- ตรวจไม่ได้ เตียงไม่มี คือวิกฤตใหญ่เฉพาะหน้าในวิกฤตโควิดระลอกใหม่ของไทย ซึ่งเริ่มนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 วิกฤตหนักนี้สะท้อนผ่านภาพคนนอนข้ามคืนรอคิวตรวจ และคนป่วยหนักรอเตียงจนบางรายเสียชีวิตที่บ้าน
- กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยจำนวนการตรวจโควิดด้วยวิธี RT-PCR ข้อมูล ณ วันที่ 24 กรกฎาคม พบว่ามีจำนวนการตรวจอยู่ที่ 50,000-75,000 รายต่อวัน และพบผู้ติดเชื้อทะลุหมื่นรายต่อเนื่องมากว่า 10 วัน
- ศ.ดร.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจริงน่าจะมากกว่าตัวเลขที่ ศบค. ประกาศรายวันอย่างน้อย 2-3 เท่า เพราะศักยภาพการตรวจเรายังน้อย และมีคนเข้าไม่ถึงการตรวจด้วยวิธี RT-PCR อีกจำนวนมาก ทางออกแบบที่ประเทศอังกฤษใช้คือการขยายการตรวจด้วย Antigen Test Kit (ATK) และให้ผู้ป่วยสีเขียวที่ไม่มีอาการรักษาตัวที่บ้านหรือชุมชน หรือที่เรียกว่า Home Isolation และ Community Isolation เพราะโรงพยาบาลใน กทม. และปริมณฑล ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยสีเหลือง และสีแดงได้อีกแล้ว
- วันนี้ (27 กรกฎาคม) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ตอนนี้สถิติการระบาดในกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑลเกินกำลังที่ระบบสาธารณสุขหรือเตียงจะรองรับได้ไปอย่างน้อย 3 เท่าแล้ว
“2-3 วันที่ผ่านมาจะเห็นว่า ER ของโรงพยาบาลปิด ปิดเพราะผู้ป่วยล้นออกมา เตียงของผู้ป่วยสีเหลือง-สีแดง ตอนนี้รับข้างนอกไม่ได้เลย เพราะมีคนไข้ที่รออยู่ที่ห้อง ER ที่โรงพยาบาลราชวิถีมีรออยู่ใน ER สิบกว่าเตียง แปลว่าถ้าเตียงข้างบนว่าต้องแอดมิดจากข้างล่างขึ้นไป…โรงพยาบาลทุกแห่งก็น่าจะอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน” นพ.สมศักดิ์กล่าว
- นพ.สมศักดิ์กล่าวด้วยว่า เตียงสีแดง-สีเหลืองติดลบแล้ว หลายแห่งรับได้ 10 แต่ใส่เข้าไป 12 ตอนนี้เรากำลังรอเครื่องผลิตออกซิเจนไว้ทำ Hospitel เพื่อรองรับผู้ป่วยสีเหลืองที่ต้องใช้ออกซิเจน โดยในกรุงเทพฯ มีห้อง Hospitel ประมาณ 2 หมื่นกว่าห้อง ถ้าเราแค่แปลง 10% เราจะมีเตียงสีเหลืองเพิ่มทันที 2 พันกว่าเตียงไว้รองรับประชาชนที่ติดเชื้อและเป็นสีเหลืองเข้ามาได้ แต่ตอนนี้ติดขัดเรื่องเครื่องผลิตออกซิเจนและถังออกซิเจนมากพอสมควร ได้ข่าวว่ามีการลักลอบนำออกไปต่างประเทศโดยเฉพาะทางชายแดนเมียนมา
‘Antigen Test Kit (ATK)’ ตรวจแล้วไปไหนต่อ?
- เมื่อตรวจด้วย ATK พบผลเป็นบวกให้โทรศัพท์ไปลงทะเบียนที่หมายเลข 1330 กด 14 หรือลงทะเบียนผ่าน QR Code www.facebook.com/NHSO.Thailand/photos/a.1267976059935614/4233697093363481/
- Antigen Test Kit สามารถตรวจได้ที่สถานพยาบาล เช่น จุดตรวจเชิงรุก โรงพยาบาล คลินิก หรืออาจหาซื้อมาตรวจเองที่บ้าน อย่างไรก็ตาม การตรวจ ATK หากพบผลเป็นบวก (ติดเชื้อ) มีโอกาสผิดพลาด 3-5% ทำให้ยังเข้าโรงพยาบาลไปนอนรวมกับผู้ติดเชื้อไม่ได้ เพราะหากผลผิดพลาดจะทำให้คนที่ไม่มีเชื้อติดเชื้อเพิ่มทันที ส่วนผู้ที่ผลเป็นลบและสงสัยอาการอยู่ก็ต้องทำซ้ำ 3-5 วันภายหลัง
- นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า การตรวจด้วย ATK เมื่อได้ผลบวกแล้วจะใช้คำว่า เป็นผู้ที่น่าจะติดเชื้อโควิด เมื่อตรวจด้วย ATK หากเป็นบวก สามารถลงทะเบียนและแยกกักที่บ้านได้ทันที โดยต้องอยู่ห้องนอนคนเดียว ใช้ห้องน้ำคนเดียว แยกอยู่แยกกินแยกนอน ต้องแยกหมด ถ้าแยกห้องน้ำไม่ได้ให้ใช้เป็นคนสุดท้าย
- สปสช. จะสนับสนุนอาหารสามมื้อส่งถึงบ้าน มีแพทย์วิดีโอคอลผ่านไลน์วันละ 2 ครั้ง โดยให้งบประมาณมาที่โรงพยาบาลในการส่งอาหารถึงบ้าน และยังมีเครื่องมือดูแล ทั้งเครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด ยาที่จำเป็น และหากเป็นคนไข้ที่มีโรคประจำตัว ทางการแพทย์แนะนำให้เริ่มยาฟาวิพิราเวียร์ให้เร็วที่สุด หากเข้าเกณฑ์สามารถส่งยาไปที่บ้านได้
ถ้าบ้านไม่สะดวกให้กักตัว (Home Isolation) จะทำอย่างไร?
- นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า หากกักตัวที่บ้านไม่ได้ ต้องเข้า Community Isolation หรือแยกกักที่ชุมชน ซึ่งเปิดแล้ว 20 กว่าแห่งโดยกรุงเทพมหานคร หลักการสำคัญเราไม่สามารถนำคนไม่แน่ใจว่าติดเชื้อไปรวมกับคนติดเชื้อได้ แต่จะทำอย่างไรไม่ให้การรักษาล่าช้า สิ่งสำคัญคือต้องสื่อสารว่าท่านเป็นผู้น่าจะติด และต้องเซ็นใบยินยอมรักษา และนำตัวพาไปที่ Community Isolation ศูนย์พักคอย หรือ Hospitel และให้ตรวจมาตรฐานด้วย RT-PCR คู่ขนานกันไป
ทำอย่างไรหากจะเข้าระบบ Home & Community Isolation?
- ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ปัจจุบันมีศูนย์คัดกรองด้วย ATK กระจายอยู่ใน กทม. รวมถึงที่ลานจอดรถชั้น 1 อาคาร A ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ รับตรวจวันละ 2,500 คน หรือท่านอาจซื้อไปตรวจเองที่บ้าน
- เมื่อผลตรวจ ATK เป็นบวกก็จะนำเข้าระบบ Database เลยว่าคนไข้ใกล้กับ Community Isolation หรือ Hospitel ที่ไหนบ้าง เพราะไม่ใช่ทุกคนจะทำ Home Isolation ได้ โดยเฉพาะคนสูงอายุ กลุ่ม 7 โรคเสี่ยง และคนเป็นโรคอ้วน
- สำหรับยอดสะสะสมของผู้เข้าระบบ Home & Community Isolation ตอนนี้อยู่ที่ 3.7 หมื่นราย จับคู่เข้าระบบได้แล้ว 30,511 ราย รอการจับคู่ 3,096 ราย
- ล่าสุดบอร์ด สปสช. มีมติแจกชุดตรวจ ATK ฟรีให้ประชาชน โดยต้นเดือนหน้าแต่จะยังไม่แจกชุดตรวจ ATK ให้ประชาชนโดยตรง โดยจะให้โรงพยาบาลพื้นที่สีแดงเพื่อนัดให้กลุ่มเสี่ยงมารับชุดตรวจไปตรวจเองที่บ้าน
- การทำ Home & Community Isolation สำหรับผู้ป่วยอาการน้อย เป้าหมายคือเพื่อเก็บเตียงในโรงพยาบาลไว้ให้กับคนไข้ที่มีอาการหนักกว่า ควบคู่ไปกับการเพิ่มศักยภาพ Hospitel ให้รองรับผู้ป่วยสีเหลืองได้
- นี่คือทางออกจากวิกฤตระยะสั้นที่ประชาชนนอนป่วยหนักรอความตายอยู่ที่บ้าน และรัฐบาลต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากว่าที่เป็นอยู่ เพราะจะเห็นว่ายังติดขัดปัญหาอยู่มาก ทั้ง Community Isolation ที่ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ แม้กระทั่งระบบรองรับ Home Isolation ก็ยังไม่เห็นภาพชัดเจนมากพอ รวมไปถึงการขยายศักยภาพของ Hospitel ให้รองรับผู้ป่วยสีเหลืองได้ก็มาติดขัดปัญหาขาดออกซิเจนเพราะมีการลักลอบส่งออกตามชายแดน
- รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการในส่วนนี้อย่างจริงจัง ลดระเบียบปฏิบัติ และไม่ปล่อยให้เป็นภาระของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง และกลุ่มจิตอาสาเพียงลำพัง เพราะนี่คือทางออกจากวิกฤตระยะสั้นในช่วงนี้นอกเหนือจากวัคซีนที่ประชาชนยังเฝ้ารออยู่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- วิธีตรวจโควิดเองที่บ้านผ่าน Antigen Test Kit โดยละเอียด
- คลิปวิธีตรวจโควิดที่บ้าน แบบ Antigen Test Kit