วันพรุ่งนี้ (9 กรกฎาคม) ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง นัดฟังคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ คดี อม.อธ.7/2566 ระหว่างอัยการสูงสุด ในฐานะโจทก์ กับ อนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ อดีต สส. จังหวัดมุกดาหาร พรรคเพื่อไทย ในฐานะจำเลย ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ (คดีเรียกรับสินบน 5 ล้านบาทจากอดีตอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล)
สำหรับคดีนี้ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาให้จำคุกอนุรักษ์ 6 ปี โดยไม่รอลงอาญา พร้อมสั่งเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งตลอดไป และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น
ขณะที่รายละเอียดของคดี โจทก์ได้ยื่นฟ้องว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยดำรงตำแหน่ง สส. และเป็น กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และคณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 ใน กมธ.วิสามัญดังกล่าว
เหตุเกิดในวันที่ 4 สิงหาคม 2563 จำเลยได้เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจาก ศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 5 ล้านบาท เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งของจำเลย ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ และเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 และ 173 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และ 157 จำเลยให้การปฏิเสธ
ภายหลังศาลมีคำพิพากษา อนุรักษ์ได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวในชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์
อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับคดีดังกล่าวอีกคดีหนึ่ง โดยอนุรักษ์ได้ยื่นฟ้อง 2 พิธีกรข่าว ได้แก่ อุบลรัตน์ เถาว์น้อย และ สถาพร เกื้อสกุล ผู้ประกาศข่าวรายการ TOP บ่ายสาม ช่อง TOP NEWS เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328
กรณีนำเสนอข่าวคลาดเคลื่อนว่าอนุรักษ์ตบทรัพย์ 5 ล้านบาท ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ในคดีหมายเลขดำ อ.95/2566
ต่อมาเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2567 ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้อ่านคำพิพากษามีรายละเอียดระบุว่า ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันยืนยันข้อเท็จจริงในทางให้ร้ายโจทก์ ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าโจทก์ถูกอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลแอบบันทึกเสียงไว้เกี่ยวกับการเรียกรับเงิน เพื่อให้ผ่านงบประมาณ ทำให้เชื่อว่าโจทก์เป็นคนเรียกรับเงินจากอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล
ทำให้เข้าใจว่าโจทก์โทรศัพท์ไปหาอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เพื่อเรียกรับเงินหรือเรียกรับผลประโยชน์ในการจัดการงบประมาณ และพูดจาข่มขู่ เพื่อเรียกเงินในอัตราร้อยละ 5 จากงบประมาณ 1.2 พันล้านบาท และนัดหมายกับอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเพื่อจะต่อรองเรื่องผลประโยชน์ในการผ่านงบประมาณ โดยมีการบันทึกเสียงของโจทก์ขณะเรียกรับผลประโยชน์ไว้จากคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ คมจ.1/2566 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ร้องต่อศาลฎีกา
การนำเสนอข่าวของจำเลยได้ย้อนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับเรื่องที่ศาลฎีกามีคำพิพากษานั้น แม้มีการรายงานข่าวปรากฏหลายข้อความที่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ตามฟ้องก็ตาม แต่เนื้อหาที่จำเลยทั้งสองนำเสนอข่าวเป็นเรื่องเดียวกัน ดังนั้นการกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดกรรมเดียว
พิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ประกอบมาตรา 83 ฐานร่วมกันหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา จำคุกคนละ 2 ปี และปรับคนละ 1 แสนบาท
แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ มีกำหนด 2 ปี