศของปัตตาเวีย” เขาพูด ก่อนจะกล่าวคำว่า “เซลามัต ติงกัล” แล้วเดินจากข้าพเจ้าไป

     จริงตามคำพูดของเขา ข้าพเจ้าชอบอากาศของปัตตาเวียตั้งแต่แรก มันสดชื่นและไม่มีกลิ่นไอเค็มของทะเล ดังที่ข้าพเจ้าได้สูดดมมาตลอดเดือนนับจากออกจากจิตตะกอง ข้าพเจ้าเปิดหีบสัมภาระ เลือกเอาเสื้อผ้าที่เบาสบายออกมาและลงแช่ในอ่างอาบน้ำที่ผนังของมันก่อขึ้นจากหินจากภูเขาไฟสีดำสนิท น้ำประปาในปัตตาเวียนั้นไหลเอื่อยแต่มั่นคง

     ข้าพเจ้าแช่น้ำอุ่นอยู่ในอ่างอาบน้ำราวชั่วโมงก่อนจะขึ้นจากน้ำ เช็ดตัว ชะโลมโคโลญจนทั่วร่างกาย ข้าพเจ้าสวมเสื้อแขนสั้นสีขาวที่ทำจากใยกัญชา อันเป็นเสื้อที่นิยมกันมากในดินแดนเขตร้อนแถบนี้ จนข้าพเจ้าอดสงสัยไม่ได้ว่าแม้ อังเดร มาลโรซ์ เองก็อาจสวมใส่เสื้อแบบนี้ ในขณะที่เขากำลังบัญชาการการลักลอบนำวัตถุโบราณออกจากกัมพูชา ส่วนกางเกงนั้นข้าพเจ้าเลือกลินินขายาวสีกากี หลังแต่งตัวเสร็จสิ้น ข้าพเจ้ากดกริ่งเรียกพนักงานโรงแรมให้นำกาแฟมาให้ที่ห้อง ก่อนจะออกไปที่ตรงระเบียง เก้าอี้หวายและโต๊ะกระเบื้องใหม่เอี่ยมราวกับเพิ่งถูกขนย้ายมาติดตั้งเมื่อวานตั้งเด่นอยู่

     ข้าพเจ้ามองไปเบื้องล่างมีแถวทหารญี่ปุ่นแถวหนึ่งกำลังเดินสวนทางไปกับกลุ่มชายชาวชวาในชุดโสร่งลายตาราง ทหารญี่ปุ่นกลุ่มนั้นคงได้เวลาเข้าเวรตรวจการณ์ในยามค่ำ ในขณะที่ชายชาวชวากลุ่มนั้นคงมุ่งหน้าไปร่วมพิธีทางศาสนาตามความเชื่อของพวกเขา มีรถยนต์แล่นผ่านไปมาบนถนนแต่ไม่มากมายนัก มันเป็นช่วงเวลาก่อนค่ำที่สุขสงบ และแล้วข้าพเจ้าก็เห็นหญิงสาวคนหนึ่ง เธอแต่งกายในชุดที่แปลกประหลาด มันเป็นชุดพื้นเมืองของชาวชวานั้นแน่นอน หากแต่เป็นชุดพื้นเมืองที่ย้อนกลับไปในอดีตนานนับร้อยปี ข้าพเจ้าเคยเห็นชุดพื้นเมืองที่ว่านี้จากหนังสือภาพถ่ายของ ยีน เดมินี่ ผู้ตระเวนอยู่ในเกาะชวาเมื่อต้นศตวรรษ เขาถ่ายภาพหญิงชราจากตระกูลใหญ่ในเกาะชวาคนหนึ่ง เธอขออนุญาตแต่งกายตามแบบโบราณเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่จะสิ้นชีวิตด้วยอาการป่วย ภาพถ่ายภาพนั้นแสดงให้เห็นถึงความวิจิตรบรรจงของเครื่องแต่งกายที่ว่า และมันตราตรึงใจอยู่ในความทรงจำของข้าพเจ้า

     หญิงสาวผู้นั้นเดินตรงไปยังรถแคดิลแลคคันที่นำข้าพเจ้ามาจากท่าเรือเซมารัง คนขับรถของข้าพเจ้าเปิดประตูด้านหลัง ในตำแหน่งที่ข้าพเจ้าเคยนั่งให้เธออย่างอ่อนน้อม ก่อนจะออกรถ และขับมันพ้นลานจอดรถของโรงแรมไป ข้าพเจ้างุนงงกับเหตุการณ์ดังกล่าวอยู่ชั่วครู่ ก่อนที่ผู้รับใช้ประจำโรงแรมจะนำกาแฟมาให้ มันเป็นกาแฟที่ปลูกในสุราเวสีอันมีกลิ่นหอมราวเครื่องหอมชั้นเลิศ ข้าพเจ้าเทนมเพียงเล็กน้อยลงไป คนให้มันเป็นเนื้อเดียวและเอนกายพิงพนักเก้าอี้ ภาพของหญิงสาวผู้นั้นยังวนเวียนอยู่ในความคิดคำนึงของข้าพเจ้าจนพระอาทิตย์ตกดิน และในที่สุดความมืดก็เข้าปกคลุมปัตตาเวีย

 

——————

 

(ติดตามตอนต่อไปในวันเสาร์ที่ 9 กันยายน 2560)

 

ภาพประกอบ: Karin Foxx

FYI

:: อารัมภบท (1)

     นวนิยายเรื่อง วายัง อมฤต นั้นมีแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไทยในปี 2475 เหตุการณ์ครั้งนั้นส่งผลต่อชีวิตของผู้คนจำนวนมาก กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นหนึ่งในฝ่ายเจ้านายที่ได้รับผลกระทบเช่นนั้น ท่านได้เสด็จออกจากประเทศไทยด้วยความไม่มั่นใจในสภาพการณ์ทางการเมืองหลังจากนั้น ในช่วงแรกทรงประทับอยู่ที่ปีนัง มาลายา ก่อนจะเดินทางต่อไปประทับยัง บันดุง ที่เกาะชวา ในเวลาต่อมา

     ผมเดินทางไปบันดุงโดยบังเอิญเมื่อสองปีก่อน จุดประสงค์หลักคือการตระเวนดูภูเขาไฟในเมืองนั้น แต่การได้ทราบว่าพระตำหนักที่กรมพระฯ เคยประทับอยู่ที่บันดุงยังคงสภาพสมบูรณ์แทบไม่เปลี่ยนแปลง ทำให้อดใจที่จะไม่ไปเยี่ยมชมเสียไม่ได้ แม้ว่าพระตำหนักดาหาปาตีบางส่วนจะถูกแปลงเป็นร้านอาหารและโรงเรียนอนุบาลไปแล้ว แต่การได้เดินเข้าไปในพื้นที่แห่งนั้น ร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่ข้องเกี่ยวกับกรมพระฯ ยังคงอยู่อย่างครบถ้วน ภาพถ่ายของครอบครัวที่เคยแขวนในตำหนักยังคงอยู่ที่เดิม กระเบื้องที่ทรงเลือกใช้ในตำหนักยังคงเป็นเช่นเดิม อาจกล่าวได้ว่าพ้นจากผู้ที่เคยพำนักที่นี่เสียแล้ว กาลเวลาหาได้เปลี่ยนแปลงตำหนักดาหาปาตีไปเลย

     หลังกลับจากบันดุง ผมค้นข้อมูลเกี่ยวกับกรมพระฯ ด้วยความสนใจใคร่รู้ ภาพถ่ายเก่า เรื่องราวเก่าเก็บเกี่ยวกับกรมพระฯ ปรากฏขึ้นทีละน้อย แล้วจู่ๆ วันหนึ่งในขณะที่ผมกำลังนั่งอ่านงานแปลวรรณคดีอินโดนีเซียที่มีชื่อว่า อิเหนา จากความวิริยะของกรมพระฯ อันอาจถือได้ว่าเป็นผลงานสร้างสรรค์ชิ้นสุดท้ายของพระองค์ ผมก็เกิดความคิดว่าชีวิตของพระองค์ท่านช่างเป็นชีวิตอันอัศจรรย์หาน้อยไม่เลย จากชีวิตของแม่ทัพผู้ทรงอำนาจสูงสุดแห่งประเทศสยามในขณะนั้น มาสู่ผู้ที่ใช้ชีวิตอันเงียบสงบและเรียบง่ายในบั้นปลายในฐานะนักแปลคนหนึ่ง ชีวิตที่ว่านี้ช่างเป็นโครงเรื่องนวนิยายชั้นยอดอันยากจะหลีกเลี่ยงไปได้ คืนนั้นเอง ผมร่างบทแรกของ วายัง อมฤต ขึ้น นั่งพิจารณามันก่อนจะพบว่าไม่อาจใช้ภาษาแบบเดิมในการเล่าเรื่องนี้ได้ ผมถอยตนเองไปไกล ค้นหาภาษาที่ใช้ในนักเขียนรุ่นก่อน หยิบยืม และคัดลอกภาษาแบบนั้นมาทดลองใช้จนพอใจ ก่อนจะลงมือเขียนบทต่อมาและบทต่อมา

     วายัง อมฤต ถือกำเนิดด้วยที่มาเช่นนี้เอง

     อนุสรณ์ ติปยานนท์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X