×

ผลวิจัยชี้ ชาวออสเตรเลียส่วนใหญ่ไม่พอใจการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศ

โดย THE STANDARD TEAM
05.05.2021
  • LOADING...
ผลวิจัยชี้ ชาวออสเตรเลียส่วนใหญ่ไม่พอใจการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศ

วันนี้ (5 พฤษภาคม) คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) ได้เผยแพร่รายงานล่าสุดจากการสำรวจมุมมองของชาวออสเตรเลียวัยผู้ใหญ่มากกว่า 3,000 คนต่อการระบาดและการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ซึ่งเผยให้เห็นว่า ชาวออสเตรเลียเกือบ 2 ใน 3 คิดว่าผลการดำเนินโครงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในประเทศอยู่ในระดับที่ไม่ดีนัก

 

รายงานระบุว่า มีผู้ตอบแบบสอบถามเพียงร้อยละ 3.7 เท่านั้นที่คิดว่าผลการดำเนินโครงการฉีดวัคซีนอยู่ในระดับ ‘ดีมาก’ ขณะที่ร้อยละ 64 เห็นว่า ‘ไม่ดีนัก’ หรือ ‘ไม่ดีเลย’

 

เมื่อนับถึงเช้าวันนี้ ออสเตรเลียฉีดวัคซีนโรคโควิด-19 ให้ประชาชนรวมแล้วมากกว่า 2.3 ล้านโดส แม้จะมีความกังวลเกี่ยวกับความเร็วในการฉีดวัคซีน แต่ผลการสำรวจของ ANU พบว่าผู้ยินยอมรับการฉีดวัคซีนที่ ‘ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ’ มีจำนวนเพิ่มขึ้น ในเดือนเมษายน ร้อยละ 54.7 ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า พวกเขาจะเข้ารับการฉีดวัคซีนที่ปลอดภัยอย่างแน่นอน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 43.7 ในเดือนมกราคม

 

“ผลการสำรวจเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากออสเตรเลียพยายามที่จะสร้างความเชื่อมั่นเรื่องโครงการฉีดวัคซีนของรัฐในหมู่ประชาชน ในโมงยามที่เกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับความเร็วในการฉีดวัคซีนทั่วประเทศของเรา” นิโคลัส บิดเดิล ผู้ร่วมเขียนรายงานระบุในการแถลงข่าว

 

อย่างไรก็ตาม มีเพียงร้อยละ 44.8 ของผู้ตอบแบบสอบถามที่อยู่ในชุมชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและพูดภาษาอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษในออสเตรเลียเท่านั้นที่บอกว่าพวกเขาจะเข้ารับการฉีดวัคซีนที่ปลอดภัยอย่างแน่นอน

 

บิดเดิลกล่าวว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการกำหนดนโยบายที่มั่นใจได้ว่าจะสื่อสารได้อย่างตรงจุดและสามารถแก้ไขความวิตกกังวลของชุมชนเหล่านี้ได้

 

“เห็นได้ชัดว่าความพึงพอใจต่อโครงการฉีดวัคซีนอยู่ในระดับต่ำ ทั้งยังชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องใช้การแก้ปัญหาเรื่องความไม่เต็มใจในการเข้ารับวัคซีน ในการจัดการกับความสัมพันธ์เช่นนี้ด้วย” บิดเดิลกล่าวทิ้งท้าย

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • สำนักข่าวซินหัว
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X