วันนี้ (9 กรกฎาคม) ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดฟังคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ อม. 4/2565 กรณีอัยการสูงสุดเป็นผู้ฟ้อง อนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ อดีต สส. มุกดาหาร พรรคเพื่อไทย ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ คดีเรียกรับสินบน 5 ล้านบาทจาก ศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อดีตอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เมื่อครั้งอนุรักษ์ดำรงตำแหน่งรองประธานอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 ในกรรมาธิการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ในการพิจารณางบประมาณโครงการขุดเจาะน้ำบาดาลพลังงานแสงอาทิตย์
ก่อนเข้าห้องพิจารณาคดี อนุรักษ์ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนโดยระบุว่า รู้สึกสบายใจ เพราะในคดีนี้ตนทำหน้าที่กรรมาธิการงบประมาณ เป็นฝ่ายค้าน มีหน้าที่ซักถาม ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต แต่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลไม่ส่งแบบแปลนประมาณการให้ ไม่รู้ว่าจะหวงไปทำไม เพราะเราได้ตรวจสอบแล้วว่ามีการทำผิดแบบทั่วประเทศ อีกทั้งสำนวนคดีไม่มีพยานหลักฐาน
อนุรักษ์ย้ำด้วยว่า ศักดิ์ดามีความโกรธเคืองอาฆาตตนเอง แต่คำให้การไม่อยู่กับร่องกับรอย ให้การขัดแย้งกับพยานปากอื่น พยานที่อยู่ในเหตุการณ์ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ไม่สอบปากคำ
“ผมขอให้คดีนี้เป็นคดีแรกและคดีสุดท้ายที่กล่าวหา สส. รับเงินจากหน่วยงานต่างๆ คำกล่าวหาผมว่าเรียกรับเงินเพื่อแลกกับการปรับลดงบประมาณ ผมเป็น 1 ใน 500 เสียง พรรคเพื่อไทยทั้งพรรคก็ไม่สามารถต่อรองเรียกเงินใครได้ เพราะเป็นฝ่ายค้าน สส. ที่ทำงานด้วยความซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมากับการปรับลดงบประมาณให้เป็นประโยชน์กับบ้านเมือง” อนุรักษ์กล่าว
สำหรับคดีดังกล่าว ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า อนุรักษ์กระทำผิดตามฟ้องจริงตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 173 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149
องค์คณะผู้พิพากษามีมติเสียงข้างมากลงโทษจำคุก 6 ปี ให้พ้นจากตำแหน่ง สส. ตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2565 เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตลอดไป ไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ตามที่ศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษาคดีจริยธรรมร้ายแรงก่อนหน้านี้ อนุรักษ์วางหลักทรัพย์ประกันตัว 1 ล้านบาท พร้อมขอยื่นอุทธรณ์
ศาลพิพากษายืน จำคุก 6 ปี ไม่รอลงอาญา
ท้ายที่สุดศาลพิพากษายืน จำคุก 6 ปีอนุรักษ์โดยไม่รอลงอาญา และได้นำตัวอนุรักษ์ไปยังเรือนจำทันที
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์โดยมติเสียงข้างมาก เห็นว่าคำเบิกความของศักดิ์ดา อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ซึ่งเป็นประจักษ์พยานเพียงปากเดียว สามารถเบิกความถึงรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามที่ได้ประสบพบมาเป็นลำดับขั้นตอน ทำให้เห็นพฤติกรรมของจำเลยที่ตั้งข้อสังเกตและซักถามงบประมาณเฉพาะกรมทรัพยากรน้ำบาดาลมาโดยตลอด โดยไม่ได้เป็นลักษณะตรวจสอบการใช้งบประมาณของหน่วยงานรัฐตามปกติ แต่เป็นการสร้างความกดดันและความกังวลแก่ผู้รับการพิจารณาว่าจะถูกตัดหรือลดงบประมาณหรือไม่ เพื่อใช้เป็นข้อต่อรองในการแสวงหาประโยชน์
ส่วนที่จำเลยอ้างว่า ได้โทรศัพท์ติดต่อศักดิ์ดาเพื่อขอแบบแปลนและประมาณราคาเพื่อตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณโดยตรง ทั้งที่ต้องดำเนินการผ่านเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตามข้อบังคับการประชุมและแนวทางปฏิบัติ ไม่สมเหตุสมผล จึงเป็นพิรุธและไม่น่าเชื่อถือ
การที่จำเลยโทรศัพท์เรียกเงินหรือขอผลประโยชน์จากโครงการในการจัดทำงบประมาณของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เป็นการอาศัยโอกาสในตำแหน่งที่ตนมีอำนาจและหน้าที่ที่สามารถเสนอปรับลดงบประมาณได้ จึงเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต อันเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษามานั้น องค์คณะชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์โดยมติเสียงข้างมากเห็นพ้องด้วย พิพากษายืน